posttoday

หมดยุคไกด์อธิบาย เมื่อกระจกแสดงข้อมูลสิ่งที่มองแบบเรียลไทม์

17 มกราคม 2567

ในการท่องเที่ยวแต่ละครั้งเมื่อต้องการนั่งรถชมเมือง เราอาจขัดใจเวลาอยากหาข้อมูลสถานที่แต่ละแห่งแต่มีข้อมูลไม่เพียงพอ ครั้นจะก้มลงไปค้นหาก็รู้สึกเสียบรรยากาศ แต่ปัญหาทุกอย่างจะหมดไป เมื่อมีการพัฒนากระจกให้แสดงข้อมูลสิ่งที่เรามองแบบเรียลไทม์

หลายท่านที่เคยมีประสบการณ์ท่องเที่ยวเป็นกลุ่มหรือไปกับทัวร์ย่อมเข้าใจดี บางครั้งเวลาเราสนใจสถานที่ สิ่งของ หรือข้อมูลใดเป็นพิเศษ แต่ไกด์ที่รับหน้าที่กลับละเลยไม่ได้อธิบายหรือลงรายละเอียดในเรื่องที่เราอยากรู้ ทำให้เราพลาดข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่น่าสนใจเหล่านั้นไปอย่างน่าเสียดาย

 

          ปัจจุบันปัญหาจากข้อจำกัดดังกล่าวเริ่มลดลงเมื่อเราเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงและค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ดังใจแม้ไม่มีใครคอยบอก อย่างไรก็ตามในสถานการณ์จริงการหยิบอุปกรณ์ค้นหาขึ้นมาใช้งานอยู่เรื่อยๆ อาจทำให้เราพลาดช่วงเวลาสำคัญหรือทิวทัศน์หาชมยากไปเช่นกัน

 

          แต่จะเป็นอย่างไรหากกระจกที่เราจ้องมองสามารถแสดงข้อมูลของสิ่งที่เรากำลังดูอยู่ได้ทันที

 

หมดยุคไกด์อธิบาย เมื่อกระจกแสดงข้อมูลสิ่งที่มองแบบเรียลไทม์

 

กระจกที่แสดงข้อมูลของสิ่งที่เรากำลังมองแบบเรียลไทม์

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Industrial Technology Research Institute(ITRI) จากไต้หวัน กับการพัฒนาแผงหน้าจอโปร่งใสที่สามารถคาดการณ์ทิศทางมุมมองสายตาของผู้ใช้งาน และตรวจข้อมูลของสิ่งที่อยู่บนอีกฟากของหน้าจอจนแสดงข้อมูลออกมาได้แบบเรียลไทม์

 

          แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการใช้งานสถานที่ท่องเที่ยวจริง ซึ่งบางครั้งผู้เยี่ยมชมอาจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมของสถานที่ สิ่งของ หรือบุคคลที่อยู่อีกฟากของหน้าจอ แต่หากจะละสายตาไปหาข้อมูลบนสมาร์ทโฟนก็ให้ความรู้สึกยุ่งยากเสียบรรยากาศท่องเที่ยวไปบ้าง จึงเป็นที่มาของหน้าสัมผัส microLED รุ่นใหม่

 

          หน้าจอชนิดนี้มีคุณสมบัติโปร่งใสครอบคลุมพื้นที่ผิวนอกของกระจกทั้งแผ่นเอาไว้ โดยจะมีกล้องตัวจิ๋วติดตั้งอยู่เหนือกระจกเพื่อติดตามทิศทางมุมมองสายตาของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ในการประเมินว่าผู้ใช้งานในปัจจุบันกำลังจ้องมองส่วนใดของหน้าจอ

 

          ขณะเดียวกันทางด้านนอกกระจกพวกเขาสามารถติดตั้งกล้องจับภาพ เพื่อประเมินภาพทางด้านนอกกระจกว่ากำลังจับภาพที่วัตถุหรือสิ่งมีชีวิตใด จากนั้นจะทำการประมวลผลและแสดงข้อมูลของสิ่งนั้นขึ้นมาเป็นข้อความด้านข้าง โดยที่ผู้ใช้งานสามารถใช้นิ้วมือเพื่อขยายข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกด้วย

 

          ล่าสุดพวกเขายังได้พัฒนาระบบให้รองรับการใช้งานร่วมกับระบบ GPS ทำให้การใช้งานไม่จำกัดเพียงอยู่กับที่ แต่หน้าจอสามารถติดตั้งให้แสดงผลลงบนยานพาหนะตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้สามารถแสดงผลข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวแบบเรียลไทม์ในระหว่างการเดินทางได้ทันที

 

          ถือเป็นอีกตัวเลือกน่าสนใจที่จะช่วยเพิ่มขีดความน่าตื่นตาและขีดความสามารถทางการท่องเที่ยว

 

หมดยุคไกด์อธิบาย เมื่อกระจกแสดงข้อมูลสิ่งที่มองแบบเรียลไทม์

 

สู่การใช้งานที่อาจครอบคลุมในหลายรูปแบบ

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านคงเริ่มเห็นภาพแล้วว่าเทคโนโลยีนี้อาศัย Augmented reality(AR) ในการแสดงรายละเอียดข้อมูลสิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอ ช่วยเพิ่มรายละเอียดข้อมูลของวัตถุหรือสถานที่ที่ต้องการนำเสนอ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในการท่องเที่ยวและเรียนรู้ต่างๆ

 

          แผงหน้าจอโปร่งใสนี้ไม่ได้อยู่ในขั้นระหว่างการพัฒนา แต่มีการใช้งานจริงเป็นที่เรียบร้อยใน AI Aquarium ในไต้หวัน ตู้จัดแสดงแต่ละตู้จะได้รับการติดตั้งหน้าจอให้แสดงข้อมูลของปลาแต่ละชนิด อาศัยระบบตรวจจับประมวลผลร่วมกับเอไอ ในการจับคู่และแสดงผลปลาที่กำลังว่ายผ่านหน้าจอจากสายตาของเราอย่างแม่นยำ

 

          จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ช่วยให้อควาเรียมดังกล่าวมีความน่าสนใจในการนำเสนอข้อมูล กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งการเรียนรู้เรื่องใต้ทะเลให้แก่เยาวชน และด้วยความนิยมในสถานที่นี้เองจึงนำไปสู่การต่อยอดหน้าจอชนิดนี้เข้ากับสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบอื่น

 

          นำไปสู่การนำระบบนี้ทำงานควบคู่กับ GPS สู่การแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่แบบเรียลไทม์ ด้วยระบบนี้จะช่วยให้ผู้โดยสารมีโอกาสศึกษาเรียนรู้ข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งระหว่างการเดินทาง เป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งในเมืองแก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง

 

          ตัวหน้าจอที่ได้รับการพัฒนาให้ใช้แสดงผลสถานที่แบบเรียลไทม์นี้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่หน้าต่างรถโดยสาร, รถไฟ, กระเช้าลอยฟ้า, เรือท่องเที่ยว หรือแม้แต่เรือสำราญ ไปจนการใช้งานควบคู่กับสถานที่แบบอื่นอย่างพิพิธณภัณฑ์ สวนสัตว์ กระทั่งงานแสดงศิลปะต่างๆ

         

          นี่จึงเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่ใช้ประโยชน์จาก AR ที่ช่วยยกระดับการท่องเที่ยวไปอีกขั้นอย่างแท้จริง

 

 

 

          แน่นอนการใช้งานหน้าจอชนิดนี้ไม่ได้จำกัดการใช้งานเพียงการท่องเที่ยว ในอนาคตหน้าจอนี้อาจถูกนำไปใช้ในงานจัดแสดงสินค้า งานส่งเสริมการขาย ไปจนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ช่วยให้การนำเสนอในงานจัดแสดงและเวทีต่างๆ มีความน่าดึงดูดและตื่นตาตื่นใจได้อีกมาก

 

          หรือจะเรียกว่าเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ภาพการใช้โฮโลแกรมในภาพยนตร์ใกล้ความจริงอีกก้าวก็คงได้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://newatlas.com/electronics/ai-interactive-vehicle-display-eye-tracking-bus-window/

 

          https://newatlas.com/good-thinking/itri-ai-aquarium