ดัชนีความร้อน! ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร รู้ไว้ป้องกันทัน
ดัชนีความร้อนสูงอันตรายกว่าที่คิด ระดับไหนเสี่ยงตะคริว เพลียแดด หรือลมแดด รู้จักอาการเตือนภัย พร้อมวิธีป้องกันก่อนสายเกินไป
เมื่อเผชิญกับดัชนีความร้อนที่รุนแรง การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันภาวะลมแดด (Heat Stroke) และผลกระทบต่อสุขภาพอื่น ๆ ดัชนีความร้อน (Heat Index) คือค่าที่แสดงถึงความรู้สึกร้อนที่ร่างกายรับรู้ ซึ่งคำนวณจากอุณหภูมิอากาศร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์
ระดับดัชนีความร้อนและผลกระทบต่อร่างกาย
- 27–32°C อาจรู้สึกอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ
- 32–41°C เสี่ยงตะคริว เพลียแดด หากอยู่กลางแจ้งนาน
- 41–54°C เสี่ยงภาวะลมแดด (Heat Stroke) สูง
- มากกว่า 54°C อันตรายถึงชีวิต ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งโดยเด็ดขาด
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเผชิญกับดัชนีความร้อนสูง
1. ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 6–8 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์
2. สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เลือกเสื้อผ้าบางเบา สีอ่อน และไม่รัดแน่น เพื่อช่วยระบายความร้อน
3. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุด
4. รักษาความเย็นภายในบ้าน ปิดม่านหรือหน้าต่างในช่วงกลางวัน เปิดหน้าต่างในช่วงเย็น ใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ และล้างแอร์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อประสิทธิภาพในการทำความเย็น
5. เตรียมชุดปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ควรมีผงเกลือแร่ (ORS), ปรอทวัดอุณหภูมิ, ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น, พัดลมมือถือ หรือเครื่องพ่นละอองน้ำ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
การปฐมพยาบาลเมื่อเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke)
หากพบผู้ที่มีอาการเช่น ไข้สูงเกิน 40.5°C, ปวดศีรษะ, หน้ามืด, อ่อนเพลีย, ไม่มีเหงื่อออก, ผิวหนังแดง, พูดจาสับสน, หรือหมดสติ ควรดำเนินการดังนี้
- ย้ายผู้ป่วยไปยังที่ร่ม
- จัดท่าให้นอนหงาย ยกขาสูง
- ถอดเสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือประคบน้ำแข็งบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ
- ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
- หากผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำเกลือแร่
- รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีในช่วงที่ดัชนีความร้อนสูงจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลมแดดและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ