posttoday

กทม.ชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมโครงการ "บ้านนี้ไม่เทรวม" ลดค่าธรรมเนียมขยะ

15 มกราคม 2568

กทม. เปิดลงทะเบียนโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม” ผ่านแอปฯ BKK Waste Pay วันนี้! ช่วยลดค่าขยะเพียง 20 บาท/เดือน พร้อมมั่นใจแยกขยะ กทม. ไม่เก็บรวม เริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน!

เริ่มเลยวันนี้ กทม. ชวนโหลดแอปฯ BKK Waste Pay ลงทะเบียนร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม” คงอัตราค่าขยะ 20 บาท/เดือน ย้ำความมั่นใจประชาชนแยกแล้ว กทม. ไม่เก็บรวม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะ แถลงเปิดลงทะเบียนโครงการ "บ้านนี้ไม่เทรวม: ลดขยะลดค่าธรรมเนียม" ผ่านแอป BKK Waste Pay เริ่ม 14 ม.ค. 2568 

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อบัญญัติ กทม. ฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2568 โดยแบ่งอัตราค่าธรรมเนียมเป็น 3 กลุ่ม:

- บ้านพักอาศัยทั่วไป (ขยะไม่เกิน 20 ลิตร/วัน): หากไม่คัดแยกขยะเสีย 60 บาท/เดือน แต่ถ้าคัดแยกจะเสียเพียง 20 บาท/เดือน
- กลุ่มขยะ 20 ลิตร - 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน: จ่าย 120 บาทต่อ 20 ลิตร
- กลุ่มขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน: จ่าย 8,000 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

นายชัชชาติกล่าวว่า กทม.มีขยะที่ต้องจัดการ 9,000-10,000 ตันต่อวัน มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ 4,000 ตันต่อวัน ข้อบัญญัติใหม่นี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมคัดแยกขยะมากขึ้น และสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม

กทม.ชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมโครงการ \"บ้านนี้ไม่เทรวม\" ลดค่าธรรมเนียมขยะ

แนะประชาชนแยกขยะ ลดค่าธรรมเนียมต้องทำอะไรบ้าง 

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมระบบรองรับการรับชำระค่าธรรมเนียมหลังจากที่ประชาชนคัดแยกขยะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตรวจสอบและชำระค่าธรรมเนียมมูลฝอย รวมถึงเข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม: ลดขยะลดค่าธรรมเนียม” การลงทะเบียนจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบตามประเภทของแหล่งกำเนิด คือ  

1. การลงทะเบียนแบบเดี่ยว สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม ผู้ที่ลงทะเบียนในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย หมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม/แฟลต ที่ไม่มีนิติบุคคล โดยเจ้าของบ้านหรือผู้เช่าที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนด้วยตนเองทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ BKK Waste Pay กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือลงทะเบียนที่สำนักงานเขตที่บ้านเรือนตั้งอยู่ เริ่มลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 และระบบจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้ สิ่งที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน ประกอบด้วย รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ชื่อ-สุกล เบอร์โทรศัพท์ และภาพถ่ายการคัดแยกขยะ (ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ขยะทั่วไป) บ้านเรือนที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงใส่ขยะเศษอาหารสำหรับ 1 ปีแรก ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะทุก ๆ 3 เดือน สามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานได้แล้ววันนี้ทั้งในระบบ IOS  และระบบ Android 

กทม.ชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมโครงการ \"บ้านนี้ไม่เทรวม\" ลดค่าธรรมเนียมขยะ

2. การลงทะเบียนแบบกลุ่ม สำหรับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือต่อห้อง กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้ โดยสำนักงานเขตพื้นที่จะเชิญนิติบุคคลมาประชุมเพื่อแจ้งรายละเอียดและแนวทางการจัดที่พักรวมมูลฝอยที่คัดแยก 4 ประเภท รวมถึงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียน หลักฐานที่ต้องแนบ เช่น รายงานการประชุมลูกบ้านที่มีมติ รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก และหลักฐานการใช้ประโยชน์ขยะ 

ขยะแยกแล้วไปไหน มั่นใจประชาชนแยกแล้ว กทม. ไม่เก็บรวม

กรุงเทพมหานคร ได้จัดระบบรองรับขยะที่ประชาชนคัดแยก ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ให้เทน้ำทิ้งกรองเฉพาะเศษอาหาร นำไปใช้ประโยชน์ ทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก หรือเป็นอาหารสัตว์ หรือใส่ถุงสีเขียวมัดปากถุงให้แน่นทิ้งในถังสีเขียวหรือจุดทิ้งที่เขตกำหนด เพื่อรอสำนักงานเขตเข้าไปจัดเก็บตามรอบเวลา 

ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ขวดน้ำ ขวดแก้ว ฯลฯ สามารถนำไปขายหรือแยกทิ้งให้กับสำนักงานเขต โดยฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทางซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะรีไซเคิล หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์ จัดตลาดนัดรีไซเคิลในชุมชน นอกจากนี้ ได้ประสานกับแอปพลิเคชันรับซื้อหรือรับบริจาคขยะ มารับขยะถึงหน้าบ้าน หรือสามารถขายให้กับร้านหรือรถรับซื้อของเก่า 

กทม.ชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมโครงการ \"บ้านนี้ไม่เทรวม\" ลดค่าธรรมเนียมขยะ

ขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ กระป๋องแก๊ส/กระป๋องสเปรย์ และยาหมดอายุ เป็นต้น รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน หรือเขียนข้อความติดที่ป้าย นำไปทิ้งในจุดทิ้งขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ในชุมชน หมู่บ้าน สำนักงานเขต หรือฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทางซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะอันตราย หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์ 

ขยะทั่วไป เช่น ซองขนม เศษผ้า แก้วกาแฟ ถุงแกง กล่องโฟม ถุงพลาสติก ฯลฯ ให้รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็น มัดปากถุง ทิ้งลงถังขยะทั่วไปสีน้ำเงิน ในชุมชน/หมู่บ้าน รอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด

สำหรับการแถลงข่าวในวันนี้ มีการเสวนาใน 2 หัวข้อ ประกอบด้วย “เตรียมความพร้อมสู่ข้อบัญญัติใหม่: จัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เพื่อกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน” และ “เทคนิคและวิธีลดปริมาณขยะเพื่อลดค่าธรรมเนียม” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้แทนจากสำนักสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีบูทนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร รวมถึงเครือข่ายรีไซเคิล อาทิ มือวิเศษกรุงเทพ, มูลนิธิมือวิเศษ, โครงการวน, Ecolife, GC by YOU เทิร์น, RECYCLEDAY, WASTE BUY DELIVERY, WAKE UP WASTE, YOLO, Khaya ฯลฯ และการใช้ประโยชน์จากเศษอาหาร เช่น ถังหมักรักษ์โลก ของสำนักสิ่งแวดล้อม สถานีจัดการขยะเบ็ดเสร็จในพื้นที่เครือข่ายเรารักอโศก การกำจัดแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษอาหาร จาก บจก.เบสท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เครื่องกำจัดเศษอาหารจาก KEEN การกำจัดเศษอาหารด้วยหนอนแมลงทหารดำ จาก บจก.เจเนซิส เอกซ์ นวัตกรรมหมักปุ๋ยใบไม้ จาก บจก.ชายน์ เวิร์คส์ กระถางหมักเศษอาหาร ผัก DONE เครื่องกำจัดเศษอาหาร RAAKDIN เครื่องกำจัดขยะเศษอาหาร จาก OAKLIN, HASS และ TP BIO FAST1