16 ม.ค. 67 ถือซิมมากกว่า 6 เบอร์ ไม่ยืนยันตัวตนต้องถูกระงับการใช้งาน
กสทช.ออกมาตรการกำจัดซิมผีป้องกันมิจฉาชีพ ดีเดย์ 16 ม.ค.67 ผู้ถือครองซิมตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไป ต้องมายืนยันตัวตน ไม่เช่นนั้นจะถูกระงับการใช้งาน และถูกเพิกถอนไปในที่สุด ด้าน 2 ค่ายมือถือขานรับนโยบาย เร่งแจ้งเตือนประชาชน
พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ กล่าวว่า กสทช.ได้เรียกประชุมอนุกรรมการบูรณาการฯ เพื่อกำหนดมาตรการของ กสทช. สำหรับผู้ถือครองซิมจำนวนมากตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไป ต้องมายืนยันตัวตน ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2567 นี้เป็นต้นไป หากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในกำหนด หมายเลขอาจถูกระงับการใช้งาน และถูกเพิกถอนไปในที่สุด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์
เนื่องจากซิมการ์ดโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องมีและใช้ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการโทรหาเหยื่อ, การส่งข้อความ หรือ sms แนบลิงก์, โอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ร่วมกับสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว มุ่งเน้นจัดระเบียบซิมการ์ด โดยเฉพาะหมายเลขในระบบเติมเงิน ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานจริง หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน
ปัจจุบัน จึงได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสาระที่สำคัญ ดังนี้
1.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน
2.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลข ขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน
หากไม่มายืนยันตนในกำหนด จะถูกพักใช้ ระงับการโทรออกและการใช้อินเทอร์เน็ต ยกเว้นโทรเบอร์ฉุกเฉิน และมีเวลาอีก 30 วัน หากยังไม่มีการยืนยันตน จะถูกเพิกถอนการใช้เบอร์ของซิมการ์ดที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมด
โดยในระยะแรกจะเร่งรัดให้ผู้ถือครองซิมการ์ด จำนวน 101 เลขหมายขึ้นไปเข้ามายืนยันตัวตนก่อน เนื่องจากมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่า คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ใช้บริการที่อยู่ในข่ายต้องยืนยันตัวตน มีประมาณ 3 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดในทุกเครือข่าย มาตรการดังกล่าว กสทช. ออกมาเพิ่มเติมเพื่อสกัดการทำงานของกลุ่มมิจฉาชีพ
จากที่มีอยู่เดิม 7 มาตรการ อาทิ การระงับการโทรเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบที่คนร้ายใช้อยู่เป็นประจำหรือไม่ทราบแหล่งที่มา, เพิ่ม Prefix +697 และ +698 หน้าเลขหมายการโทรเข้าจากต่างประเทศผ่าน VOIP และ Roaming ตามลำดับ, การจัดทำบริการ *138 ปฏิเสธการรับสายต่างประเทศ, จัดระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ส่งข้อความไปยังผู้รับจำนวนมากๆ (Sender name), จำกัดจำนวนการลงทะเบียนซิมการ์ด และยกเลิกการส่ง SMS แนบลิ้งค์ บางประเภท เป็นต้น
การออกมาตรการดังกล่าว ดำเนินการควบคู่ไปกับการออกกวาดล้างจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมเถื่อน และแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุคมนาคมผิดกฎหมาย รวมทั้งจัดระเบียบเสาสัญญาณตามแนวชายแดนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต
ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละค่าย จะเป็นผู้พัฒนารูปแบบและวิธีการลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้าของตน และมีหน้าที่ต้องแจ้งเตือนให้ผู้ถือครองซิมการ์ด ที่เข้าข่ายให้มาดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้กระทบต่อผู้ใช้บริการที่สุจริตน้อยที่สุด
ด้านพล.ต.ท.ธัชชัย ปีตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านอาชญากรรมเทคโนโลยี กล่าวว่าภายหลังจากที่มาตรการดังกล่าวของ กสทช. มีผลบังคับใช้ จะทำให้กระบวนการสืบสวนขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อมีการกำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากมายืนยันตัวตน จะทราบตัวผู้ใช้งานที่แท้จริง หากไม่มายืนยันตนในกำหนด ซิมการ์ดนั้นจะถูกระงับการใช้งานและถูกเพิกถอนจากระบบไปในที่สุด เพราะซิมการ์ดเหล่านั้นอาจตกอยู่ในความครอบครองของพวกมิจฉาชีพแล้ว ทำให้จำนวนซิมผีในตลาดมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งเมื่อมีคดีเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่สามารถขยายผลจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ลงทะเบียน รวมไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีม้า ไปถึงตัวการใหญ่ได้ต่อไป
นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ปัญหาการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่สร้างความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง เราเองมีความห่วงใยลูกค้าและประชาชนในประเด็นนี้อย่างยิ่ง ที่ผ่านมาจึงมุ่งมั่นสื่อสาร สร้างองค์ความรู้ด้านทักษะดิจิทัลในการรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ ทั้งฝ่ายความมั่นคง อย่างตำรวจไซเบอร์ กระทรวงดีอี และ กสทช. เพื่อดูแล ปกป้อง ความปลอดภัยของลูกค้าและประชาชนภายใต้ โครงการ AIS อุ่นใจไซเบอร์ ในหลากหลายรูปแบบ
ล่าสุดจากนโยบายของ กสทช. ในการปราบปรามการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ ที่ได้ประกาศหลักเกณฑ์การยืนยันตัวตนและข้อมูลการใช้บริการ สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาที่ถือครองเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบรายเดือนและเติมเงินจำนวนตั้งแต่ 6 เบอร์ขึ้นไป ต้องดำเนินการยืนยันตัวตน เพื่อป้องกันการแอบอ้างจากมิจฉาชีพ ที่จะนำหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปกระทำความผิด
AIS พร้อมอำนวยความสะดวกลูกค้าจากนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยจะดำเนินการส่ง SMS แจ้งเตือนไปยังหมายเลขที่เข้าข่ายต้องดำเนินการยืนยันตัวตน ในวันอังคารที่ 16 ม.ค. 2567 ด้วย Sender “AIS” (ไม่มี link แนบ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิและป้องกันการถูกระงับใช้งานชั่วคราว ลูกค้าสามารถดำเนินการยืนยันตัวตนได้ภายในเวลาที่กำหนด ผ่าน AIS Shop, AIS Telewiz และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ หรือสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่าน 2 ช่องทาง 1. กด*161*2*เลขบัตรประชาชน# โทรออก ฟรี (รอรับ SMS ทำตามขั้นตอน) 2. ผ่านแอป myAIS (สำหรับลูกค้าระบบเติมเงิน)
ส่วนกรอบเวลาที่ลูกค้าสามารถดำเนินการยืนยันตัวตน มี 2 ช่วง คือ
1. จำนวนหมายเลขที่ถือครองตั้งแต่ 6 – 100 เลขหมาย ต้องดำเนินการยืนยันตัวตน ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งทาง SMS
2. จำนวนหมายเลขที่ถือครองตั้งแต่ 101 เลขหมายขึ้นไป ต้องดำเนินการยืนยันตัวตน ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งทาง SMS
สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ดำเนินการยืนยันตัวตนตามเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการปกป้องความปลอดภัยจากการถูกมิจฉาชีพลักลอบนำเบอร์ไปใช้ บริษัทฯ จะดำเนินการระงับการใช้งานชั่วคราว โดยจะยังคงรับสายและใช้เน็ตเข้า AIS Website และ แอป myAIS ได้ แต่ไม่สามารถโทรออกได้ (ยังคงโทรหมายเลข Emergency และ AIS Call Center ได้) โดยลูกค้าสามารถมายืนยันตัวตนเพื่อเปิดการใช้งานได้ผ่านช่องทางข้างต้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ais.th/consumers/lifestyle/blog/public-relations/identity-verification-policy-for-user-registration
ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีภัยคอลเซ็นเตอร์และการโกงทางไซเบอร์ที่ระบาดสร้างความเสียหายต่อประชาชนทำให้เกิดความสูญเสียเป็นเม็ดเงินมหาศาลอย่างต่อเนื่อง ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในฐานะผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่ต้องมีส่วนร่วมขจัดภัยที่เกิดจากการสื่อสารของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงมาในยุคดิจิทัล และดูแลลูกค้าทุกคนให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามดังกล่าว โดยยินดีร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน
ล่าสุดพร้อมสนับสนุนตามมาตรการของสำนักงานกสทช. เรื่องการยืนยันตัวตนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยได้พัฒนาและวางระบบที่มีความปลอดภัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทรูมูฟ เอช และดีแทค ทั้งแบบรายเดือนและแบบเติมเงินที่ถือครองซิมตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไป ใช้ในการยืนยันตัวตนเพื่อให้ใช้งานซิมได้อย่างต่อเนื่อง
บริษัทฯ จะดำเนินการส่ง SMS แจ้งลูกค้าตามข้อกำหนด ให้ทยอยลงทะเบียนตามวันเวลาที่สะดวกภายในระยะเวลาที่กำหนด คือลูกค้าที่ถือครองซิมตั้งแต่ 6 – 100 ซิม ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน ถึง 13 ก.ค.2567 และลูกค้าที่ถือครองซิมตั้งแต่ 101 ซิมขึ้นไป ยืนยันตัวตนภายใน 30 วันหรือถึง 14 ก.พ. 2567ทั้งที่ช็อป และออนไลน์ที่มั่นใจในความปลอดภัยได้ด้วยระบบ OTP
ทั้งนี้ ลูกค้าทรูและดีแทค สามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
1. ทรูช็อป หรือ ศูนย์บริการดีแทค ทั่วประเทศ
2. ช่องทางออนไลน์ผ่านเว็ปไซต์ https://www.true.th/re-id/true และ https://www.true.th/re-id/dtac
หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ คอลเซ็นเตอร์ ทรูมูฟ เอช 1242 และ ดีแทค 1678