UTA เดินหน้าต่อ ไม่รอข้อสรุป “รถไฟไฮสปีด” เล็งลดไซส์ “สนามบินอู่ตะเภา”
เล็งลดไซส์ “สนามบินอู่ตะเภา” รองรับการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออก 6,500 ไร่ ในพื้นที่ EEC “คีรี” ยืนยันเดินหน้าโครงการต่อไม่รอข้อสรุป ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน หลังติดปมล่าช้า ชี้กระทบโครงการหนัก เล็งปรับอาคารผู้โดยสารเหลือครึ่งเดียว
จนถึงนาทีนี้มหากาพย์โครงการรถไฟไฮสปีด (HSR) เชื่อม 3 สนามบิน สู่เมืองเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา อนาคตเมืองการบินแห่งแรกของไทย ที่ยืดเยื้อกันมานานหลายปีและมีการแก้ไขสัญญาจนเหมือนว่าจะมีวี่แววดำเนินการก่อสร้างได้ในต้นปีนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนเป็นที่สงสัยว่าใครจะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้...
ล่าสุดนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) ในฐานะผู้รับสัมปทานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเปิดเผยว่า บริษัทจะเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก บนพื้นที่ 6,500 ไร่ภายในพื้นที่ของ EEC ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมกว่า 290,000 ล้านบาท โดยไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะที่ผ่านมาโครงการมีความล่าช้าและยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้เมื่อใด
ภาพโครงการพัฒนา เมืองการบินภาคตะวันออก/ eecoss.eeco.or.th
เผยสัญญาจะครบ 5 ปี ในวันที่ 18 มิถุนายน 2568
ปัจจุบันโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว และกำลังจะครบ 5 ปี ในวันที่ 18 มิถุนายน 2568 แต่ยังไม่สามารถผลักดันโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักของโครงการออกมาได้ และตามกำหนดเวลาตามสัญญาจะต้องออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องจัดทำแผนประสานงานระหว่าง 2 โครงการ ทั้งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ด้วย
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้มีการแก้ไขสัญญา ทำให้โครงการไม่สามารถเริ่มต้นการก่อสร้างได้ และส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ออก NTP ไม่ได้ แม้ว่าจะมีการลงนามในสัญญาไปแล้ว และที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาท นอกจากเงื่อนไขของ NTP ยังมีสิ่งที่หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ผ่านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งด้านภาษี และที่ไม่ใช่ภาษีด้วย
นายคีรี กล่าวว่า เหตุผลของการออก NTP ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังติดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในสัญญา ทั้งสิทธิประโยชน์ยังไม่ชัดเจน และการเริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ยังไม่มีข้อสรุป แต่ ณ ขณะนี้ บริษัทรอการดำเนินการต่าง ๆ มาเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว และคงไม่สามารถรอต่อไปได้ และในช่วงเวลาที่เหลือก่อนจะถึงเดือนมิถุนายน 2568 นี้ ก็จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างออกมา เพราะไม่อย่างนั้นคงจะไปตอบผู้ถือหุ้นบริษัทไม่ได้
“ถ้าเรารอไม่ได้ ก็มีวิธีการอยู่ คือ การต่อสู้ทางคดี หรือวิธีพยายามหารือและร่วมมือให้ EEC เริ่มต้นได้ ซึ่งเราเลือกวิธีไปเริ่มต้นแทน เพราะคงไม่มีประโยชน์ที่จะไปฟ้องร้องกัน และไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้จบได้ เพราะโครงการ EEC เป็นโครงการสำคัญของประเทศไทย ที่ต้องเปิดรับนักลงทุนเข้ามาลงทุน เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติในระยะยาว” นายคีรี ระบุ
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ บริษัทยืนยันความพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการต่อ โดยเตรียมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. เพื่อตกลงรายละเอียดของโครงการ และเตรียมปรับลดขนาดของโครงการลงทุนจากเดิมเหลือประมาณ 40-50% ก่อนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถเริ่มได้ทันที โดยเฉพาะงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร จากเดิมจะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสารประมาณ 12 ล้านคนต่อปี อาจปรับเหลือเพียง 5 ล้านคนต่อปี
ขณะที่เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเดิมประเมินมูลค่าการลงทุนภายในโครงการไว้สูงสุดกว่า 600,000 ล้านบาท ภายใต้พื้นที่ 1,200 ไร่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่า การลงทุนในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก อาจปรับขนาดลงลงเหลือเท่าใด เพราะตอนนี้ขอรอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของรัฐก่อนว่า ในการหารือร่วมกันจะเดินหน้าโครงการออกมาในรูปแบบใด และจะมีสิทธิประโยชน์ใดที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่
“บริษัทพร้อมเดินหน้าต่อกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เมื่อได้สิทธิที่เราควรจะได้ ซึ่งเรายินดีและพร้อมเดินหน้าโครงการทันที โดยขอให้อีอีซี แจ้งความชัดเจนให้บริษัทเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพิจารณาการบริหารสัญญาที่เหมาะสมด้วย แต่ต้องบอกให้ชัดเจนว่าจะให้ทำอะไรในโครงการได้บ้าง โดยที่ผ่านมาเราได้คุยกับ EEC ต่อเนื่องและคุยได้ด้วยดี แต่คงไม่บอกตัวเลขอะไร คงให้เขาไปพิจารณาเอง” นายคีรี ระบุ
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) กล่าวว่า ในการปรับลดขนาดของโครงการลงทุนลงนั้น ไม่จำเป็นต้องแก้ไขสัญญา เพราะในสัญญาได้เปิดโอกาสให้คู่สัญญาหารือกันได้ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าสัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ แต่การปรับปรุงรายละเอียดโครงการจะต้องตั้งมีเหตุมีผล โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสำคัญในสัญญา ก็สามารถดำเนินการผ่านการหารือร่วมกันได้
ขณะที่การปรับแบบก่อสร้างนั้น จะมีผลกระทบต่องานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงที่มีพื้นที่เชื่อมต่อภายใต้อาคารผู้โดยสารหรือไม่นั้น เห็นว่า ภาครัฐจะต้องหาข้อสรุปถึงปัญหาดังกล่าวว่า ถ้าโครงการรถไฟความเร็วสูงยังไม่สามารถดำเนินการได้ หากจะยังต้องการให้เตรียมพื้นที่ไว้รองรับรถไฟความเร็วสูง ก็ต้องแจ้งมาให้ชัดเจนว่าจะมีทางออกอย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นจะกระทบกับการลงทุนโดยรวมของโครงการ และรัฐต้องจัดลำดับความสำคัญให้ชัดเจนต่อไปด้วย
ส่วนการจัดสิทธิประโยชน์พิเศษภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นั้น ปัจจุบันภายใต้กฎหมายของ EEC สามารถให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนได้ ทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และที่ไม่ใช่ภาษี แต่การจะออกมาทั้งหมดก็ต้องมีการออกกฎหมายจากกระทรวงการคลังเข้ามารองรับก่อน ซึ่งเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้
“ถ้าไม่มีรถไฟความเร็วสูงก็ต้องกลับมานั่งคิดว่า สิทธิประโยชน์ที่รัฐจะให้มีอะไร และทาง EEC ต้องบอกคอนเซ็ปต์โครงการให้ชัดว่า ต่อไปโครงการนี้จะใช้รองรับคนไทยเดินทางท่องเที่ยว หรือรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือสร้างรถไฟความเร็วสูงจะให้คนกรุงเทพฯเดินทางมาใช่หรือไม่ ทั้งหมดนี้ก็ต้องบอกให้ชัด เพราะการก่อสร้างในแต่ละคอนเซ็ปต์จะลงทุนไม่เหมือนกัน หากเรื่องเหล่านี้ชัดการลงทุนจะได้เริ่มต้นได้ในทันที” นายวีรวัฒน์ กล่าว
UTA พร้อมที่จะเดินหน้าและส่งให้ EEC เกิด
นอกจากนี้นายคีรียังระบุด้วยว่า อยากให้สังคมรู้ถึงความจำเป็นที่ต้องมี EEC ในประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และปัจจุบัน EEC ได้ดำเนินมาจนถึงจุดที่ชักชวนให้คนมาลงทุนได้ โดยทั้งเมืองสนามบินและสนามบินซึ่งเป็นเหมือนประตูต้องมีแล้ว ตนต้องการกระตุ้นให้คนทราบว่าประเทศเรามี EEC แต่ยังไม่เกิด จะต้องทำยังไง
สรุป
อุปสรรค 2 เรื่องใหญ่ที่ NTP ยังออกไม่ได้เป็นเพราะ 2 โครงการไม่เชื่อมประสาน ระหว่างโครงการรถไฟไฮสปีด หรือ High Speed Rail (HSR) และ สนามบินอู่ตะเภา
และเรื่องของ กฎหมาย หรือ พรบ.EEC ในเรื่องสิทธิประโยชน์ ความชัดเจนในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
ในทางปฏิบัติ 8 ปีที่ผ่านมา EEC ใช้เงื่อนไขของ BOI ทั้งหมด พรบ.EEC ในเรื่องสิทธิประโยชน์ ยังไม่มี (EEC ยังไม่มี พรบ.ของตัวเอง) ซึ่งในเรื่องนี้ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในการขับเคลื่อนต่อไป