posttoday

ไทยปักหมุดฐานผลิต EV อาเซียน ดันศักยภาพสู่เวทีโลก

11 มกราคม 2568

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเติบโตก้าวกระโดด พร้อมรับมือกระแส EV ทั่วโลก ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีการผลิต และบุคลากร มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

KEY

POINTS

  • ภาพรวมของอุตสาหกรรม EV ถือว่าสดใส โดย Bloomberg คาดการณ์ว่า สัดส่วนยอดขาย EV จะเพิ่มเป็น 45% ของรถยนต์ส่วนบุคคลในปี 2030 และเพิ่มเป็น 73% ในปี 2040 
  • ภายในปี 2028 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศไทยสูงถึง 1 ล้านคัน ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่สูงถึง 23.7%
  • ประเทศไทยกำลังเป็นผู้นำด้านการใช้ EV ในอาเซียน ยอดจดทะเบียนรถ EV ในไทย สูงกว่าประเทศอื่นๆ 5-10 เท่า แม้ว่าตลาดบ้านเราจะเล็กกว่าอินโดนีเซียก็ตาม
     

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรม ทั้งในแง่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความยั่งยืนในการใช้พลังงาน 

กระแส EV นั้นได้เปิดประตูอีกบานให้กับอนาคต ในทางกลับกัน ก็ยังถือเป็นคลื่นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ที่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้เล่นในตลาด รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ราคาที่ลดลงของยานยนต์ไฟฟ้า การขยายฐานของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ของอุตสาหกรรม ทำให้ นิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยังมีปัจจัยแวดล้อมที่น่าจับตา ไม่แพ้เมกะเทรนด์อื่นๆ ที่กำลังถาโถมสู่โลกเลยทีเดียว 

ไทยปักหมุดฐานผลิต EV อาเซียน ดันศักยภาพสู่เวทีโลก

ยานยนต์ไฟฟ้า ปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์โลก 

ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1884 โดยฝีมือของ โทมัส พาร์คเกอร์ (Thomas Parker) วิศวกรชาวอังกฤษ ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

ตามรายงานสถานการณ์ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าปี 2025 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพบว่า ประมาณการยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับจะเพิ่มขึ้นกว่า 20% โดยตลาดใหญ่ยังคงอยู่ที่ จีน รองลงมาคือ ยุโรป อเมริกาเหนือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น 
 

ไทยปักหมุดฐานผลิต EV อาเซียน ดันศักยภาพสู่เวทีโลก

แม้ยอดขายรถ EV ยังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่บางตลาดก็ประสบภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจนจากปัจจัยตลาดที่ไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ผลิตรถ EV หลายรายได้ปรับตัวในการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบัน โดยทยอยปรับลดเป้าหมายระยะสั้นในการผลิต EV เนื่องจากไม่สามารถผลิต EV ในต้นทุนที่ต่ำเท่ากับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (Internal-Combustion Engines: ICE) 

จากแนวโน้มตลาดที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่ายังมีช่องว่างอย่างมากระหว่างผู้ผลิต EV ที่ประสบความสำเร็จเทียบกับผู้ผลิต EV ที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้น ภาพรวมของอุตสาหกรรม EV ถือว่าสดใส โดย Bloomberg คาดการณ์ว่า สัดส่วนยอดขาย EV จะเพิ่มเป็น 45% ของรถยนต์ส่วนบุคคลในปี 2030 และเพิ่มเป็น 73% ในปี 2040 

ก้าวกระโดดของไทย สู่ผู้นำ EV อาเซียน

หากเทียบเคียงแนวโน้มของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และบราซิล ยังถือว่ามียอดขายรถยนต์ส่วนบุคคล EV ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐถือว่าจำเป็นเพื่อกระตุ้นยอดขายในประเทศเหล่านี้ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้มีนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสำหรับ EV ภายในประเทศ

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยถือว่ากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2028 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศไทยสูงถึง 1 ล้านคัน ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่สูงถึง 23.7%

ข้อมูลจากงาน Electric Vehicle Asia 2024 สรุปภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีพัฒนาการดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่จดทะเบียนใหม่ในช่วง ม.ค. - ก.ย. 2023 เฉลี่ยเดือนละ 7,399 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2022 เกือบ 3 เท่าตัว และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทุกปี
ไทยปักหมุดฐานผลิต EV อาเซียน ดันศักยภาพสู่เวทีโลก

แม้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยจะยังไม่มีการผลิต EV ภายในประเทศ แต่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ EV ในช่วง 5 - 10 ปีข้างหน้า จะเป็นผลดีต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม ที่จะมีอย่างน้อย 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบขนส่ง สถาบันการเงิน ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งผู้ผลิตแบตเตอรี่และอุปกรณ์

ด้วยนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลไทย รวมถึงการลดหย่อนภาษี เงินอุดหนุน และสิ่งจูงใจอื่นๆ ได้ดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์จำนวนมากให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย 

มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีไฮบริดชั้นนำระดับโลก การลงทุนในภาคธุรกิจ EV ของประเทศไทยประกอบด้วย

ไทยปักหมุดฐานผลิต EV อาเซียน ดันศักยภาพสู่เวทีโลก
 
การลงทุนครั้งใหญ่ของ BYD เมื่อกลางปี 2024 BYD ได้เปิดโรงงานใน จ.ระยอง ซึ่งอยู่ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย โดยมีมูลค่าลงทุนราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ โรงงานแห่งนี้จะมีบทบาทสำคัญในการขยายกิจการไปยังต่างประเทศของ BYD โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน

นอกเหนือจาก BYD แล้ว ยังมีการปรากฏตัวของผู้ผลิตรถยนต์จีนรายใหญ่รายอื่นๆ เช่น MG, GWM, GAC AION, NETA, NEX, CHERRY, CHANGAN ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย

ขณะที่ Isuzu ประกาศแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV รุ่นแรก ซึ่งเป็นรถกระบะรุ่น D-Max ในประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญของ Isuzu ที่ครองส่วนแบ่งตลาดรถกระบะของไทยถึง 50%

ไทยปักหมุดฐานผลิต EV อาเซียน ดันศักยภาพสู่เวทีโลก

ด้าน โตโยต้า และฮอนด้า ก็กำลังสำรวจการผลิตรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านพลังงานสะอาด ส่วน Hyundai ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ได้รับการอนุมัติให้ลงทุน 1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศ โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2026

ฟากค่ายยุโรปอย่าง Mercedes-Benz และ BMW ก็เริ่มประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2022 และ BMW มีกำหนดเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศรุ่นแรกในปี 2025

การดึงดูดผู้เล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่ได้อย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของประเทศไทยสำหรับการก้าวเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ภาครัฐถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตร ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายจะเป็น Hub ของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยทาง อว. ได้มีนโยบาย “อว. For EV” ใน 3 เสาหลัก ได้แก่  
EV-HRD หรือ การผลิตกำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 
EV-Transformation หรือการเปลี่ยนรถ ICE เป็นรถ EV ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของ อว. 
EV-Innovation เพื่อยกระดับผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านความร่วมมือจากทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ และ ภาคเอกชน 

นอกจากนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้กำหนดให้ EV เป็นหนึ่งในสาขาของโครงการนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจเพื่อรับทุนสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory Innovation Business Platform) ที่สนับสนุนผ่าน “เงินทุนให้เปล่า” วงเงินสูงสุดไม่เกินโครงการละ 5 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการทดสอบตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การทดสอบมาตรฐานและการขยายผลนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ด้วย 

ไทยปักหมุดฐานผลิต EV อาเซียน ดันศักยภาพสู่เวทีโลก

โอกาส และความท้าทายของยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย 

แม้จะมีการผลักดันทั้งในเชิงนโยบาย และด้านการตลาดเพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตไปทั้งระบบ แต่อุตสาหกรรม EV ของไทยก็ยังเต็มไปด้วยโอกาส และความท้าทาย  

บริษัท อีเอ็ม มอเตอร์ จำกัด หรือ EM Motor ผู้ผลิต และจำหน่ายรถจักรยานไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่ Made in Thailand เจ้าแรกของเมืองไทย ซึ่งครองอันดับ 3 ของตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ล่าสุด มีการเปิดตัว EM Qarez จักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่ม Gen Z โดยตั้งเป้ายอดขาย 2,000 คันในปีแรก พร้อมประกาศลงทุนเพิ่ม 150 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี

หากถามถึงโอกาสและความท้าทายในตลาด EV ไทยในมุมมองของ ธานัท ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ EM Motor สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเรื่องของ “ไฟแนนซ์” โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ ที่แม้นโยบาย EV 3.0 หรือ 3.5 ของภาครัฐ ช่วยผลักดันให้มีรถ EV ทั้ง 4 ล้อและ 2 ล้อเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น แต่ปัญหาคือยอดขายยังคงติดขัดเรื่องไฟแนนซ์ 

ปัจจุบัน การใช้ EV ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการลดราคาตามโครงการ EV 3.0 และ 3.5 แต่สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนคือ การใช้ EV ในภาครัฐเองโดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างรถ EV เข้ามาใช้ในหน่วยงานภาครัฐโดยตรง

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการ EM Motor ยืนยันว่า ประเทศไทยกำลังเป็นผู้นำด้านการใช้ EV ในอาเซียน ยอดจดทะเบียนรถ EV ในไทย สูงกว่าประเทศอื่นๆ 5-10 เท่า แม้ว่าตลาดบ้านเราจะเล็กกว่าอินโดนีเซียก็ตาม

ร่วมมือทุกภาคส่วน ผลักดันไทยสู่ อุตสาหกรรม EV โลก

การหลั่งไหลกันเข้ามาลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำและการมุ่งเน้นในการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมทำให้ประเทศไทยถูกจับตามองในฐานะศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับอาเซียน 

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่นโยบายภาครัฐที่ชัดเจน มาตรการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชน ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากสถาบันการศึกษาออกมารองรับความต้องการของอุตสาหกรรม ทั้งหมด ล้วนเป็นทั้ง โอกาส และความท้าทาย สำหรับก้าวต่อไปของนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าไทย

ที่นอกจากจะช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมแล้ว ยังช่วยตอกย้ำสถานะผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ที่ยั่งยืนอีกด้วย