posttoday

คมนาคมสั่งด่วน! ขึ้นฟรี BTS-MRT-รถเมล์ 7 วัน ลดใช้รถยนต์ในกทม. แก้ฝุ่น PM 2.5

24 มกราคม 2568

มาตรการเด็ดขาด! คมนาคมสั่งด่วน ประชาชนขึ้นฟรี BTS-MRT-รถเมล์ ตลอด 7 วันรวด ลดการใช้รถยนต์ในกรุงเทพ แก้ฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ 25 ม.ค. 68 - 31 ม.ค. 68

KEY

POINTS

  • คมนาคมสั่งด่วน! ขนส่งสาธารณะฟรี 7 วัน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ตั้งแต่วันที่ 25 - 31 มกราคม 2568
  • คุมเข้มตรวจจับควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก 8 จุดทั่วกรุงเทพฯ คุม PM 2.5
  • คุมเข้มแหล่งกำเนิดฝุ่นจากการก่อสร้าง ให้เกิดฝุ่นละอองน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ช่วงเช้าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีข้อสั่งการเร่งด่วนถึงกระทรวงคมนาคมและส่วนราชการอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รายงานมาตรการเร่งด่วน เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ดังนี้

คมนาคมสั่งด่วน! ขึ้นฟรี BTS-MRT-รถเมล์ 7 วัน ลดใช้รถยนต์ในกทม. แก้ฝุ่น PM 2.5

1. รถไฟฟ้าฟรี 7 วัน

เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้องค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในสังกัดของกระทรวงคมนาคมให้บริการฟรี ทุกเส้นทางตั้งแต่วันพรุ่งนี้ 25 มกราคม ไปจนถึง 31 มกราคม 2568 

สำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอส กระทรวงคมนาคมได้เจรจากับผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการรถไฟฟ้าฟรี โดยรัฐบาลจะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปตามค่าเฉลี่ย 7 วัน รวมประมาณ 140 ล้านบาท จากงบกลาง

2. รถเมล์ฟรี 7 วัน

เพื่อส่งเสริมการใช้รถสาธารณะ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะให้บริการรถเมล์ฟรีทุกสาย เป็นระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม ถึง 31 มกราคม 2568 เช่นกัน

คมนาคมสั่งด่วน! ขึ้นฟรี BTS-MRT-รถเมล์ 7 วัน ลดใช้รถยนต์ในกทม. แก้ฝุ่น PM 2.5

3. คุมเข้ม ตรวจจับควันดำ

กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะลงพื้นที่ตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 จุด ประกอบด้วย

  • บริเวณหน้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต
  • ท่าเรือคลองเตย
  • หน้าสวนจตุจักร ถ.พหลโยธิน
  • ถ.บางนา-ตราด กม.1
  • ถ.สุวินทวงศ์ หน้าการประปามีนบุรี
  • ถ.พระรามสอง ขาออก หน้าแขวงการทางบางขุนเทียน
  • ถ.รังสิต-นครนายก กม.4 หน้าโลตัส
  • ถ.บรมราชชนนี ขาเข้า - ออก

โดยหลังจากนี้ จะให้เจ้าพนักงานกระจายตามจุดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมมลภาวะทางรถยนต์ให้ได้มากที่สุด

4. ควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง

กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และหน่วยงานที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ จะเข้าบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้างทันที โดยให้ผู้รับเหมาดำเนินการ ดังนี้

  • ฉีดพรมน้ำ
  • ทำความสะอาดล้อรถที่เข้า-ออกพื้นที่ก่อสร้าง
  • กวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง
  • ปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย
  • จัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาเด็ดขาด

แผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะในระยะยาว

กระทรวงคมนาคมจะพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะหลักให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงพัฒนาเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะรอง (Feeder) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน