"รฟท." ร่อนประกาศแจง ปม คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ที่ดินเขากระโดง
"การรถไฟแห่งประเทศไทย" ร่อนประกาศแจงข้อเท็จจริง ปม คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ที่ดินทับซ้อนเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
6 ม.ค. 2568 การรถไฟแห่งประเทศไทยเผยแพร่ประกาศชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการตีความทางกฎหมายและคำพิพากษาของศาล คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ที่ดินทับซ้อนเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนช่องทางต่างๆ เกี่ยวกับกรมที่ดินได้ออกแถลงการณ์
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 กรณีได้ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของ กรมที่ดิน เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง นั้น
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีความเห็นว่า ข้อมูลตามแถลงการณ์ดังกล่าวคลาดเคลื่อน จากข้อเท็จจริงทั้งในแง่ของการตีความกฎหมาย และผลของคำพิพากษาของศาล เพื่อเป็นการรักษาและ
สงวนไว้ ซึ่งความเป็นเจ้าของสิทธิที่ดินที่เป็นข้อพิพาทของ รฟท. รฟท.ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ประเด็นที่กรมที่ดินอ้างว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้งสามคดีครบถ้วนแล้ว นั้น รฟท. เห็นว่า แม้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 876/2560 ข้อพิพาทแห่งคดีจะเป็นเรื่องที่ รฟท. คัดค้านการออกโฉนดที่ดินจำนวน 40 แปลงของราษฎรจำนวน 34 ราย ซึ่งภายหลังที่ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของ รฟท. กรมที่ดินได้ยกเลิกการออกโฉนด และยกเลิกใบไต่สวนและจำหน่าย ส.ค.1 ออกจากทะเบียนครอบครองที่ดินแล้วก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. มิใช่เฉพาะที่ดินพิพาท 40 แปลงข้างต้นเท่านั้น แต่วินิจฉัยครอบคลุมถึงที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินที่ รฟท. ได้ยื่นต่อศาลด้วย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 5,083 ไร่เศษ เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 11/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 คำวินิจฉัยของศาลก็ได้วินิจฉัยถึงแนวเขตที่ดินของ รฟท. มิใช่เฉพาะเพียงแค่ที่ดินซึ่งเป็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวเท่านั้น แต่วินิจฉัยรวมถึงแนวเขตที่ดินของ รฟท. ตามแผนที่ที่กรมรถไฟแผ่นดินทำขึ้น (เอกสารหมาย จ.7 ในคดีดังกล่าวด้วย)
ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. และผลปรากฏว่ากรมที่ดินได้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของ รฟท. นอกเหนือไปจากที่ดินตามข้อพิพาทแห่งคดีด้วยแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมใช้ยันกรมที่ดินและผู้ถือเอกสารสิทธิในที่ดินทุกแปลงด้วย
เมื่อ รฟท. ได้ขอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินในบริเวณดังกล่าว ย่อมเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เพื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด แต่กรมที่ดินละเลยการปฏิบัติหน้าที่จน รฟท. ต้องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้กรมที่ดินดำเนินการดังกล่าว
ดังนั้น ที่กรมที่ดินอ้างว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่สามารถนำไป
ใช้ยันกับผู้ครอบครองที่ดินแปลงอื่น ๆ ได้นั้น จึงคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกรมที่ดินซึ่งเป็นผู้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน เมื่อคำพิพากษาได้วินิจฉัยชัดเจนเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ย่อมถือว่ามีความปรากฏว่าเป็นการออกเอกสารแสดงสิทธิที่ดินโดยคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะออกทับซ้อนที่ดินของ รฟท. จึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินต้องดำเนินการเพื่อเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวทั้งหมด
เมื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินแล้วก็เป็นหน้าที่ของผู้ครอบครองที่ดิน
ต้องใช้สิทธิพิสูจน์ว่าตนเองมีสิทธิในที่ดินดีกว่า รฟท. อย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566ที่ รฟท. ยื่นฟ้องกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน
ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยยืนยันความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. มิใช่เพียงแค่ที่ดินพิพาทในคดี
ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้ง 3 คดีเท่านั้น โดยคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า
“แม้ในคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองคดีและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนที่ดินแปลงอื่นๆ นอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นข้อพิพาทในคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้ง
ถึง ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงสามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า อีกทั้งที่ดินบริเวณที่ศาลมีคำพิพากษากล่าวอ้างถึงฐานะเป็นที่ดินของรัฐ
ที่สามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะแต่คู่ความในคดีตาม
มาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่”
2. กรณีที่กรมที่ดินอ้างว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ส่วนการพิจารณาข้อเท็จจริงว่า
จะเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่ เป็นดุลพินิจของอธิบดีกรมที่ดิน นั้น
รฟท. ขอชี้แจงว่า แม้การพิจารณาว่าจะเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่จะเป็นดุลพินิจของอธิบดีกรมที่ดินก็ตาม แต่การใช้ดุลพินิจของอธิบดีกรมที่ดินก็ต้องอยู่ในกรอบของข้อเท็จจริง
และข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องและเป็นธรรม
ในเรื่องที่ดินเขากระโดงนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำพิพากษาทั้งของศาลยุติธรรมและศาลปกครองดังกล่าวข้างต้น แล้วว่าที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นที่ดินของ รฟท. และศาลปกครองได้มีข้อสังเกตในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดยให้ รฟท. มีส่วนร่วมในการดำเนินการของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย กรณีเช่นนี้จึงทำให้อธิบดีกรมที่ดินมีหน้าที่ต้องทำการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน กับแนวเขตพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. หรือไม่
หากมีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของ รฟท.โดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อธิบดีกรมที่ดินก็ต้องใช้อำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไข โดยในการดำเนินการเช่นว่านี้ ทางคณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจในการเรียกเอกสารสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง
มาพิจารณา พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ เพื่อให้โอกาสในการคัดค้าน
ดังนั้น การที่อธิบดีกรมที่ดินยุติเรื่องโดยอ้างเหตุว่าเป็นดุลพินิจซึ่งศาลไม่อาจก้าวล่วงได้นั้น
กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ครบถ้วนตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งยังเป็นการโต้แย้งพยานหลักฐานซึ่งศาลได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนแล้วอีกด้วย
นอกจากนี้ กรณีที่ท่านได้มีคำสั่งตาม ม 61 วรรค 2 ให้ยุติเรื่องลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ซึ่งต่อมา รฟท. ได้ยื่นหนังสือโต้แย้งคัดค้าน ฉบับลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 แต่ขณะนี้ รฟท. ยังไม่ได้รับ
แจ้งผลการพิจารณาจากกรมที่ดินและท่าน ดังนั้น รฟท. จึงขอให้ท่านได้เร่งพิจารณาข้อโต้แย้งของ รฟท. และได้โปรดดำเนินการตามกฎหมายให้เป็นไปโดย ครบถ้วน และถูกต้องต่อไปจึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป
โดยประกาศดังกล่าว ลงชื่อ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย