8 วินาทีตึกสตง.ถล่ม! เผยหลักฐานชี้โครงสร้างบิดตัวจากแผ่นดินไหว
1 เดือน แผ่นดินไหว การถล่มของอาคารสตง.ภายใน 8 วินาที เป็นผลจากโครงสร้างบิดตัวไม่สมมาตรหลังเกิดแผ่นดินไหว นักวิชาการชี้หลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันกลไกการวิบัติชัดเจน
ครบ 1 เดือน ตึกสตง.ถล่ม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวกรุงเทพเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 น่าสนใจว่าเรื่องนี้ยังไม่สามารถหาตัวคนที่รับผิดชอบมารับโทษจากเหตุตึกถล่มนี้ได้
ด้าน ดร. วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย ศาสตราจารย์วิชาวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คและวิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าว โดยเผยว่ามีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าโครงสร้างบิดตัวจากแผ่นดินไหว
และนี่คือข้อความจาก ดร. วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย
8 วินาทีที่พิสูจน์ความจริง: ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ของการถล่ม
27 เมษายน 2568
ในการบรรยายของผมที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า เจตนาของผมคือต้องการเข้าใจว่า การที่อาคาร สตง. ถล่มเป็นรูปแบบของแพนเค้ก (Pancake Collapse) จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย เกิดจากกลไกการวิบัติ (Mechanism) แบบใด
คำตอบที่ผมค่อนข้างมั่นใจคือ "การวิบัติโดยสิ้นเชิงของอาคารนี้ เกิดจากกลไกของการบิดตัวของอาคารที่ไม่สมมาตรจากแผ่นดินไหว ทำให้กำแพงปล่องลิฟท์และเสารับแรงบิดรอบตัวเองไม่ได้ จึงถูกทำลายในเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้อาคารในชั่วขณะเหมือนถูกยกลอยในอากาศ และถูกปล่อยลงมาด้วยน้ำหนักตัวเอง จึงมีอำนาจการทำลายมหาศาล"
การวิบัตินี้มีองค์ประกอบที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ 3 ข้อซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ คือ:
(1) เป็นการวิบัติโดยสมบูรณ์ (Total Collapse) โดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร หรือแม้กระทั่งกำแพงปล่องลิฟท์ค้างคาอยู่
(2) อาคารถล่มในแนวดิ่งโดยไม่เกิดการเอียง
(3) อาคารใช้เวลาวิบัติเพียง 8 วินาที (โดย 3 วินาทีแรกใช้ในการทำลายกำแพงและเสาชั้นล่าง และ 5 วินาทีหลังใช้เท่ากับเวลาที่วัตถุถูกปล่อยจากดาดฟ้าอาคารตกลงมาสู่พื้นดิน จึงนับได้ว่าเป็นเวลาที่กระชับมาก)
ผมยังยืนยันว่า ผมไม่ได้มีความประสงค์ตรวจสอบเพิ่มเติมว่า อะไรเป็นสาเหตุหรือมีส่วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปล่องลิฟท์และเสามีจุดอ่อนจนไม่สามารถทนทานต่อแรงเฉือนนี้ได้ ผมอยากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ฝ่ายรัฐตั้งขึ้นสอบสวนหาเอง
อนึ่ง การตั้งข้อสันนิษฐานว่า กลไกการวิบัติ (Mechanism) เป็นอย่างไรนั้น เราจำต้องพิสูจน์ว่า ข้อสันนิษฐานนั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้ง 3 ข้อข้างต้น
ผมได้รวบรวมข้อสันนิษฐานอื่นๆ ที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยไว้ โดยสมมติถ้าเกิดขึ้นจริง การวิบัติจะสอดคล้องกับหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้ง 3 ข้อดังกล่าวหรือไม่:
1. เครนที่ดาดฟ้ากระแทกหรือฉุดรั้งโครงสร้าง
การวิเคราะห์: มวลของเครนน้อยกว่ากำแพงปล่องลิฟท์มาก ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำให้กำแพงแตกย่อยจนราบกับพื้น (ขัดแย้งทั้ง 3 ข้อ)
2. เสาชั้นบนใกล้ดาดฟ้าหัก ทำให้พื้นถล่มเป็นชั้นๆ
การวิเคราะห์: การวิบัติจากชั้นบนอาจทำให้พื้นกระแทกชั้นล่างๆ ตามลำดับ แต่ไม่สามารถทำลายกำแพงปล่องลิฟท์ให้แตกละเอียดได้ทั้งหมด อีกทั้งการถล่มแบบนี้จะใช้เวลามากกว่า 8 วินาที ซึ่งไม่สอดคล้องกับเวลาการตกอิสระตามแรงโน้มถ่วง (ขัดแย้งข้อ 1 และ 3)
3. การแตกร้าวในแนวนอนของกำแพงปล่องลิฟท์ เหมือนที่พบในอาคารสูงที่ร้าว 5-6 หลัง
การวิเคราะห์: ลักษณะรอยร้าวในแนวนอนขนานกับพื้น เกิดจากการดัดตัว (bending mode) ในทิศตั้งฉากกับระนาบกำแพง หากกำแพงและเสาวิบัติในลักษณะนี้ อาคารจะต้องเอียงตัวและกำแพงจะไม่แตกละเอียด จนไม่เหลือร่องรอย คือจะแตกเฉพาะจุดที่ค่าโมเมนต์สูงสุดเท่านั้น นอกจากนี้จะต้องใช้เวลามากกว่า 8 วินาทีแน่นอน (ขัดแย้งทั้ง 3 ข้อ)
4. ฐานรากวิบัติจากปรากฏการณ์ดินเหลว (Soil Liquefaction)
การวิเคราะห์: หากวิบัติที่ฐานราก อาคารจะต้องเอียงอย่างเห็นได้ชัด กำแพงจะต้องมีซากเหลืออยู่ให้ตรวจสอบ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดดินเหลวจริงหรือไม่ (ขัดแย้งทั้ง 3 ข้อ)
5. การเชื่อมต่อเหล็กเสริมระหว่างพื้นเข้ากับกำแพงที่ใช้ Coupler ไม่ได้มาตรฐาน อาจกลายเป็นจุดอ่อน
การวิเคราะห์: แม้อาจเกิดการแยกตัวระหว่างพื้นกับกำแพง ทำให้พื้นหลุด ตกกระแทกเป็นชั้นๆ แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมกำแพงปล่องลิฟท์ถึงแตกละเอียดจนไม่เหลือร่องรอย นอกจากนั้น การถล่มแบบชั้นกระแทกชั้นถัดไปเป็นโดมิโน คงต้องใช้เวลาในการถล่มมากกว่า 8 วินาที (ขัดแย้งทั้ง 3 ข้อ)
6. โครงสร้างอาคารชั้นล่างอ่อนแอ (Soft Story)
การวิเคราะห์: กลไกนี้พบบ่อยในเหตุแผ่นดินไหว โดยวิบัติที่ชั้นที่อ่อนแอทำให้เกิดการพับตัว อาคารจะมีลักษณะ 'ขาพับ' ไม่ใช่ 'ขาลอย' และต้องมีการเอียงตัวให้เห็น รวมทั้งควรพบร่องรอยกำแพงเหลืออยู่ในซากปรักหักพัง
หมายเหตุสำคัญ: ที่ผมวิเคราะห์มาทั้ง 6 กรณี ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์ที่ว่า มันไม่ได้เกิด หรือ เกิดไม่ได้ เพียงแต่บอกว่า สถานการณ์เหล่านี้ จะเกิดจริงหรือไม่จริง มันก็ไม่เป็นเหตุผลที่ทำให้อาคาร สตง. ถล่มเป็นแพนเค็ก คือ ไม่ใช่ Cause กับ Effect กันโดยตรง