หนี้สายสีเขียวทะลุ 5 หมื่นล้าน ปธ.กก.วิสามัญแนะกทม.เร่งหาทางออก
นภาพล เปิดแผลหนี้ BTSC พุ่งกว่า 5 หมื่นล้าน ชัชชาติยันต้องสู้ต่อ สภาอนุมัติจ่ายบางส่วน แต่ปมฟ้องร้องยังไม่จบ รอผลศึกษาพ.ร.บ.ร่วมทุนหาแนวทางแก้ไขก่อนหมดสัมปทานปี 2572
วันที่ 9 เมษายน 2568 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย รายงานผลการศึกษา คณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวบางส่วน
โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นางสาวทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หัวหน้าส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย
นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวบางส่วน ได้นำเสนอรายงานผลการศึกษา ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งครอบคลุมถึงการชำระหนี้ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงที่ค้างชำระ รวมถึงปัญหาการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น
รายงานผลการศึกษาของนายนภาพล จีระกุล
นายนภาพล จีระกุล ได้นำเสนอผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 และต่อเนื่องมาถึงปี 2567 โดยระบุว่า กทม. ได้ชำระหนี้บางส่วนไปแล้วตามวาระที่ 104476,8842.76 แต่ยังมีหนี้ค้างชำระจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการเคลียร์ สรุปยอดหนี้ที่ค้างชำระกับ BTSC ดังนี้:
1. หนี้ช่วงมิถุนายน 2564 - ตุลาคม 2565
- เงินต้น: 10,127 ล้านบาท
- ดอกเบี้ย: 2,118 ล้านบาท
- รวม: 12,245 ล้านบาท
2. หนี้ช่วงพฤศจิกายน 2565 - ธันวาคม 2567 (หลังการฟ้องครั้งที่ 2)
- เงินต้น: 14,235 ล้านบาท
- ดอกเบี้ย: 11,264 ล้านบาท
- รวม: 25,499 ล้านบาท
3. ประมาณการค่าจ้างเดินรถปี 2568 (มกราคม - ธันวาคม 2568)
- เงินต้น: 6,448 ล้านบาท (ไม่มีดอกเบี้ยในส่วนนี้)
จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายอดหนี้ค้างชำระทั้งหมดมีมูลค่าสูงถึงกว่า 44,192 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) และหากรวมประมาณการในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 50,640 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระทางการเงินที่หนักหน่วงสำหรับ กทม.
ปัญหาการฟ้องร้อง
ปัญหาการฟ้องร้องระหว่าง BTSC กับ กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่นายนภาพลได้หยิบยกขึ้นมา โดย BTSC ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางถึง 2 ครั้ง
1. การฟ้องครั้งที่ 1 (วันที่ 15 กรกฎาคม 2564)
- ครอบคลุมค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 (พฤษภาคม 2562 - พฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 (เมษายน 2560 - 2564)
- กทม. ชี้แจงว่า การไม่ชำระหนี้เป็นผลจากการเจรจาตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับสัมปทานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนต่อขยายทั้งสองส่วน
- นอกจากนี้ กทม. โต้แย้งว่า สถานีสะพานตากสิน (S6) มีข้อจำกัดทางกายภาพ เนื่องจากเป็นรางเดี่ยว ทำให้การบริหารจัดการในชั่วโมงเร่งด่วนลดประสิทธิภาพ และได้เจรจากับ BTSC เพื่อปรับลดค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 1 จากเดิม 2,731,199,852.94 บาท เหลือ 2,348,659,232.93 บาท (ลดลง 382,540,650.01 บาท)
- ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ให้ กทม. และกรุงเทพธนาคมชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยภายใน 180 วัน กทม. ได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นดอกเบี้ย โดยระบุว่าไม่ควรรับผิดในส่วนนี้
2. การฟ้องครั้งที่ 2
- ครอบคลุมหนี้ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 - ธันวาคม 2567 ซึ่งยังไม่มีการชำระ และเป็นส่วนที่ค้างอยู่นอกเหนือจากคำพิพากษาครั้งแรก
นายนภาพลยังระบุว่า กทม. ได้ชี้แจงต่อศาลว่าไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรงกับ BTSC จึงไม่ควรรับผิดตามสัญญา ขณะที่กรุงเทพธนาคมโต้แย้งว่า BTSC ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการเจรจาร่วมทุนตามคำสั่ง คสช. และยอดหนี้ที่เรียกร้องสูงเกินจริง อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567
โดยเห็นว่าข้อโต้แย้งของ กทม. และกรุงเทพธนาคมเป็นประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาไปแล้ว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทมฯ
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากการชำระหนี้ทุกบาทต้องได้รับอนุมัติจากสภา ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง การตั้งคณะกรรมการวิสามัญของนายนภาพลจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการหาข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนเสนอญัตติเข้าสภา
สำหรับการก่อหนี้ผูกพันในอนาคต เช่น สัญญาจ้างเดินรถหลังจากนี้ นายชัชชาติระบุว่า ต้องให้สภาพิจารณาก่อน เพราะหากผู้ว่าฯ ไปก่อหนี้ผูกพันมูลค่าหลายแสนล้านโดยไม่ได้รับความเห็นชอบ จะกลายเป็นปัญหาทางกฎหมาย
ผู้ว่าชัชชาติยังชี้ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความซับซ้อน เนื่องจากอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ. ร่วมทุน) โดยตามหลักการ เมื่อสัมปทานสิ้นสุดในปี 2572 รถไฟฟ้าทั้งหมดจะกลับมาเป็นของ กทม. และรายได้จะตกเป็นของ กทม. แต่ปัจจุบันมีการจ้าง BTSC เดินรถล่วงหน้าไปถึงปี 2585 ซึ่งเกินกว่ากรอบสัมปทานเดิม ทำให้ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนต่อไป
นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายบริหารได้ตัดสินใจจ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาด้านกฎหมายและเงื่อนไขของ พ.ร.บ. ร่วมทุน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่เหลือก่อนสัมปทานจะสิ้นสุด
การชำระหนี้ BTS ของกรุงเทพมหานครในอดีต
ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นประเด็นคาราคาซังมานานหลายปี โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินที่กรุงเทพมหานครค้างชำระกับ BTSC ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยาย ก่อนหน้านี้ กทม. ได้ดำเนินการชำระหนี้บางส่วนไปแล้ว
โดยในวันที่ 4 เมษายน 2567 นายชัชชาติได้เปิดเผยว่า กทม. ได้ชำระหนี้ให้ BTSC ไปแล้ว 23,488 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ตามมติของสภากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 การชำระหนี้ครั้งนี้มาจากเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม. และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่สั่งให้ กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ชำระหนี้ภายใน 180 วัน
ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 สภากรุงเทพมหานครได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2568 จำนวน 14,549,503,800 บาท เพื่อชำระหนี้เพิ่มเติมให้ BTSC ซึ่งครอบคลุมค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด การชำระหนี้เหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามของ กทม. ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ค้างมานาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนที่ร่วมลงทุนกับ กทม.