posttoday

ส่องเกาหลี ญี่ปุ่น จีนแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สำเร็จได้อย่างไร?

24 มกราคม 2568

ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ได้สร้างปัญหาหนักให้ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศอื่นในเอเชียด้วย กรณีศึกษาจากจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทำอย่างไร ต้องจริงจังระดับไหนจึงจะแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ!

เกาหลีใต้ - Clear Seoul 

เกาหลีใช้เวลา 20 ปีทำสงครามสู้กับฝุ่นพิษ PM2.5 มาอย่างยาวนานและจริงจัง จนประสบความสำเร็จ 

 

สงครามฝุ่นที่เคยคุกคามสุขภาพชาวกรุงโซล ทำให้รัฐบาลเกาหลีเริ่มต้นนโยบาย Clear Seoul ในปี 2007 ส่งผลให้ยกเลิกการใช้รถ City Bus แบบดีเซลได้สำเร็จ และมีโครงการส่งเสริมการปล่อยมลพิษต่ำของรถดีเซลเก่าในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีโครงการ Green Car Smart Seoul ที่เป็นรากฐานให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลาย

 

กรุงโซล เกาหลีใต้

 

“Clearer Seoul 2030” ประกาศใช้เมื่อกันยายน 2022 ต่อยอดจาก “Clear Seoul 2007” การขับเคลื่อนสำคัญคือ

 

1.เปลี่ยนรถยนต์ดีเซลให้เป็นรถปล่อยมลพิษต่ำ  

 

28% ของสาเหตุการเกิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงโซลเกิดจากรถยนต์ดีเซล

โดยเฉพาะรถที่วิ่งระยะไกลและต้องวิ่งเข้าออกซอกซอยในเขตบ้านเรือนหรือเขตที่พักอาศัยเช่น รถขนส่งพัสดุ รถบัสระยะใกล้หรือ Town Bus หรือรถทำความสะอาด มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนให้เป็นรถปล่อยมลพิษต่ำอย่างเร่งด่วนที่สุดเพื่อสุขภาพของประชาชน จึงวางแผนที่จะเปลี่ยนรถขนส่งพัสดุและมอเตอร์ไซค์ขนส่งอาหารที่อยู่ในชีวิตประจำวันให้เป็นยานพาหนะไฟฟ้าทั้งหมด เนื่องจากกรุงโซลเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมการส่งวัสดุและฟู้ดเดลิเวอรี่อย่างกว้างขวาง ยานพาหนะในกลุ่มนี้จึงปล่อยมลพิษสูงเป็นพิเศษ

 

2.ขยายเขตห้ามขับขี่รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเพื่อลดมลพิษทางอากาศให้ได้อย่างก้าวกระโดด

 

จากการบังคับใช้การห้ามขับขี่เพื่อจัดการฝุ่นตามฤดูกาล (โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนในฤดูหนาวพฤศจิกายน- กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูที่ฝุ่นพิษหนาแน่นที่สุด) พบว่า ปริมาณการสัญจรของรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษระดับ 5 ในกรุงโซลลดลงถึง 97%

 

โตเกียว ญี่ปุ่น

 

ญี่ปุ่น- ริเริ่มโครงการพลังงานสะอาด

 

การแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 รัฐบาลญี่ป่นได้ประกาศแนวทางรับมือตั้งแต่ปี 2013 มีการติดตาม กำกับ และควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงฐานข้อมูลและโมเดลพยากรณ์อากาศให้รองรับค่าฝุ่น รวมถึงการกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับสารพิษให้ประชาชนระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตามปัญหาจากฝุ่น PM2.5 ในญี่ปุ่นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2019 มลพิษทางอากาศจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรกว่า 42,000 ราย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากมลพิษจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ โดยในปี 2022 ระดับความเข้มข้นมลพิษทางอากาศในญี่ปุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1.8 เท่า

 

ด้วยเหตุนี้ทางญี่ปุ่นจึงริเริ่มโครงการพลังงานสะอาดมากมาย เช่น ความพยายามในการสร้างเมืองต้นแบบพลังงานไฮโดรเจน ในเมืองนามิเอะ จังหวัดฟูกุชิมะ, ผลักดันการติดตั้งโซล่าเซลล์ตามบ้านเรือนพร้อมเงินสนับสนุน, ผลักดันการใช้แอมโมเนียเป็นพลังงานเชื้อเพลิงอีกชนิด เพื่อลดการเผาไหม้จากโรงไฟฟ้าและยานพาหนะ เป็นต้น

 

ท้องฟ้าเหนือกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ก่อนและหลังแก้ปัญหา PM2.สำเร็จ

 

จีน- ความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย

 

ปักกิ่งในปี 2013 ระดับมลพิษทางอากาศพุ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของ WHO กว่า 30 เท่า ส่วนมากหมอกควันเกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 นำไปสู่การออกนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรม คือ

 

  1. เริ่มประกาศใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศฉบับใหม่ในปี 2013 เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศหลัก 6 ชนิด
  2. ตามมาด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่สำหรับควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกฎหมายสิ่งแวดล้อมอีกหลายฉบับ เพื่อสอดรับการทำงานในการลดค่าฝุ่นอย่างจริงจัง

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้การลดค่าฝุ่น PM2.5 ของจีนประสบความสำเร็จคือ ความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย กับความพยายามอุดช่องโหว่การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือแก่ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการสั่งและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จนมีการสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าไปหลายแห่ง

 

การสั่งปิดโรงงานเพื่อให้ปรับปรุงการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายพื้นที่ ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ลงมาก นอกจากนี้การผลักดันพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบเป็นอย่างดี

 

สุดท้ายที่สำคัญไม่น้อยคือมาตรการควบคุมการจราจร ทั้งการควบคุมการปล่อยมลพิษของรถยนต์, ลดอัตราการใช้งานรถยนต์ภายในประเทศ, มาตรการสลับวันใช้งานรถยนต์ รวมถึงการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าให้มีการใช้งานแพร่หลายช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง จนในช่วงปี 2020 และ 2021 เป็นต้นมา จีนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาในที่สุด