เปิดแผนผังโมเดลพัฒนา “ท่าเรือคลองเตย” จัดโซนนิ่งปั้น Smart City
การท่าเรือฯ เปิดแผนผังโมเดลพัฒนา “ท่าเรือคลองเตย” บนพื้นที่ 2,353 ไร่ จัดโซนนิ่งปั้น Smart City - Smart Port - Smart Community ปักธงศึกษาเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนนี้ พร้อมรับนโยบาย “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” เชื่อเป็นประโยชน์ส่งเสริมกิจการท่าเรือ
ล่าสุดการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการปรับแก้พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การท่าเรือสามารถดำเนินธุรกิจอื่นเพิ่มเติมจากการให้บริการท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้า พร้อมทั้งยังสามารถตั้งบริษัทลูก เพื่อร่วมทุนกับเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ภายใต้กรอบ “กิจการเกี่ยวเนื่อง” สามารถส่งเสริมและสนับสนุนกิจการท่าเรือ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494
โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจการดำเนินกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการ กทท. ให้มีความเหมาะสม หลังจากนี้ กทท. สามารถดำเนินการกิจการต่างๆ ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ของ กทท. ได้
และที่สำคัญให้ กทท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาท่าเรือในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ดี การพลิกโฉมท่าเรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ไม่เพียงการปรับแก้ พ.ร.บ.ท่าเรือ แต่ขณะนี้ กทท. ยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) เพื่อนำร่องพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ หรือ ท่าเรือคลองเตย ใช้ประโยชน์บนที่ดิน 2,353 ไร่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยคาดว่ามาสเตอร์แพลนนี้จะแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนนับจากนี้
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เผยว่า ขณะนี้ กทท.อยู่ระหว่างทบทวนมาสเตอร์แพลนที่ศึกษามากว่า 10 ปี นำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยย้ำว่า กทท.จะไม่ได้มีการย้ายท่าเรือคลองเตย เพียงแต่จะมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขนส่งสินค้าให้ใช้พื้นที่ลดลง แต่มีประสิทธิภาพ และต้องแก้ปัญหาการจราจรติดขัด รวมไปถึงฝุ่นละออง PM2.5
นอกจากนี้จะมีการนำพื้นที่ 2,353 ไร่มาพัฒนาใช้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยเบื้องต้นจะแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น
- พื้นที่พัฒนา Smart City 1,085 ไร่
- พื้นที่พัฒนา Smart Port 709 ไร่
- พื้นที่พัฒนา Smart Community 123 ไร่
- พื้นที่ ปตท.เช่าใช้ 103 ไร่
โดยจะมีโครงการสำคัญที่เตรียมพัฒนา ประกอบด้วย
1.โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า พัฒนาอาคารสำนักงาน และพัฒนาพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Logistics Park) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศได้ถึง 1.41 พันล้านบาท หรือประมาณ 0.01% ของ GDP ผลักดันเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาค
2.การพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่หลังท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน การต่อยอดโครงการพัฒนาทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพกับทางพิเศษ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ลดปัญหาจราจรติดขัดรอบพื้นที่ท่าเรือ รองรับการขยายตัวของโครงการ Smart Community และ Smart City
3. การพัฒนาระบบการให้บริการโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยพัฒนาพื้นที่จุดพักรถบรรทุก (Truck Parking) ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการจราจร (Truck Q) เพื่อลดปัญหาการจราจรทั้งภายในและภายนอกท่าเรือ โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น อาทิ ร้านอาหาร ฯลฯ สำหรับรถบรรทุกที่เข้ามารอเวลารับ-ส่งสินค้าจากสายเรือ
4. การพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว การบริหารจัดการและพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาโครงการ Bangkok Port Passenger Cruise Terminal บนพื้นที่ 67.41 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและการท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งเสริมเศรษฐกิจในระยะยาว
นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า นโยบายพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจร หรือ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ขณะนี้ภายใต้แผนแม่บทยังไม่ได้กำหนดกิจกรรมในการพัฒนา แต่มีการแบ่งโซนชัดเจนเป็น Smart Port ศูนย์โลจิสติกส์ทั้งระบบ ส่วนการจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์ก็ต้องเป็นประโยชน์กับท่าเรือ สนับสนุนการท่องเที่ยว อาทิ ครุยส์เทอร์มินัล ดังนั้นรายละเอียดของเอนเตอร์เทนเมนต์ คงต้องรอให้คณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทได้พิจารณาดูก่อนว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดได้บ้าง ให้เหมาะกับประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ท่าเรือ ก็ทำให้ กทท. สามารถทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้ ทั้งลงทุนและเป็นผู้ร่วมทุน การพีพีพีก็ต้องดูว่าคล่องตัวหรือไม่ แต่ยืนยันว่าอะไรที่ กทท.ชำนาญก็อาจจะทำเอง หรืออะไรไม่ชำนาญก็ให้บริษัทลูกทำกับผู้ร่วมทุน หรืออาจจะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้น โดยประเด็นสำคัญต้องดูผลตอบแทนที่จะได้รับทั้งการเงิน สังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม แต่การแก้ พ.ร.บ.ท่าเรือครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้การหารายได้ใหม่ๆ แน่นอน