โฟกัส 5 พื้นที่ “กรุงเทพฯ” สร้าง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

28 มกราคม 2568

ท่าเรือคลองเตย, สวนสยาม (มีนบุรี) , อิมแพ็ค เมืองทองธานี และ “แบงค็อกมอลล์” (บางนา) สำรวจ 5 พื้นที่และกลุ่มทุนหลักในไทยที่คาดว่าจะใช้พื้นที่เหล่านี้ในกรุงเทพมหานครผลักดันธุรกิจ “สถานบันเทิงครบวงจร” ในอนาคตอันใกล้เมื่อทุกอย่างพร้อม!

กรุงเทพฯ คือเมืองหลวงและเมืองหลักในการตั้ง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ด้วยข้อได้เปรียบมากมาย จับตากลุ่มทุนที่กำลังให้ความสนใจและคาดว่าจะใช้สถานที่เหล่านี้ในการสร้างธุรกิจแห่งอนาคตภายใต้หน้ากาก “สถานบันเทิงครบวงจร”

 

ล่าสุดความเป็นไปได้ในเรื่องสถานที่ตั้ง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” หรือ สถานบันเทิงครบวงจร ใกล้ความเป็นจริงมาทุกขณะ ภายใต้ฉากหน้า “พรบ.สถานบันเทิงครบวงจร” ที่มีของร้อนอย่างกาสิโนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แม้จะมีเอี่ยวอยู่ไม่ถึง 10% ของกิจกรรมบันเทิงทั้งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาชี้ชัดว่า แม้ไม่ถึง 10% แต่กาสิโนก็ครอบคลุมรายได้ราว 70% ของรายได้ทั้งหมดของสถานบันเทิงครบวงจร ส่วนกิจกรรมบันเทิงอื่นๆที่เหลือทั้งหมด ที่ใช้พื้นที่ราว 95% สามารถสร้างรายได้ราว 30% เท่านั้น!

 

นอกจากจากความกังวลว่าในอนาคต “กาสิโน” จะกลายเป็น “แหล่งทุนทางการเมือง” ให้กับนักการเมืองบางกลุ่มที่อยู่เบื้องหลัง ทำอย่างไรจึงจะให้กาสิโนนั้นโปร่งใสที่สุดและมีระบบการจัดการที่ดี ส่งผลประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริงอย่างที่ฝันกันไว้ (อ่านบทวิเคราะห์คลิก)

 

มาดูกันว่าเวลานี้ความเป็นไปได้ในการตั้ง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ในกรุงเทพมหานครมีที่ไหนบ้าง หากความเป็นไปได้นั้นขยับเข้ามาใกล้ทุกขณะ นอกเหนือจาก พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ และนอกเหนือจากทุนต่างชาติที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนกันอย่างมากหน้าหลายตาในระดับโลก มาดูที่กลุ่มทุนไทยกันบ้างว่าตอนนี้ขยับไปถึงไหนและมีรายชื่อใดเข้ามามีเอี่ยวในเค้กก้อนโตชิ้นนี้บ้าง

 

โฟกัส 5 พื้นที่ “กรุงเทพฯ” สร้าง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

 

สรุปคร่าวๆ ร้อนๆ  ตอนนี้เฉพาะที่กรุงเทพมหานครก็พื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นที่ตั้งของ “สถานบันเทิงครบวงจร” คือ

 

1.“ท่าเรือคลองเตย” บนพื้นที่ 2,353 ไร่ หลังการปรับแก้ พรบ.การท่าเรือฯ ไฟเขียวให้ กทท.ดำเนินธุรกิจอื่น หรือ “กิจการเกี่ยวเนื่อง” ร่วมกับเอกชนได้

 

ล่าสุดได้มีการจัดโซนนิ่งปั้นโมเดล Smart City - Smart Port - Smart Community มีการปักธงศึกษาว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนนี้ หลัง กทท.มีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือกรุงเทพ ในลักษณะโครงการแบบผสมผสาน (Mixed-Use) และยิ่งจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีการปรับแก้พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การท่าเรือสามารถดำเนินธุรกิจอื่นเพิ่มเติมจากการให้บริการท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้า พร้อมทั้งยังสามารถตั้งบริษัทลูก เพื่อร่วมทุนกับเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ภายใต้กรอบ “กิจการเกี่ยวเนื่อง” สามารถส่งเสริมและสนับสนุนกิจการท่าเรือ
 

โมเดลการจัดโซนนิ่งท่าเรือคลองเตยตามแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือกรุงเทพ โมเดลการจัดโซนนิ่งท่าเรือคลองเตยตามแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือกรุงเทพ

 

และที่สำคัญให้ กทท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาท่าเรือในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ 

 

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวล่าสุดว่า นโยบายพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจร หรือ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ขณะนี้ภายใต้แผนแม่บทยังไม่ได้กำหนดกิจกรรมในการพัฒนา แต่มีการแบ่งโซนชัดเจนเป็น  Smart Port ศูนย์โลจิสติกส์ทั้งระบบ ส่วนการจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์ก็ต้องเป็นประโยชน์กับท่าเรือ สนับสนุนการท่องเที่ยว อาทิ ครุยส์เทอร์มินัล ดังนั้นรายละเอียดของเอนเตอร์เทนเมนต์ คงต้องรอให้คณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทได้พิจารณาดูก่อนว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดได้บ้าง ให้เหมาะกับประเทศไทย

 

ทั้งนี้ เมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ท่าเรือ ก็ทำให้ กทท. สามารถทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้ ทั้งลงทุนและเป็นผู้ร่วมทุน การพีพีพีก็ต้องดูว่าคล่องตัวหรือไม่ แต่ยืนยันว่าอะไรที่ กทท.ชำนาญก็อาจจะทำเอง หรืออะไรไม่ชำนาญก็ให้บริษัทลูกทำกับผู้ร่วมทุน หรืออาจจะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้น โดยประเด็นสำคัญต้องดูผลตอบแทนที่จะได้รับทั้งการเงิน สังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม แต่การแก้ พ.ร.บ.ท่าเรือครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้การหารายได้ใหม่ๆ แน่นอน

 

ปัจจุบัน กทท.มีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือกรุงเทพ ในลักษณะโครงการแบบผสมผสาน (Mixed-Use) ซึ่งจะประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย Smart Community และการพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว

นอกจากนี้จะมีการนำพื้นที่ 2,353 ไร่มาพัฒนาใช้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยเบื้องต้นจะแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 

- พื้นที่พัฒนา Smart City 1,085  ไร่

- พื้นที่พัฒนา Smart Port 709 ไร่

- พื้นที่พัฒนา Smart Community 123 ไร่

- พื้นที่ ปตท.เช่าใช้ 103 ไร่

 

อิมแพ็ค เมืองทองธานี อิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

2. “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” พร้อมรุกด้วยที่ตั้งทำเลทอง

 

เมืองทองธานี มีพื้นที่รวมกว่า 4,000 ไร่ ถือเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ในส่วนของที่พักอาศัยมีทั้งโครงการบ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ที่มีผู้พักอาศัยราว 200,000 คน ในขณะที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี (IMPACT Arena, Exhibition and Convention Center, Muang Thong Thani) เป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าและการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในแต่ละปีจะมีการจัดงานอีเวนท์ต่าง ๆ มากกว่า 400 งาน และมีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 15 ล้านคนต่อปี

 

พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยกับ โพสต์ทูเดย์ ก่อนหน้านี้ว่า บางกอกแลนด์ มีความสนใจในโครงการ "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" โดยเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้ โดยเฉพาะหากมีการใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งศักยภาพสูง เช่น อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

“เมืองทองธานีไม่ได้เป็นเพียงสถานที่จัดอีเวนต์ แต่ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและความบันเทิงของประเทศไทย ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้การออกแบบและขยายโครงการเป็นไปได้อย่างยืดหยุ่น และยังสามารถรองรับเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์อนาคต เช่น พลังงานสีเขียวและระบบดิจิทัล”

 

อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งพื้นที่ขนาดใหญ่ ระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน และการเชื่อมต่อการคมนาคมที่สะดวกสบาย นับเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้โครงการเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ในพื้นที่นี้มีโอกาสดึงดูดการลงทุนได้สูง

 

ที่ตั้งเมืองทองธานีอยู่ในตำแหน่งที่สามารถรองรับการเข้าถึงของผู้คนทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านสนามบินดอนเมือง มีทางด่วนเชื่อมต่อไปยังต่างจังหวัด และกำลังมีรถไฟฟ้าเข้าถึงเมืองทองธานี ซึ่งจะเปิดให้บริการ พ.ค. 2568 นี้ 

 

สรุปคือ พื้นที่ของอิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นทำเลทอง สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในหลากหลายมิติ เช่น การสร้างสถานที่จัดงานระดับโลก โรงแรมที่พัก ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และพื้นที่สำหรับกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ ที่ดึงดูดทั้งกลุ่มครอบครัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

3. Sports and Entertainment Complex บนเนื้อที่ 3,000 ไร่

 

สนามม้านางเลิ้ง หรือ ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ประกาศร่วมกับบริษัท รอยัล สปอร์ต คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ RSC (และพันธมิตรต่างชาติ-เกาหลีใต้) ที่วาดให้ Sports and Entertainment Complex มีทั้งหมดถึง 6 โครงการด้วยกัน (ตั้งอยู่ใน 6 จังหวัดทั่วประเทศไทย) แต่ในกรุงเทพฯ ที่เล็งไว้คือพื้นที่หลัก แถวลาดกระบังหรือหนองจอกบนที่ดินราว 3,000 ไร่

 

4. สวนสยาม - บนเนื้อที่ 500 ไร่

 

กลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ (สวนสยามเดิม) โดยไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานกรรมการวัย 87 ปี ประกาศพร้อมลงทุนเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ บนเนื้อที่ 500 ไร่ ย่านมีนบุรี ด้วยวงเงิน 1 แสนล้านบาท ในโครงการมีทั้งสวนสนุกและสวนน้ำกลางแจ้งขนาดใหญ่ พื้นที่พาณิชยกรรม โรงแรม ศูนย์อาหาร ศูนย์รวมความบันเทิง และกาสิโนถูกกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ออกแบบโมเดลโครงการ หาพันธมิตรทั้งคนไทยและต่างชาติร่วมลงทุน โดยสวนสยามลงทุน 50% หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

 

 

5. “แบงค็อกมอลล์” ย่านบางนา บนที่ดิน 100 ไร่

 

โดยกลุ่ม “เดอะมอลล์” ที่แว่วว่ากำลังเดินเครื่องก่อสร้าง มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในผู้ท้าชิง หลังศุภลักษณ์ อัมพุช เคยเผยแนวคิดกรุงเทพฯต้องมีแหล่งการท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิงในช่วงเวลากลางคืน เพื่อสร้างฮับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ เหมือนกับหลายต่างประเทศที่มีทั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์และกาสิโน คาดสร้างเสร็จเปิดภายในปี 2569-2570

 

 

Thailand Web Stat