posttoday

อีกหนึ่งภัยเงียบ การใช้เซ็นเซอร์วัดความสว่างสอดแนมสมาร์ทโฟน

02 กุมภาพันธ์ 2567

อีกหนึ่งภัยเงียบ การใช้เซ็นเซอร์วัดความสว่างสอดแนมสมาร์ทโฟน ที่ผ่านมาเราอาจระแวงกล้องและไมโครโฟนในสมาร์ทโฟน ในกรณีถูกแทรกแซงอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเรารั่วไหลแต่ล่าสุดยิ่งล้ำไปกว่านั้น เมื่อเซ็นเซอร์วัดความสว่างอาจใช้ในการสอดแนมได้เช่นกัน

ปัจจุบันสมาร์ทโฟนมีการใช้งานกันแพร่หลายทั่วไปภายในสังคม ด้วยฟังก์ชันการใช้งานครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การติดต่อสื่อสาร, ค้นหาข้อมูล, ถ่ายรูป, ดูหนัง, ฟังเพลง, เล่นเกม หรือแม้แต่ชำระเงิน สามารถใช้งานทดแทนอุปกรณ์หลายชนิดในเครื่องเดียว เพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตขึ้นมาก

 

          อย่างไรก็ตามด้วยขีดความสามารถในหลายด้านที่ต้องกังวลไม่แพ้กันคือความปลอดภัย ถือเป็นส่วนน่ากังวลที่ได้รับการตั้งคำถามเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวละเอียดอ่อนของผู้ใช้งาน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความอันตรายยิ่งขึ้นหากมีการแทรกแซงจากภายนอก

 

          แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อช่องโหว่ในการแทรกแซงใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากเซ็นเซอร์วัดความสว่าง

 

อีกหนึ่งภัยเงียบ การใช้เซ็นเซอร์วัดความสว่างสอดแนมสมาร์ทโฟน

 

เซ็นเซอร์วัดความสว่างคืออะไร

 

          เราทราบกันดีว่าสมาร์ทโฟนที่เราใช้งานกันในปัจจุบันถือเป็นอีกหนึ่งสุดยอดนวัตกรรมของมนุษยชาติ จากการรวบรวมเอาวิทยาการล้ำสมัยมากมายไว้ด้วยกัน นำมาย่อส่วนและติดตั้งทั้งหมดเข้าไปในอุปกรณ์พกพาขนาดพอดีมือเครื่องเดียว ถือเป็นความก้าวหน้าแห่งเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

 

          ในจำนวนนั้นมีเซ็นเซอร์หลายชนิดที่ได้รับการติดตั้งไว้ภายในสมาร์ทโฟน เพื่อรองรับระบบการทำงานต่างๆ เช่น Accelerometer Sensor สำหรับตรวจจับการเอียงเครื่อง, Proximity Sensor ไว้ตรวจจับระยะห่างของผู้ใช้งานกับตัวเครื่อง, Temperature Sensor ในการตรวจจับอุณหภูมิ, Pressure Sensor ที่ใช้ตรวจจับแรงกด ฯลฯ

 

          ในจำนวนนั้นที่เรารู้จักและใช้งานบ่อยครั้งคือ Light sensor หรือ เซ็นเซอร์วัดความสว่าง มีหลักการทำงานคือ เซ็นเซอร์ตรวจจับการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากแสง นำไปสร้างสัญญาณอีกชนิดเพื่อตีความและอ่านค่า โดยสามารถวัดปริมาณความเข้มข้นแสงจากปริมาณสัญญาณที่สร้างขึ้น

 

          ตามปกติเซ็นเซอร์วัดความสว่างสามารถนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การเข้ารหัส, การส่งข้อมูล, ตัวประมวลผล, เซ็นเซอร์รักษาความปลอดภัย, โครงสร้างสื่อสารใยแก้วนำแสง กระทั่งเครื่องมือแพทย์ นี่จึงถือเป็นเซ็นเซอร์ที่ใช้งานทั่วไปและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

          สำหรับสมาร์ทโฟนเซ็นเซอร์วัดความสว่างจะทำหน้าที่ตรวจจับปริมาณแสงรอบข้าง เพื่อปรับความสว่างหน้าจอให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เรากำลังใช้งาน หรือก็คือระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ ช่วยให้เราสามารถใช้งานสมาร์ทโฟนได้ต่อเนื่องสบายตา ไม่จำเป็นต้องคอยนั่งปรับความสว่างจอตามสภาพแวดล้อมเอง

 

          แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อเซ็นเซอร์วัดความสว่างนี้สามารถใช้งานในการสอดแนมได้เช่นกัน

 

อีกหนึ่งภัยเงียบ การใช้เซ็นเซอร์วัดความสว่างสอดแนมสมาร์ทโฟน

 

การใช้เซ็นเซอร์วัดความสว่างของสมาร์ทโฟนในการสอดแนม

 

          ข้อมูลนี้ได้รับการเผยแพร่โดยนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology(MIT) กับการค้นพบว่า เซ็นเซอร์วัดความสว่างในสมาร์ทโฟน ไม่เพียงถูกใช้ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ แต่สามารถใช้ตรวจสอบและระบุท่าทางของผู้ใช้งานได้เช่นกัน

 

          การแทรกแซงฟังก์ชันสมาร์ทโฟนไม่ใช่ของใหม่เป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงมายาวนาน โดยเฉพาะระบบกล้องและไมโครโฟน เกิดการแทรกแซงและลอบเก็บข้อมูลภาพและเสียงผ่านสมาร์ทโฟน นำไปสู่ระบบปิดกั้นการเข้าถึงฟังก์ชันทั้งสองที่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงมีสิทธิใช้งาน

 

          แต่ล่าสุดได้มีการนำเสนอมุมมองใหม่ต่อเซ็นเซอร์วัดความสว่าง ในกรณีที่มีการแทรกแซงจากระยะไกลด้วยคอมพิวเตอร์พร้อมโปรแกรมเฉพาะ ก็สามารถเปลี่ยนเซ็นเซอร์ที่ใช้สำหรับปรับความสว่างหน้าจอให้แสดงผลภาพของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

 

          กลไกนี้อาศัยประโยชน์จากเซ็นเซอร์วัดความสว่าง ทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของมุมตกกระทบและความเข้มแสงที่ส่องจากหน้าจอ จากนั้นอัลกอริทึมจะสามารถนำข้อมูลความผันผวนดังกล่าวมาใช้ในการประมวลผล และแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานในช่วงเวลาดังกล่าวได้

 

          ด้วยวิธีการนี้เองหากสามารถแทรกแซงไปในเซ็นเซอร์วัดความสว่างของสมาร์ทโฟน จะช่วยให้สามารถสอดแนมท่าทางการเลื่อน ปัด หรือขยับมือระหว่างการใช้งานสมาร์ทโฟน และสามารถรวบรวมข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ไม่ยาก เช่น รหัสส่วนตัวของผู้ใช้งานจากเว็บไซต์และแอปพลิเคชันทั้งหลาย

 

          ที่ยิ่งไปกว่านั้นเซ็นเซอร์วัดความสว่างนี้แตกต่างจากกล้องหรือไมโครโฟน ทั้งสองฟังก์ชันเป็นระบบที่ถูกดูแลอย่างเข้มงวดการเชื่อมต่อ ใช้งาน และสั่งการจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตเข้าถึงจากระบบ อีกทั้งโดยมากจะอยู่ในสถานะปิดการทำงาน แตกต่างจากเซ็นเซอร์วัดความสว่างที่ทำงานอัตโนมัติทุกครั้งเวลาที่เราเปิดหน้าจอขึ้นมา

 

          ในทางทฤษฎีช่องโหว่จากเซ็นเซอร์วัดความสว่างนี้จึงไม่ต่างจากการถ่ายทอดสดตัวเราให้แก่แฮกเกอร์ตลอดเวลา

 

 

 

          อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้รับจากเซ็นเซอร์วัดความสว่างมีข้อจำกัดในหลายด้าน จากการขั้นตอนการทดสอบพบว่าขีดความสามารถการจับภาพขึ้นกับคุณภาพเซ็นเซอร์เป็นหลัก โดยเซ็นเซอร์ในสมาร์ทโฟนทั่วไปมีขีดจำกัดโดยเฉลี่ยที่ 3 นาที/เฟรม จึงอาจไม่สามารถติดตามข้อมูลของเราแบบเรียลไทม์แบบกล้องจริง

 

          แต่เพื่อรับมือความก้าวหน้าของเซ็นเซอร์วัดความสว่างที่อาจก่อปัญหาได้ในอนาคต ทางทีมวิจัยเสนอให้ระบบปฏิบัติการจำกัดเข้าถึงเซ็นเซอร์จากแอปพลิเคชันต่างๆ, ลดขีดความสามารถเซ็นเซอร์เพื่อให้ภาพที่ได้มีความละเอียดน้อยลง หรือย้ายตำแหน่งไปไว้ด้านข้าง ก็เป็นแนวทางน่าสนใจที่จะช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.thaimobilecenter.com/article-2557/understanding-sensors-on-

mobile-phone-and-smartphone.asp

 

          https://www.hwlibre.com/th/fotodetector/

 

          https://interestingengineering.com/science/your-phones-light-sensor-can-spy-on-you-without-a-camera-mit-study

 

          https://www.science.org/doi/10.1126/sciadv.adj3608