5 เทรนด์ พลิกโฉมระบบตั๋วโดยสารปี 2568 สู่ระบบไร้สัมผัสเต็มรูปแบบ
ระบบตั๋วโดยสารที่ล้าหลัง อาจเป็นอุปสรรคต่อระบบการเดินทางของเมืองอัจฉริยะในอนาคต เผยผลสำรวจเชิงลึก 5 แนวโน้มสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมระบบตั๋วโดยสารในปี 2568
รายงาน State of Mass Transit Ticketing Hardware Report 2025 โดย HID ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันการระบุตัวตน ได้เผยผลสำรวจเชิงลึกจากผู้ให้บริการขนส่งมวลชน 102 รายทั่วโลก ซึ่งชี้ให้เห็นถึง 5 ประเด็นสำคัญที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมระบบตั๋วโดยสารในปี 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับผู้โดยสารและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
ลดการพึ่งพาเงินสด สู่ระบบไร้สัมผัสเต็มรูปแบบ
การชำระค่าโดยสารด้วยเงินสดกำลังกลายเป็นอดีต ผู้ให้บริการขนส่งราว 43% ที่ร่วมตอบแบบสอบถามวางแผนเปลี่ยนไปใช้ระบบออกตั๋วแบบไร้สัมผัส (contactless) ซึ่ง 88% ในจำนวนนี้ ตั้งเป้าดำเนินการภายใน 12-24 เดือนข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงแรงผลักดันในการเร่งเปลี่ยนผ่านระบบการจ่ายเงินให้รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระตุ้นให้ผู้โดยสารหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด
การลดการใช้เงินสดไม่ใช่แค่การปรับปรุงความสะดวก แต่ยังช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด รวมถึงป้องกันการทุจริตภายในระบบ แต่ความท้าทายสำคัญอยู่ที่การลงทุนในอุปกรณ์และระบบหลังบ้านที่ต้องรองรับการชำระเงินหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนจำกัด
สร้างประสบการณ์ให้ผู้โดยสาร เร็ว ง่าย ใช้งานสะดวก
ความพึงพอใจของผู้โดยสารกลายเป็นหัวใจหลักของการออกแบบระบบตั๋วสองในสามของผู้ให้บริการระบุว่า อินเทอร์เฟสที่ใช้งานง่าย เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในอุปกรณ์ออกตั๋ว แสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารไม่เพียงคาดหวังความรวดเร็วในการซื้อตั๋ว แต่ยังต้องการการใช้งานที่ตรงไปตรงมาและลดความซับซ้อนให้มากที่สุด
การพัฒนาอินเทอร์เฟสที่ตอบโจทย์ต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้โดยสารหลากหลาย ตั้งแต่นักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับระบบ ไปจนถึงผู้สูงอายุที่อาจไม่ถนัดการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน หากระบบออกตั๋วไม่สามารถตอบสนองกลุ่มเหล่านี้ได้ อาจกลายเป็นอุปสรรคในการเดินทางแทนที่จะช่วยอำนวยความสะดวก
การเติบโตของการชำระเงินแบบไร้สัมผัสและมือถือ
ยุโรปกำลังเป็นผู้นำในระบบตั๋วผ่านมือถือ ด้วยอัตราการใช้งาน 86% ผ่านแอปพลิเคชัน เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 58% ขณะที่ 87% ของผู้ให้บริการในสหรัฐอเมริกายังคงใช้ตู้เก็บค่าโดยสารแบบดั้งเดิมและระบบบัตรแบบปิด (closed-loop) อยู่
การขยายตัวของการชำระเงินผ่านมือถือสะท้อนถึงความต้องการระบบที่ยืดหยุ่นและทันสมัยมากขึ้น แต่ความแตกต่างในพฤติกรรมการใช้งานระหว่างภูมิภาคอาจเป็นอุปสรรคต่อการออกแบบโซลูชันที่รองรับได้ทั่วโลก อีกทั้งการผูกขาดของระบบบัตรแบบปิดทำให้ผู้โดยสารมีตัวเลือกน้อยลง เมื่อเทียบกับระบบเปิดที่สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการชำระเงินหลากหลายได้
การรวบรวมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างแม่นยำ
ข้อมูลกลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ผลสำรวจพบ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับระบบตั๋วเดียว (single ticket interface) หรืออินเทอร์เฟสที่สามารถรองรับตั๋วได้หลายประเภท ใช้งานง่าย และสามารถให้ข้อมูลได้ เพื่อดึงข้อมูลการเดินทางมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ
การเปลี่ยนผ่านสู่โซลูชันแบบเปิด (Open Architecture)
40% ของผู้ตอบแบบสอบถามย้ำถึงความสำคัญของโซลูชันที่สร้างบนสถาปัตยกรรมแบบเปิด (open architecture) ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาระบบตั๋วแบบเฉพาะ (proprietary systems) ที่ล็อกผู้ให้บริการไว้กับผู้ผลิตรายเดียว
ระบบแบบเปิดช่วยให้ผู้ให้บริการมีอิสระในการเลือกฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่หลากหลาย ลดต้นทุนในการเปลี่ยนอุปกรณ์และอัปเกรดระบบในอนาคต แต่ในภูมิภาคละตินอเมริกาและเอเชียแปซิฟิกยังคงเผชิญข้อจำกัดด้านเงินทุนและความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค ทำให้การเปลี่ยนผ่านอาจเกิดขึ้นได้ช้ากว่าภูมิภาคอื่น
ทางรอดของระบบขนส่งมวลชนยุคใหม่
รายงานของ HID สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบตั๋วโดยสารขนส่งมวลชน โดยมี “ผู้โดยสารเป็นศูนย์กลาง” การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อรองรับการชำระเงินแบบไร้สัมผัส การใช้งานง่าย การรวบรวมข้อมูลเชิงลึกและระบบที่ยืดหยุ่น ถือเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดของผู้ให้บริการขนส่งในยุคดิจิทัล
แต่เรื่องของ “เงินทุน” ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
ในท้ายที่สุด ผู้ให้บริการขนส่งมวลชนจะต้องเลือก “พันธมิตรทางเทคโนโลยี” ทั้งโซลูชั่นและอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถเดินหน้าพัฒนาระบบไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม
เพราะระบบตั๋วโดยสารที่ล้าหลัง อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อระบบการเดินทางและการขนส่งมวลชนของเมืองอัจฉริยะในอนาคต