เปิดแผนอัปเกรด “สนามบินสุราษฎร์ฯ” ดันประตูภาคใต้สู่มาตรฐานสากล
เปิดแผนอัปเกรด “สนามบินสุราษฎร์ธานี” เพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินเท่าตัว ยกระดับสู่มาตรฐานสากล หนุน “สนามบินมีชีวิต” ปั้นประตูสู่ภาคใต้เต็มรูปแบบ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ติดตามความคืบหน้าแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีครั้งสำคัญ
พร้อมสั่งการกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งเสริมศักยภาพรองรับผู้โดยสารและยกระดับมาตรการความปลอดภัยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล
ภายใต้แนวคิด “สนามบินมีชีวิต” เพื่อเป็นประตูสู่ภาคใต้ที่แข็งแกร่ง รองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
การเดินทางลงพื้นที่ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในวันที่ 24 เมษายน 2568 มุ่งเน้นการติดตามความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี
ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน โดยเฉพาะงานก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่งและงานก่อสร้างทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน
ซึ่งใช้งบประมาณทั้งสิ้น 799 ล้านบาท ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าไปกว่า 90.50% และคาดว่าจะแล้วเสร็จในไม่ช้า
เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีจะสามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น
ที่สำคัญคือจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขึ้น-ลงของอากาศยานจากเดิม 9 ลำต่อชั่วโมง เป็น 18 ลำต่อชั่วโมง
ซึ่งจะส่งผลให้สามารถรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้มากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสทางการท่องเที่ยวและการค้าให้กับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียง
นอกจากงานโครงสร้างพื้นฐาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมยังได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพท่าอากาศยาน ประจำปีงบประมาณ 2568
โดยมุ่งเน้นการเสริมความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่ท่าอากาศยาน ซึ่งรวมถึงการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น รถดับเพลิง เครื่องตรวจอาวุธแบบเดินผ่าน
เครื่อง X-RAY แบบ Dual View X-RAY เครื่องตรวจสารวัตถุระเบิดแบบตั้งโต๊ะ (ETD) และการพัฒนาระบบตรวจการณ์พื้นที่การบินด้วยกล้อง Panorama ตลอดจนการปรับปรุงระบบการตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบ EDS ระบบ Digital Camera และระบบควบคุมพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร
มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับผู้โดยสาร บุคลากร และทรัพย์สินภายในท่าอากาศยาน ลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
และสนับสนุนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ
ในมิติของการบริการและอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร นางมนพร ได้เน้นย้ำให้ ทย. จัดพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารให้มีความคล่องตัว สะดวก และรวดเร็ว เพื่อลดความแออัด
โดยเฉพาะในบริเวณจุด Check-in และการลำเลียงกระเป๋า นอกจากนี้ยังกำชับเรื่องความสะอาดภายในท่าอากาศยาน การจัดเตรียมพื้นที่และจัดระเบียบการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอและไม่ติดขัด
เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ
พร้อมกันนี้ ยังได้เน้นย้ำแนวคิด “สนามบินมีชีวิต” โดยให้มีการจัดกิจกรรมภายในท่าอากาศยานเพื่อประชาสัมพันธ์จุดเด่นด้านการท่องเที่ยวและสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด
โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี มีอาคารที่พักผู้โดยสารที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,400 คนต่อชั่วโมง หรือประมาณ 4 ล้านคนต่อปี
มีลานจอดรถยนต์รองรับได้ 210 คัน และลานจอดอากาศยาน 11 หลุมจอด ซึ่งสามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ เช่น A330 และ B777 ได้พร้อมกัน 10 ลำ
หรืออากาศยานขนาดเล็ก เช่น A320 และ B737 ได้พร้อมกัน 19 ลำ โดยมีทางวิ่งยาว 3,000 เมตร กว้าง 45 เมตร รองรับได้ 9 เที่ยวบินต่อชั่วโมงตามสภาพปัจจุบัน
ขณะเดียวกันได้เปิดให้บริการศูนย์ขนส่งผู้โดยสารเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แล้ว
สำหรับอนาคต ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีมีแผนโครงการปรับปรุงและตกแต่งภายในอาคารที่พักผู้โดยสารเพื่อสร้างอัตลักษณ์ความเป็นจังหวัดอย่างชัดเจน
ตามนโยบาย “สนามบินมีชีวิต” ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยอยู่ระหว่างการขอรับจัดสรรงบประมาณสำหรับปี 2569 เพื่อผลักดันให้แผนดังกล่าวเป็นรูปธรรมต่อไป