posttoday

ภาษีศุลกากรของทรัมป์ ผลกระทบต่อพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ EV

10 เมษายน 2568

มาตรการ “วันปลดปล่อย” ของทรัมป์ กับการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อกระตุ้นภาคการผลิตในประเทศ แต่นักวิเคราะห์เตือน อาจทำให้ราคาพลังงาน รถยนต์ และน้ำมันแพงขึ้นทั่วโลก!

KEY

POINTS

  • มาตรการภาษีศุลกากรฉบับใหม่ของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต่อสินค้านำเข้า อาจทำให้สถานการณ์ขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานรุนแรงขึ้น
  • ผลกระทบของนโยบายดังกล่าวได้ลุกลามมาถึงความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เช่น อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐที่กำลังเติบโต
  • หนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นไปได้คือ ประเทศจีนอาจต้องขยายตลาดใหม่เพื่อส่งออกเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของตนไปยังประเทศอื่นๆแทน ซึ่งอาจเร่งให้การยอมรับเทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศต่างๆ เกิดขึ้นเร็วยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทรัมป์เรียกวันประกาศมาตรการภาษีครั้งสำคัญนี้ว่า “วันปลดปล่อย” (Liberation Day) ซึ่งจะมีผลต่อกระทบอย่างมากต่อสินค้าส่งออก-นำเข้าทั่วโลก โดยอ้างว่าการจัดเก็บภาษีมีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นการลงทุนในภาคการผลิตภายในประเทศ หลังจากอุตสาหกรรมของสหรัฐถูกย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมายาวนาน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์พลังงานหลายรายมองว่าการดำเนินการดังกล่าวเสี่ยงทำให้ราคาพลังงานไฟฟ้า รถยนต์ และน้ำมันเบนซินพุ่งสูงขึ้น

 

มาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่

ในสมัยดำรงตำแหน่งสมัยแรก เขาเคยใช้มาตรการนี้ และประธานาธิบดีไบเดนก็ดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกัน เพื่อรับมือกับการครอบงำของจีนในภาคการผลิต แต่ผลกระทบของนโยบายดังกล่าวได้ลุกลามมาถึงความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เช่น อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐที่กำลังเติบโต ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาแผงโซลาร์เซลล์จากจีนที่ตั้งโรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ผลกระทบจากมาตรการภาษีชุดใหม่นี้เป็นเรื่องยาก เพราะภาษีดังกล่าวส่งผลต่อทั้งอุตสาหกรรมพลังงานดั้งเดิม เช่น น้ำมันและก๊าซ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ โดยโครงการพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า เช่น กังหันลม มักประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนที่จัดหาจากซัพพลายเออร์ทั่วโลก และการประกอบขั้นสุดท้ายในสหรัฐ

 

ในปี 2023 สหรัฐนำเข้าชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานลมมูลค่าราว 1.7 พันล้านดอลลาร์จากยุโรป เม็กซิโก เวียดนาม และอินเดีย (ข้อมูลจาก Wood Mackenzie) อุตสาหกรรมพลังงานลม ซึ่งเคยประสบความยากลำบากภายใต้รัฐบาลทรัมป์ อาจเผชิญกับความท้าทายยิ่งขึ้น เพราะแม้จะประกอบในสหรัฐ แต่ส่วนประกอบจำนวนมากยังต้องพึ่งพาการนำเข้า เช่นเดียวกับแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ โดยการเก็บภาษีนำเข้า 25% อาจทำให้ต้นทุนการติดตั้งกังหันลมบนบก (Onshore Wind) สูงขึ้น 10% และต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนโดยรวมเพิ่มขึ้น 7% ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องการขยายศูนย์ข้อมูล (Data Centers) ที่ใช้พลังงานสูงเพื่อรองรับเทคโนโลยี AI และยานยนต์ไฟฟ้า

 

แม้ก่อนการประกาศภาษี นักวิเคราะห์ก็ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนแล้วเนื่องจากท่าทีไม่สนับสนุนของรัฐบาลทรัมป์ อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีอาจทำให้สถานการณ์ขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า เซอร์กิตเบรกเกอร์ และสวิตช์เกียร์ ซึ่งขาดแคลนมาแล้วติดต่อกันถึง 54 เดือน (ข้อมูลจาก ISM) สถานการณ์นี้ส่งผลต่อการตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากศูนย์ข้อมูล และทำให้การเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าใหม่เข้าสู่ระบบสายส่งเป็นไปอย่างล่าช้า

 

ภาษีศุลกากรของทรัมป์ ผลกระทบต่อพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ EV

 

จีนอาจมองหาตลาดใหม่สำหรับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

แม้มาตรการของทรัมป์ดูเหมือนจะสร้างอุปสรรคอุตสาหกรรมทั่วโลก แต่ก็อาจนำไปสู่ผลกระทบทางอ้อมที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะกับประเทศจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจพึ่งพาการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากขึ้นเรื่อยๆ การถูกกีดกันทางการค้าอาจผลักดันให้จีนขยายตลาดใหม่ เช่น อาจเกิดการเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศปากีสถาน หรือยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในประเทศบราซิล โดยปัจจุบัน สัดส่วนการส่งออกแบตเตอรี่ แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และรถยนต์ไฟฟ้าของจีนไปยังประเทศรายได้ปานกลางและต่ำ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่เราเริ่มเห็น และอาจทำให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเกิดขึ้นเร็วขึ้นในประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องของประเทศร่ำรวย

 

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็อยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นกัน แม้โรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐส่วนใหญ่ที่กำลังจะก่อสร้างจะเน้นผลิตรถยนต์ EV และแบตเตอรี่ แต่ก็ยังพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก การจัดเก็บภาษีอาจทำให้ต้นทุนรถยนต์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 15% ซึ่งอาจทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขึ้นราคาขาย ซึ่งอาจส่งผลให้ยอดขายลดลง โรงงานต้องปิดตัว และมีการเลิกจ้างงาน เพราะไม่สามารถย้ายฐานการผลิตได้อย่างรวดเร็ว

 

แม้ว่าสหรัฐจะเร่งการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังมีมาตรการ IRA (Inflation Reduction Act) มีผลบังคับใช้ โดยกำลังการผลิตเพิ่มจาก 14.5 กิกะวัตต์ในปี 2023 เป็น 50 กิกะวัตต์ในต้นปี 2025 แต่แผงโซลาร์เซลส์เหล่านี้ยังคงใช้ชิ้นส่วนนำเข้าเป็นหลัก ผลกระทบจากภาษีศุลกากรต่อการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐจะขึ้นอยู่กับอัตราภาษีใหม่และต้นทุนของวัตถุดิบนำเข้า หากต้นทุนของแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในสหรัฐเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับสินค้านำเข้า ก็อาจไม่ช่วยให้การผลิตในประเทศได้เปรียบ และแม้ว่าต้นทุนสุดท้ายของแผงที่ผลิตในสหรัฐจะไม่เพิ่มสูงเท่าสินค้านำเข้า ผู้บริโภคชาวอเมริกันก็อาจเลือกติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์น้อยลงอยู่ดี เนื่องจากภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าประเภทอื่น เช่น รถยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีเช่นกัน

 


ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร