อาคารกากเต้าหู้ ปัญหาสิ่งปลูกสร้างคุณภาพต่ำจีน ที่ลามมาถึงไทย?
ตั้งคำถาม "อาคารเต้าหู้" คำอธิบายถึงสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณภาพต่ำในจีน การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน จากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ส่งผลมาถึงไทย?
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพม่า (รอยเลื่อนสะกาย) ขนาด 8.2 แมกนิจูดที่ส่งผลมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ทำให้อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติ (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างไปได้เพียง 30% (ความสูง 137 เมตรราว 30 ชั้น) ถล่มลงมาทั้งอาคาร สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายอย่างใหญ่หลวงส่งผลให้เกิดคำถามด้านวิศวกรรมการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในหลายทิศทาง
โพสต์ทูเดย์สำรวจพบอีกหนึ่งคำถามถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารดังกล่าวที่ดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัทจงเที่ยสือจวี่จี๋ตวน (China Railway No.10 Engineering Group – CRCC) หรือ ไชน่า เรลเวย์ หนึ่งในกลุ่มรัฐวิสาหกิจจีนขนาดใหญ่ของจีน ร่วมกับพันธมิตรฝั่งไทยคือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) โดยอาคารแห่งนี้ถือเป็นโครงการแรกในต่างประเทศของไชน่า เรลเวย์ตามที่มีข่าวรายงานก่อนหน้านี้
โครงการกากเต้าหู้ ปัญหา "คุณภาพการก่อสร้างต่ำ" ในจีน
โครงการกากเต้าหู้ (จีน: 豆腐渣工程; Tofu-dreg project) หรือ อาคารกากเต้าหู้ เป็นคำที่ใช้ในภาษาจีนเพื่ออธิบายสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณภาพต่ำ และมักเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกโดย จู หรงจือ อดีตนายกรัฐมนตรีของจีนในปี 1998 ขณะเดินทางไปตรวจสอบพนังกั้นน้ำแม่น้ำแยงซีที่เมืองจิ่วเจียง มณฑลเจียงซี ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างไร้คุณภาพ
ต่อมาคำนี้ได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2008 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน ซึ่งทำให้อาคารจำนวนมากพังถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ติดอยู่ในโรงเรียนที่พังลงเนื่องจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน
ในภาษาจีน คำว่า "กากเต้าหู้" หรือ “เต้าฝูจา” หมายถึงเศษซากที่เหลือจากกระบวนการผลิตเต้าหู้ และมักถูกใช้เป็นคำอุปมาอุปไมยสำหรับสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นอย่างลวก ๆ หรือไม่มีคุณภาพ คำว่า "โครงการกากเต้าหู้" จึงกลายเป็นคำที่ใช้เรียกโครงการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหรือขาดความแข็งแรงเพียงพอ
สถาปนิกชื่อดังของจีน หลี่ ฮู ถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า สิ่งปลูกสร้างประเภท "กากเต้าหู้" ในจีนนั้นมีจำนวนมากกว่าสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีปัญหา
เขาระบุว่าแม้อาคารเหล่านี้อาจไม่พังถล่มลงในทันที แต่ก็มีอายุการใช้งานที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือมักมีปัญหาการรั่วซึมและโครงสร้างที่เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ
เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเสฉวนปี 2008 เป็นตัวอย่างสำคัญของปัญหานี้
อาคารโรงเรียนจำนวนมากพังถล่ม ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนมากเสียชีวิต สื่อและประชาชนต่างตั้งข้อสงสัยว่าการทุจริตและการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุสำคัญของความเสียหายนี้ รายงานจากสำนักข่าว The Globe and Mail ในปี 2008 ระบุว่า อาคารที่ก่อสร้างอย่างลวก ๆ เหล่านี้เกิดจากการลดต้นทุนของผู้ก่อสร้าง เช่น การใช้เหล็กเส้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานแทนแท่งเหล็กกล้า การใช้ซีเมนต์คุณภาพต่ำ ลดปริมาณอิฐที่ใช้ลง และการขาดการตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เหตุการณ์นี้ทำให้สังคมจีนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับมาตรฐานการก่อสร้างมากขึ้น รวมถึงการตรวจสอบและควบคุมการทุจริตในวงการก่อสร้างอย่างเข้มงวด
ปัญหาการส่งออกวัสดุไม่ได้มาตรฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานจากจีนหันมาส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีระดับคอร์รัปชั่นสูง เช่น ไทย พม่า และลาว แม้ว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะมีการปราบปรามการทุจริตและควบคุมการส่งออกวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด แต่ปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่
ในประเทศไทย มีรายงานว่า ปีที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งอายัดเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวน 2,441 ตัน มูลค่าประมาณ 49.2 ล้านบาท และดำเนินคดีกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของคดีและที่เก็บของกลางดังกล่าว
ความพยายามในการตรวจสอบคุณภาพการก่อสร้างในไทย
เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพการก่อสร้างอาคารในประเทศไทย ล่าสุด กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง นำทีมวิศวกรตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองยังมีวิศวกรที่ลงทะเบียนไว้กว่า 2,000 คน พร้อมให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร
กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ม ตรวจสอบคุณภาพวัสดุก่อสร้างหลังตึก สตง. ถล่มจากแผ่นดินไหว
ล่าสุดนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยระบุว่า กระทรวงให้ความสำคัญกับทุกปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นข้อบกพร่องด้านวิศวกรรมโครงสร้าง หรือการใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บหลักฐานเพื่อพิสูจน์สาเหตุของโศกนาฏกรรม หากพบการใช้เหล็กหรือวัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้คุณภาพ จะดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินคดีและสั่งปิดผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว 7 ราย มูลค่าของกลางรวมกว่า 361 ล้านบาท โดยความเสียหายทางเศรษฐกิจจากปัญหานี้สูงถึงหลักพันล้านบาทต่อปี และยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในการตรวจสอบปัญหาตึกเต้าหู้
การเชิญรัฐบาลจีนมาร่วมตรวจสอบปัญหาคุณภาพการก่อสร้างในประเทศไทยอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับมาตรฐานและความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ความจริงจังของรัฐบาลไทยในการดำเนินการดังกล่าวยังเป็นที่สงสัยในหมู่ประชาชน การเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและโปร่งใสจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตและสร้างความมั่นใจในคุณภาพการก่อสร้างในประเทศ