posttoday

Nimona แอนิเมชันเข้าชิงออสการ์ ที่สรรเสริญทุกความแตกต่างตั้งแต่ระบบ!

28 มกราคม 2567

Nimona แอนิเมชันที่เข้าชิงออสการ์ปีนี้ ด้วยพล็อตเรื่องที่สรรเสริญทุกความแตกต่างตั้งแต่ระบบจนถึงรายบุคคล แอนิเมชันน้ำดีอีกหนึ่งเรื่อง ที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกไปไกลมากแค่ไหนจากที่เคยเป็น!

แม้ว่าจะฉายในเน็ตฟลิกส์ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่กระแสของ Nimona ก็เพิ่มขึ้นเมื่อได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา Best Animated Feature หลังจากที่เดินสายคว้ารางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วโลกมาแล้ว

 

Nimona ถูกพัฒนามาจากนิยายภาพ ซึ่งตอนเป็นนิยายภาพก็ได้รับการพูดถึงมากตั้งแต่ปี 2015 หลังจากนั้นในปี 2017 ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Blue Sky Studios ซึ่งเป็นผู้ผลิตแอนิเมชันอย่าง Ice Age ฯลฯ ก็ติดต่อซื้อไปผลิตเป็นภาพยนตร์แต่ก็ต้องสะดุดและพับโครงการไปเมื่อ Disney ได้เข้ามาซื้อ 20th Century Fox ซึ่งเป็นสตูดิโอแม่และยุบสตูดิโอ Blue Sky Studios ลง  จนกระทั่งในปี 2022 Annapurna Pictures / Netflix และ DNEG Animation ได้ตัดสินใจสานต่อเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าด้วยรางวัลที่คว้ามา และผลตอบรับก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาตัดสินใจไม่ผิด!

 

Nimona เมื่อครั้งเป็นนิยายภาพ

 

สำหรับแอนิเมชันเรื่องนี้ พูดถึง บาลิสเตอร์ โบลด์ฮาร์ท อัศวินในอาณาจักรที่ไต่เต้ามาจากคนธรรมดาสามัญ ซึ่งน้อยครั้งที่จะได้รับการยอมรับ เพราะอัศวินในอาณาจักรนี้ต่างสืบทอดมาจากสายเลือดของอัศวิน แต่แล้วเมื่อเขาถูกใส่ร้ายว่าปลงพระชนม์ราชินีของอาณาจักร ชีวิตของโบลด์ฮาร์ท ที่สัตย์ซื่อต่อเรื่องราวที่ว่า อัศวินต้องปกป้องอาณาจักรจากมอสเตอร์ที่อยู่นอกกำแพงเมือง ก็ค่อยๆ ทะลายลง หลังจากที่เขาได้รับการช่วยเหลือจาก นิโมนา (Nimona) ตัวเอกซึ่งสามารถแปลงร่างเป็นอะไรก็ได้อย่างที่ใจนึก เพื่อช่วยกันสืบหาความจริงของเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ รวมไปถึงค่อยๆ เปิดตัวตนของนิโมนา ว่าเธอคือใครกันแน่?

 

Nimona ตัวเอกของเรื่องใน Netflix

 

โลกที่อยากจะเห็นระบบที่ยอมรับความแตกต่าง ไม่ใช่กลัวความแตกต่าง ด้วยการตั้งคำถาม?

 

แม้เนื้อเรื่องของ Nimona จะผูกอยู่กับเรื่องของมอนสเตอร์ และอัศวิน อย่างเช่นที่เราเคยเห็นในการ์ตูนหรือแอนิเมชันหลายเรื่อง แต่ Nimona ใช้องค์ประกอบดังกล่าวในเชิงของสัญลักษณ์มากกว่า เพื่อที่จะบอกว่า ‘ระบบที่เคยถูกสั่งสอน และบอกกันมานั้นจริงหรือไม่’

จุดเด่นของเรื่องคือการที่อยากจะผลักดันให้คนที่ดูแอนิเมชันเรื่องนี้กล้าที่จะ ‘ตั้งคำถาม’ กับทุกสิ่งที่เคยทำตามๆ กันมา  ดั่งเช่นที่ Nimona บอกกับอัศวินบาลิสเตอร์ ให้ตั้งคำถามกับสถาบันอัศวินที่เขาเติบโตขึ้น และคอยบอกว่าเขาโดนล้างสมองมาอย่างไร

 

อัศวิน Boldheart และ Nimona

 

'การล้างสมอง และ การยึดถือขนบธรรมเนียมเดิม' เป็นสองเรื่องที่แอนิเมชันส่งสารมายังคนดูอย่างเด่นชัด ให้พวกเราได้ตัดสินใจว่าเป็นฝั่งไหนกันแน่  และด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้ที่อยากจะผลักดันให้คนดูรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับสิ่งเดิมๆ ในโลกเดิมๆ พวกเขาจึงวางพล็อตให้เห็นว่าการยึดติดความเชื่อเดิมๆ บางครั้งก็เกิดความผิดพลาดได้มากแค่ไหน เพราะความเชื่อดังกล่าวถูกบิดเบือนไปและแทบไม่ได้รับการพิสูจน์แต่อย่างใด

รวมไปถึงผลของการไม่กล้าที่จะตั้งคำถาม ส่งผลให้โลกแบบเดิมที่ปกครองประชาชนโดยใช้หลักการของความกลัว เพื่อเข้าครอบงำแบบไร้เหตุผลส่งผลอย่างไรได้บ้าง ดังในเรื่องที่ 'ความกลัว' และการยึดติดกับขนบเดิม ส่งผลให้คนที่อยู่เบื้องหลังการปลงพระชนม์พระราชินีตัดสินใจทำทุกสิ่งที่ผิดๆ ได้แม้แต่การฆ่าชีวิตมนุษย์!

อันที่จริงพอดูจบแล้วได้ประมวลผลถึงประเด็นนี้ในภาพยนตร์และเปรียบเทียบกับโลกแท้จริงทุกวันนี้ ก็พบว่าเราเชื่อหลายสิ่งผ่านการสั่งสอนให้เชื่อตามกันมา แต่ไม่ใช่เกิดจากการตั้งคำถามและพิสูจน์ และเราความเชื่อหลายอย่างบนโลกใบนี้เกิดจากความเกรงกลัว เพราะความไม่รู้ของมนุษย์ก็มีให้เห็นมากมาย  ยกตัวอย่างเช่น ความกลัวเรื่องความตายแล้วจะไปไหน จนกลายเป็นช่องทางของศาสตร์หลายชนิด ความกลัวต่อเรื่องเพศสภาพ จนนำมาซึ่งข้อห้ามหลายประการในบางประเทศ หรือในบางประเทศที่ห้ามไม่ให้ตั้งคำถามกับเรื่องบางเรื่อง ก็ทำให้เราไม่สามารถรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน

 

อัศวินของอาณาจักรในเรื่อง

 

Nimona เมื่อแตกต่างคืออิสระที่แท้จริง

 

นอกจากพล็อตที่พูดถึงการท้าทายระบบเดิมแล้ว องค์ประกอบที่เด่นที่สุดของเรื่องก็ต้องยกให้ Nimona ตัวเอกของเรื่องนั่นเอง  Nimona โดนเด็กๆ ในอาณาจักรเกลียดชัง ไปจนถึงเพื่อนรักของเธอในวัยเยาว์ เพียงแต่เธอ ‘แตกต่าง’ จากคนอื่น เพราะว่าเธอสามารถแปลงร่างได้ จึงถูกตีตราว่าเป็นสัตว์ประหลาดหรือมอนสเตอร์

เมื่อเรื่องดำเนินไปในตอนแรกอัศวินบาลิสเตอร์ถามเธอว่า ‘เธอเป็นอะไรกันแน่’ หรือ ‘เป็นเด็กผู้หญิงปกติจะดีกว่า’ Nimona กลับตอกซะหงายหลังว่านี่เป็น ‘คำถามที่ใจแคบ’ ซะเหลือเกิน เธอบอกว่าเธอก็เป็นแค่ Nimona ที่มีความสามารถในการแปลงร่าง และการแปลงร่างคือตัวตนของเธอ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกว่าเธอเป็นอิสระ

 

Nimona แปลงร่าง

 

อย่างไรก็ตาม Nimona เองก็มีแผลจาก ‘ความแตกต่าง’ เช่นกัน ผ่านบทสนทนาของเธอที่ว่า ‘ถ้าเป็นวายร้ายครั้งหนึ่งก็ต้องเป็นตลอดไป’ ซึ่งทำให้เห็นว่าเธอไม่เคยหวังว่าโลกนี้จะเมตตาต่อเธอ หรือเห็นเธออย่างที่เธอเป็นจริงๆ จนอยากทำลายความเชื่อดั้งเดิมให้สิ้นซากลงไป ในขณะที่เธอเอง แม้จะโดนเกลียดชังก็ไม่ยอมกลายเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาอย่างที่โลกอยากให้เธอเป็นเช่นกัน .. ระบบกับตัวตนของเธอจึงกลายเป็นคู่อริอย่างเสียไม่ได้!

เช่นเดียวกับตัวละครอัศวินบาลิสเตอร์ ที่ดูเหมือนว่าเขาจะเข้าใจเธอได้รวดเร็ว เพราะเขาเองก็มีความรักกับเพื่อนชาย แม้ตอนแรกเขาจะบอกว่ามันค่อนข้างเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘ซับซ้อน’ แต่เมื่อเรื่องราวคลี่คลาย เขาก็กล้าใช้ชีวิตแบบซับซ้อนนั้นอย่างเปิดเผย

 

สองตัวเอกของเรื่อง

 

เมื่อดูจนจบเรื่องหนึ่งที่ชื่นชม Nimona มากจริงๆ นั่นคือ การพูดถึงประเด็นความแตกต่าง ที่ไม่ได้เน้นไปที่แค่เรื่องเพศสภาพ ประเด็นการเป็นชายรักชายของอัศวินบาลิสเตอร์ ไม่ได้เป็นประเด็นหนักและฮุกใจมากเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับประเด็นการเป็นตัวประหลาดของ Nimona  และระบบที่ผลักคนที่แตกต่างให้เป็นผู้ร้าย โดยไม่ให้โอกาสที่จะถามคำถาม กลับกลายเป็นประเด็นที่หนักแน่นกว่า และนั่นทำให้ ‘โลกของความแตกต่าง’ แตกต่างอย่างแท้จริง มากกว่าการมุ่งไปที่ประเด็นเรื่องเพศสภาพเพียงอย่างเดียว

 

เพราะความแตกต่างนั้น มีได้หลายรูปแบบบนโลกใบนี้ ตามใดที่เราไม่ ‘ใจแคบ’ จนเกินไปก็เท่านั้น