ขานรับ WFH 20-21 มค. เลื่อนงานวิ่งล้อมเมือง หวังลด PM2.5 และอันตรายต่อสุขภาพ
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ล่าสุด หน่วยงานสังกัด กทม. ขานรับมาตรการ WFH 20-21 ม.ค. 68 ประชุมออนไลน์-เลื่อนงานวิ่งล้อมเมือง หวังลด PM2.5 และอันตรายต่อสุขภาพผู้ร่วมงาน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม เขตดินแดง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันจันทร์และอังคารที่ 20 - 21 มกราคม 2568 กทม. มีการประกาศ WORK FROM HOME (WFH) เพราะคาดการณ์ว่าวันที่ 20 - 21 ม.ค. นี้ ค่าฝุ่นจะอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ กินพื้นที่กว้างหลายเขต จึงตัดไฟแต่ต้นลม ซึ่ง กทม. ได้พิจารณาตามเกณฑ์ WFH ที่ปรับใหม่เพื่อให้ประกาศได้เร็วขึ้น คือ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 20 - 21 ม.ค. 68 พบว่า 1. มีเขตที่ค่าฝุ่นเข้าเกณฑ์สีส้ม 35 เขตขึ้นไป 2. อัตราการระบายอากาศไม่ดี คือ อยู่ระหว่าง 875 - 2,250 ตารางเมตรต่อวินาที (m2/s) 3. จุดเผา 5 วันที่ผ่านมา (11 - 15 ม.ค. 68) เกินวันละ 80 จุด
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า การประกาศ WFH ของ กทม. เป็นการขอความร่วมมือประชาชนที่สะดวกทำงานที่บ้าน ไม่ได้เป็นการบังคับหรือใช้กฎหมาย เนื่องจากการ WFH ส่วนหนึ่งจะช่วยให้การจราจรเบาบางลงเพราะต้นตอฝุ่นในกรุงเทพฯ มาจากรถยนต์ อีกประเด็นคือ คนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ก็จะได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ
สำหรับการปิดโรงเรียนนั้น กทม. มีอำนาจแค่โรงเรียนในสังกัด ซึ่งจากที่ได้คุยกับผู้ปกครอง หลายคนไม่อยากให้ปิดเพราะเด็กอยู่บ้านไม่มีคนดูแลจะยิ่งอันตราย แต่อยู่ที่โรงเรียนยังมีครูดูแล มีห้องปลอดฝุ่น และอีกเหตุผลคือ นักเรียนส่วนใหญ่อยู่ใกล้โรงเรียน การเดินทางไม่ได้สร้างปัญหาเรื่องการจราจรมากนัก การประกาศปิดโรงเรียนสังกัด กทม. จึงให้เป็นดุลยพินิจของผู้บริหารโรงเรียนตามสถานการณ์ฝุ่นและมาตรการที่ กทม. กำหนด แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการประกาศปิดโรงเรียน
“เราไม่ต้องการให้ค่าฝุ่นถึงสีแดงแล้วประกาศ WFH เพราะยิ่งประกาศช้าฝุ่นก็ยิ่งระบายช้าและสะสม ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น ซึ่ง กทม. เองประกาศว่าเป็นการขอความร่วมมือ ดังนั้น วันที่ 20 – 21 มกราคม นี้ หากใคร WFH ได้ก็เป็นเรื่องดีและถือเป็นการทดสอบระบบไปด้วยว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดีขึ้นแค่ไหน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้มีการปรับรูปแบบการทำงานตลอดจนการจัดกิจกรรมตามสถานการณ์ความรุนแรงของฝุ่นละออง PM2.5 เช่นกัน โดยในวันที่ 19 ม.ค. 68 ได้ประกาศเลื่อนการจัดงานวิ่งล้อมเมืองออกไปจนกว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะคลี่คลาย และการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครในวันจันทร์ที่ 21 ม.ค. 68 ได้ปรับรูปแบบเป็นการประชุมแบบ Hybrid คือ ทั้ง Onsite และ Online เพื่อลดการเดินทางของผู้เข้าร่วมประชุมในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติราชการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) กำหนดไว้ เช่น การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้ง โดยการเหลื่อมเวลาทำงาน, การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้ง โดยการนับชั่วโมงทำงาน, การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ใช้กับงานวิชาการที่ไม่ต้องติดต่อกับผู้รับบริการหรือบุคคลภายนอกมากนัก และสามารถส่งงานผ่านระบบออนไลน์ได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมกับ กทม. เป็นภาคีเครือข่าย WFH ประมาณเกือบ 100,000 คน จึงขอเชิญชวนหากใครประสงค์จะร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนกับ กทม. ได้ผ่านลิงก์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2203 2951ล
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 18 มกราคม 2568 เวลา 15:00 น.
ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 45 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
5 อันดับ ของค่าฝุ่นPM2.5 เขตสูงสุดในกรุงเทพมหานคร
1 เขตหนองแขม 60.6 มคก./ลบ.ม.
2 เขตภาษีเจริญ 55.8 มคก./ลบ.ม.
3 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 53.2 มคก./ลบ.ม.
4 เขตหนองจอก 53.2 มคก./ลบ.ม.
5 เขตหลักสี่ 53.1 มคก./ลบ.ม.
กรุงเทพเหนือ
40.5 - 53.1 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงเทพตะวันออก
38.8 - 53.15 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงเทพกลาง
38.3 - 53.2 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงเทพใต้
36.2 - 49.6 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงธนเหนือ
42.4 - 52 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงธนใต้
43.8 - 60.6 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ภาพรวม : คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ข้อแนะนำสุขภาพ:
คุณภาพอากาศระดับสีส้ม: เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ประชาชนทั่วไป : ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร
จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก
ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา
ประชาชนกลุ่มเสี่ยง : ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร
เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์