posttoday

Direct PPA จากพลังงานสะอาดสำหรับธุรกิจ Data Center และการสนับสนุนของไทย

21 มกราคม 2568

การใช้พลังงานสะอาดผ่านสัญญาซื้อขายพลังงานโดยตรง - Direct Power Purchase Agreement หรือ Direct PPA แนวทางที่ได้รับความนิยมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนและลดต้นทุนในระยะยาว ในยุคที่ธุรกิจดิจิทัลเติบโตชนิดก้าวกระโดดและการใช้พลังงานของ Data Center เพิ่มขึ้นมหาศาล!

KEY

POINTS

  • มาตรการ Direct PPA จากพลังงานสะอาดสำหรับธุรกิจ Data Center เป็นโอกาสสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนและสนับสนุนความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศไทย
  • การลงทุนขนาดใหญ่ด้าน Data center มีเงินลงทุนต่อโครงการไว้ที่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป 
  • บริษัท Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดผ่านกลไก Direct PPA ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายการลงทุนในประเทศไทย หรือที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 8 บริษัทโดยพื้นที่การดำเนินการส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต EEC 

Direct PPA คืออะไร?

มาตรการการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง หรือ Direct PPA เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตพลังงานสะอาด (เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือชีวมวล) กับผู้ใช้พลังงานโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลาง

 

การจัดการพลังงานในรูปแบบนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถรับพลังงานในราคาคงที่ ลดความผันผวนของราคาพลังงานจากตลาด และช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว สำหรับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Data Center ซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานขนาดใหญ่ Direct PPA ช่วยให้สามารถวางแผนการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งสะอาดได้โดยตรง พร้อมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในระยะยาว และสอดคล้องกับพันธกิจในด้านการใช้พลังงานสะอาด 100% ของธุรกิจเหล่านั้น

 

ตัวอย่างกรณีศึกษาในต่างประเทศ

- Microsoft (สหรัฐอเมริกา)

บริษัท Microsoft ได้มีการลงนามใน Direct PPA กับโครงการพลังงานลมขนาด 500 MW ในรัฐเท็กซัส โดยพลังงานที่ได้รับสนับสนุน Data Center ของบริษัท จะช่วยให้ Microsoft สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 100% และยังมีส่วนร่วมในโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในพื้นที่

 

- Google (ยุโรป)

บริษัท Google ลงนามใน Direct PPA กับผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และลมในประเทศเดนมาร์กและฟินแลนด์ เพื่อสนับสนุน Data Center ในยุโรป นอกจากนั้นทาง Google ยังตั้งเป้าหมายใช้พลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2030 ซึ่งการจัดการผ่านทางโครงการ Direct PPA จะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาต้นทุนพลังงานที่ยั่งยืนได้

 

- Alibaba Cloud (จีน)

ในปี 2023 บริษัท Alibaba Cloud ได้ทำสัญญา Direct PPA กับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในมณฑลเหอหนานประเทศจีน เพื่อรองรับการดำเนินงานของ Data Center และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 290,000 ตันต่อปี

 

สถานการณ์ในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access, TPA) (โครงการนำร่องฯ) โดยมีกรอบเป้าหมายไม่เกิน 2,000 MW โดยอนุญาตให้เฉพาะบริษัท Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ

 

โดยมีการมอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ร่วมกันจัดทำรายละเอียด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การดำเนินการโครงการนำร่อง การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป และมีการมอบหมายให้ กกพ. จัดทำอัตราค่าบริการ TPA ที่ครอบคลุมค่าบริการต่าง ๆ ที่ เหมาะสมและเป็นธรรม ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ และสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการ UGT (Utility Green Tariff) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ

 

สำหรับรายละเอียดหลักการนโยบายของโครงการนำร่องฯมีดังนี้(อ้างอิงจากรายงาน กพช. เมื่อวันที่ 25 พ.ย.67)

1.) กลุ่มเป้าหมายของโครงการนำร่องฯ จะต้องเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในด้าน Data Center ที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ และเป็นการลงทุนใหม่

2.) เป็นการดำเนินการในรูปแบบของการขายพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรงผ่านการขอใช้บริการ TPA และไม่มีการขายพลังงานไฟฟ้ากลับมาให้ภาครัฐ

3.) มีกรอบเป้าหมายไม่เกิน 2,000 MW ซึ่งได้ถูกบรรจุลงในร่าง PDP2024 (Power Development Plan 2024) และหากการดำเนินการไม่ครบตามเป้าหมาย 2,000 MW ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปรวมในร่างแผน PDP2024 ที่จะกำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบของประเทศในรูปแบบปกติต่อไป

4.) การจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ TPA Code และอัตราค่าบริการ TPA จะต้องมีการพิจารณาให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ รวมถึงจะต้องสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการ UGT ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการด้วย

 

ส่วนรายละเอียดโครงการลงทุน Data center (ตามรายงาน กพช. วันที่ 25 พ.ย.67) ได้ระบุไว้ว่า การลงทุนขนาดใหญ่ด้าน Data center มีเงินลงทุนต่อโครงการไว้ที่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และจากข้อมูลการหารือของ BOI กับนักลงทุน Data Center สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ในปัจจุบันพบว่า บริษัท Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดผ่านกลไก Direct PPA ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายการลงทุนในประเทศไทย หรือที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 8 บริษัทโดยพื้นที่การดำเนินการส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต EEC และมีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 1,700 MW และเบื้องต้นในปี 2569 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดประมาณ 400 MW ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายโครงการนำร่องฯ (กรอบเป้าหมายไม่เกิน 2,000 MW) ทางภาครัฐคาดการณ์ว่าจะมีนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจ Data Center ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการหารือระหว่าง กกพ. และ BOI ในด้านการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและการพิจารณาอัตรา TPA สำหรับการดำเนินการโครงการนำร่องต่อไป

 

สรุป

มาตรการ Direct PPA จากพลังงานสะอาดสำหรับธุรกิจ Data Center นับเป็นโอกาสสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนและสนับสนุนความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศไทย ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายและโครงสร้างตลาดซื้อขายไฟฟ้า แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาแนวทางนี้ให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก หากไทยสามารถปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายเพื่อส่งเสริม Direct PPA จะช่วยให้ Data Center และภาคธุรกิจอื่น ๆ เข้าถึงพลังงานสะอาดได้สะดวกขึ้น เพื่อสอดรับกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050

 


ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร