ถอดบทเรียน Plastic Smart Cities สู่อนาคตไร้ขยะพลาสติก
WWF ประเทศไทย ขับเคลื่อน Plastic Smart Cities - TVA ร่วมกับ 4 เทศบาลเมืองนำร่อง ลดขยะพลาสติกได้มากกว่า 2,000 ตัน ด้วยกลยุทธ์ Reduce & Recover ลดจากต้นทางและเพิ่มอัตราเก็บกลับ สู่เป้าหมาย ‘ไม่มีพลาสติกหลงเหลือในธรรมชาติ’
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) จัดงาน “ถอดบทเรียน Plastic Smart Cities ก้าวสู่อนาคตไร้ขยะพลาสติก” เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 4 ปี และแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไป
พลิกโฉมเมืองสู่การจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา โครงการ Plastic Smart Cities - TVA ภายใต้การดำเนินงานของ WWF ประเทศไทย ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการจัดการขยะพลาสติก โดยสามารถลดขยะจากต้นทางกว่า 50 ตัน และนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้มากกว่า 2,000 ตัน ช่วยลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่ธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการ Plastic Smart Cities - TVA ภายใต้การดำเนินงานของ WWF ประเทศไทย มีเป้าหมายหลักในการลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่ระบบนิเวศธรรมชาติ โดยดำเนินงานในเทศบาลนคร 4 แห่ง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี, เกาะสมุย, สงขลา และหาดใหญ่ พร้อมร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่
การจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรใช้แนวทาง “เปลี่ยนแปลงเชิงระบบ” ผ่าน 2 กลยุทธ์หลัก 'Reduce & Recover’ ที่ทำให้การลดขยะเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน
1. Reduce: ลดพลาสติกจากต้นทาง
ปลูกฝังพฤติกรรมลดใช้พลาสติกและคัดแยกขยะในสถานศึกษาผ่านกิจกรรม "Plastic Free School" พร้อมทั้งร่วมมือกับร้านอาหาร คาเฟ่ และโรงแรมในพื้นที่ Plastic Smart Cities - TVA เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ เช่น LINEMAN Wongnai และ foodpanda ผ่านกิจกรรม "Plastic ACTion" (PACT) รวมถึงการจัดแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ยั่งยืน
2. Recover: นำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล
โครงการสนับสนุนการคัดแยกขยะครัวเรือนและการจัดตั้งธนาคารขยะชุมชน ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพของศูนย์คัดแยกขยะ เพื่อให้เกิดการซื้อขายขยะครบวงจร อีกทั้งยังร่วมมือกับภาคีในพื้นที่ เช่น กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ และกลุ่มเซ็นทรัล จัดกิจกรรมรับคืนบรรจุภัณฑ์พลาสติกผ่าน "Take Back Program" เพื่อนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล
ขยายผลสู่ระดับประเทศและนานาชาติ
โครงการ Plastic Smart Cities - TVA ของ WWF ทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ No Plastic in Nature หรือ ‘ไม่มีพลาสติกหลงเหลือในธรรมชาติ’ โดยมีเป้าหมายระดับโลกในการลดขยะพลาสติกลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2573 การดำเนินงานในระดับเมืองเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยสร้างต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ และสามารถขยายผลสู่ระดับประเทศและนานาชาติ
ดร. ไมเคิล รอย ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย
ดร. ไมเคิล รอย ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย กล่าวว่า “ความสำเร็จของโครงการ Plastic Smart Cities - TVA เกิดขึ้นจากการร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ซึ่งทำให้เราสามารถสร้างระบบการจัดการพลาสติกที่แข็งแกร่งและนำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน”
แม้โครงการนี้จะสิ้นสุดลง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังคงดำเนินต่อไปผ่านเครือข่ายที่เข้มแข็ง พร้อมเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศไทยและในระดับสากล นี่คือก้าวสำคัญของการสร้างอนาคตที่ไร้ขยะพลาสติกอย่างแท้จริง
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับสากล โดย WWF ทั่วโลกกำลังผลักดันให้เกิด ‘Global Plastic Treaty’ หรือสนธิสัญญาพลาสติกโลก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกไม่สามารถทำได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ความสำเร็จจาก โครงการ Plastic Smart Cities - TVA ในประเทศไทย เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการจัดการพลาสติกอย่างเป็นระบบสร้างผลลัพธ์ได้ หากมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน” ดร. ไมเคิล รอย กล่าวเสริม