posttoday

V Craft แบรนด์สินค้าแฮนด์เมดจากคนพิการ ดันศักยภาพ สร้างอาชีพยั่งยืน

02 กุมภาพันธ์ 2567

รื้อภาพจำ ฝ่าขีดจำกัด สู่การสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน เรื่องราวของ "V Craft" แบรนด์สินค้าแฮนด์เมดจากฝีมือคนพิการ กับบทบาทของธุรกิจในการส่งเสริมความเท่าเทียม

แม้ในปัจจุบัน สังคมเริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งยังมีกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนพิการยังคงเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการสมัครงาน ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติที่มองว่าคนพิการมีศักยภาพด้อยกว่าคนทั่วไป ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายจ้างก็อาจกังวลว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์การทำงานให้เหมาะกับคนพิการ ทั้งๆที่เป็นโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน

คุณผึ้ง วันดี สันติวุฒิเมธี

คุณผึ้ง วันดี สันติวุฒิเมธี ผู้ก่อตั้งแบรนด์ V-Craft งานแฮนด์เมดจากคนพิการ ทั้งยังเคยร่วมงานกับผู้พิการทางสายตาที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี ประสบการณ์ตรงนี้จึงทำให้เธอมองเห็นว่า คนพิการมีศักยภาพมากกว่าที่สังคมมองพวกเขา

อย่างไรก็ตาม คนพิการจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อเราคิดเครื่องมือ คิดวิธีการสื่อสาร มีช่องทางที่ช่วยให้เขาทำงานได้มากที่สุด เราจะคิดบนพื้นฐานความคิดของคนทั่วไปไม่ได้ เราทำงานกับคนพิการเราต้องคิดว่ามีอะไรที่เขาขาด มีอะไรที่เขาทำไม่ได้ เราเข้าไปเสริมตรงจุดนั้น แล้วคนพิการจะไม่งอมืองอเท้า เขาจะลุกขึ้นมาสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ถ้าสังคมให้โอกาสเขา

ด้วยเหตุนี้ แนวคิดก่อตั้งแบรนด์ V Craft จึงเกิดขึ้น โดยคุณผึ้ง ระบุว่า ถ้าเราอยากทำธุรกิจเพื่อสังคมจริงๆ เราต้องสร้างให้คนยอมรับด้วยตัวสินค้าเอง เราเป็นแบรนด์ที่ทำงานร่วมกับคนพิการภายใต้ศักยภาพที่เขามี 

เราอยากให้ V Craft เป็นแบรนด์ที่เหมือนจิ๊กซอว์เชื่อมต่อระหว่างคนพิการกับสังคม ให้สังคมมองเห็นศักยภาพของคนพิการ แล้วตัวคนพิการก็มองเห็นศักยภาพในตัวเขาเอง เราอยากให้คนพิการได้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นในผลิตภัณฑ์ที่เขาทำ มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของทางแบรนด์ ให้เขามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ไม่ใช่แค่ลูกจ้าง-นายจ้าง 

ตัวสินค้าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังมีแค่งานถักที่มาจากฝีมือของผู้พิการทางการมองเห็น หากจะเรียกว่าเป็นเฟสแรกคงไม่ผิดนัก เแต่ในอนาคตยังอยากให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย และสร้างงานตามศักยภาพที่ผู้พิการมี ไม่จำกัดเฉพาะแค่คนตาบอดเท่านั้น 

V Craft แบรนด์สินค้าแฮนด์เมดจากคนพิการ ดันศักยภาพ สร้างอาชีพยั่งยืน

สังคมไทยตอนนี้สนับสนุนสิทธิคนพิการมากน้อยแค่ไหน

ในปัจจุบัน ตามกฎหมาย "จ้างงานคนพิการ" มีมาตรา 35 รองรับอยู่ ซึ่งเป็นการจ้างเหมาให้คนพิการไปทำงานในบริษัทต่างๆ โดยเจ้าของสถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานรัฐ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับผู้พิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงาน ในอัตราส่วนลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการ 100 คน ต่อผู้พิการ 1 คน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

หากนายจ้าง หรือสถานประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐ ไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการ ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งตามที่กฎหมายกำหนด เงินส่งเข้ากองทุนต้องไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ (ไม่น้อยว่า 119,720 บาทต่อปี) หรือให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการเพื่อให้คนพิการมีช่องทางประกอบอาชีพ

อย่างไรก็ตาม คนตาบอดมักได้รับการจ้างงานน้อยที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่มักด่วนประเมินศักยภาพพวกเขาไปแล้วว่าทำอะไรไม่ได้ คนตาบอดที่ถูกจ้างก็มักถูกจ้างให้ไปนวดพนักงานในบริษัท ไม่ได้ถูกจ้างเพื่อไปทำงานตามศักยภาพจริงๆ แม้จะเป็นการจ้างงานตามกฎหมาย แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้รับการยอมรับอยู่ดี และหากจะบอกว่า  “กฎหมายมี แต่ไม่ตอบโจทย์” คงไม่ผิดนัก เพราะนายจ้าง เขาก็มีสิทธิเลือกจ้าง 

ขณะที่ทางด้าน คุณตาล ปรียาวรีย์ มะโนจิตต์ หนึ่งในสมาชิกทีมผู้พิการจาก V Craft เล่าว่า ปัจจุบันเธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ด้วยรูปแบบการเรียนทางออนไลน์ เนื่องจากตัวเธอเองก็อยากได้วุฒิปริญญาตรีเพื่อนำไปสมัครงานต่อ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนล้วนต้องการอาชีพที่มั่นคง และเหนือสิ่งอื่นใดคือได้รับการยอมรับในทักษะและความสามารถที่ผู้พิการมี

คุณตาล ปรียาวรีย์ มะโนจิตต์

ทำไมสินค้าจากคนพิการยังไม่ถูกยอมรับ?

โครงการอบรมช่วยส่งเสริมคนพิการให้มีงานทำ คงเป็นโครงการที่หลายคนเคยเห็นผ่านตากันมาพอสมควร ด้วยจำนวนที่มีอยู่มากจนเกินจะนับไหว ซึ่งในเมื่อโครงการฝึกอาชีพมีมากขนาดนี้ เหตุใดการจ้างงานคนพิการยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยอยู่เรื่อยมา?

ตลาดสินค้าจากคนพิการ คงเป็นคำตอบสำหรับคำถามนี้ เพราะในปัจจุบันแม้โครงการฝึกอาชีพและทักษะของคนพิการจะมีอยู่มาก แต่เมื่ออบรมเสร็จกลับไม่มีตลาดหรือสถานที่ทำงานให้คนพิการได้แสดงศักยภาพ ซึ่งหากภาครัฐสามารถเข้ามาเสริมและต่อยอดในจุดนี้ได้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการได้อีกระดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองต่อไปว่า หากมีตลาดสินค้าจากคนพิการแล้ว สังคมจะยอมรับสินค้าของคนพิการได้ ตัวสินค้าเองก็ต้องสวย มีคุณภาพ เมื่อไม่มีคนช่วยออกแบบสินค้า คนส่วนใหญ่ก็จะซื้อเพราะความสงสาร ซื้อแค่อยากช่วย แต่สินค้าที่ได้ไปจะถูกใช้งานหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนพิการจะมีรายได้แค่ช่วงแรกเท่านั้น แต่เมื่อลูกค้าไม่ได้กลับมาซื้อซ้ำ รายได้ในช่วงหลังจากนี้ก็จะเริ่มลดลงและมีความไม่มั่นคงทางรายได้เกิดขึ้น ซึ่งการพยายามรักษาฐานลูกค้า ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาซื้อซ้ำ สินค้าได้รับการบอกต่อ ตัวสินค้าของคนพิการต้องสามารถขายตัวเองได้ทั้งในเรื่องความสวยและคุณภาพ 

V Craft แบรนด์สินค้าแฮนด์เมดจากคนพิการ ดันศักยภาพ สร้างอาชีพยั่งยืน

“ดีไซน์เนอร์” ถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก ในการช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์จากคนพิการแต่ละชิ้นให้มีความสวยงามจนเป็นที่ยอมรับในสังคมทั่วไปได้ และแน่นอนว่า “ทุน” ในการจ้างดีไซน์เนอร์นับเป็นปัจจัยใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แบรนด์ที่ทำงานกับคนพิการจึงมีต้นทุนที่สูงกว่าธุรกิจอื่น ซึ่งหากภาครัฐมองเห็นในเรื่องนี้และสามารถให้ทุนสนับสนุนเพื่อยกระดับสินค้าจากคนพิการได้ จะสร้างประโยชน์ต่อทั้งสังคมและกลุ่มเปราะบางได้มาก

คุณผึ้งระบุว่าทางแบรนด์ V Craft ยอมลงทุนไปกับการจ้างดีไซน์เนอร์ให้ช่วยออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ เพราะต้องการให้สินค้าจากผู้พิการมีความสวยงามและโดดเด่น ซึ่งเราพิสูจน์แล้วว่าเมื่อสินค้าจากคนพิการสวย เราสามารถขายได้ ช่วงที่ผ่านมา V Craft ได้ไปร่วมออกบูธในงาน Chiang Mai Coffee Week ซึ่งผู้ร่วมงานต่างให้ความสนใจในตัวสินค้า แต่ไม่ใช่เพราะเป็นผลงานจากคนพิการ คนสนใจเพราะตัวสินค้ามันขายตัวเองได้ มันมีความสวย ราคาเท่าไหร่เขาก็ยินดีจ่ายเพราะเขาอยากได้จริงๆ 

บูธเราไม่ได้นำเสนอเลยว่าสินค้าทุกชิ้นมาจากฝีมือคนตาบอด จนกระทั่งเขาตัดสินใจซื้อ เราเลยบอกเขาไปว่าเป็นฝีมือของคนตาบอดนะ ประกอบกับมีนักเรียนของเรานั่งถักอยู่ในบูธพอดี เมื่อลูกค้าเห็นเขาเลยยิ่งประทับใจ” 

 

คุณติงลี่ - คุณจิงโจ้ สมาชิกทีมผู้พิการจาก V Craft

เพราะทุกอย่างมีต้นทุน

คุณผึ้งยอมรับว่า ราคาสินค้าของแบรนด์ V Craft อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันในท้องตลาด แต่ราคาในจุดนี้แน่นอนว่าย่อมต้องมีที่มาที่ไป ทางแบรนด์ยอมลงทุนในการฝึกฝีมือให้กับคนตาบอด ซึ่งกว่าจะฝึกจนได้สินค้าที่สวยงามและสามารถวางขายได้ วัสดุอุปกรณ์ที่เสียไประหว่างทาง แน่นอนว่าอยู่ในจำนวนที่เยอะกว่าปกติเพราะพวกเขามองไม่เห็น 

“กว่าจะทำออกมาได้สวยขนาดนี้ เราใช้วัสดุในการฝึกทักษะคนเยอะมาก เชือกเสียไปเป็นกล่องๆ ตะกร้าเสียไปนับแทบไม่ถ้วน กว่าจะได้ขาย ต้องยอมรับว่าต้นทุนในการฝึกตรงนี้คือเยอะมากจริงๆ นี่คือต้นทุนที่มากกว่าสินค้าทั่วไป” 

 

“เราให้เขาทำงานที่บ้าน เพราะคนตาบอดเขาไม่สะดวกเดินทางอยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะมีต้นทุนด้านการขนส่ง เพราะต้องส่งของไปให้เขาที่บ้าน พอทำเสร็จก็ส่งกลับมาที่แบรนด์”

“อีกต้นทุนหนึ่งคือ ค่าคนเก็บงาน เพราะเราต้องยอมรับว่าคนพิการมีศักยภาพในการทำงานภายใต้สิ่งที่เขายังมีอยู่ คนที่บกพร่องด้านการมองเห็นเขาใช้ประสาทสัมผัสในการถักทอได้ แต่การเก็บงานให้ละเอียดอย่างตัดด้าย หรือติดกาวร้อน ตรงนี้ยังต้องอาศัยทักษะการมองเห็น ซึ่งเราปล่อยให้เขาทำคนเดียวหมดไม่ได้ เราต้องช่วยเสริมในจุดที่เขาทำไม่ได้ เราให้เขาทำงานอย่างเต็มศักยภาพจนขั้นตอนสุดท้าย” 

V Craft แบรนด์สินค้าแฮนด์เมดจากคนพิการ ดันศักยภาพ สร้างอาชีพยั่งยืน

องค์ความรู้ ชูแบรนด์ให้แตกต่าง

นอกจากจะมีดีไซน์เนอร์มาช่วยออกแบบและพัฒนาสินค้า V Craft ยังจัดการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหนึ่งในปัญหาของสินค้าคนพิการคือ พวกเขาไม่ได้รับการเติมความรู้ เมื่อจัดการอบรมไปแล้วครั้งหนึ่ง เขาก็จะสามารถถักได้แค่ลายเดียวและขายสินค้าแค่แบบเดียวตลอดชีพ V Craft จึงเล็งเห็นว่าต้องเพิ่มศักยภาพให้คนพิการอย่างต่อเนื่อง และต้องช่วยเติมความรู้ใหม่ๆ ให้พวกเขา รวมถึงคอยสังเกตว่าสมาชิกแต่ละคนถนัดงานถักแบบไหน เพราะแต่ละคนมีความชอบและความเชี่ยวชาญต่างกัน จะบังคับให้เขาทำออกมาดีเหมือนกันหมดไม่ได้ เมื่อรู้ว่าเขาชอบแบบไหน เราก็ให้เขาทำ

คุณจิงโจ้ รมณ รัตนพาหุ หนึ่งในสมาชิกทีมผู้พิการจาก V Craft เล่าว่า เมื่อได้ร่วมงานกับทางแบรนด์ เธอได้เพิ่มพูนทักษะฝีมือขึ้นมาก จากเริ่มแรกเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการถักมาคราเม่คืออะไร แต่ครูผึ้งก็พยายามสอนจนเธอสามารถทำได้ และเมื่อมีคนชื่นชอบในตัวสินค้า เธอยิ่งมีแรงใจอยากพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงช่วยให้เห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะต่อให้มองไม่เห็น เธอก็สามารถผลิตผลงานออกมาได้อย่างดีจนเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน

คุณอุ้ม สมาชิกทีมผู้พิการจาก V Craft

คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่อยากร่วมงานกับคนพิการ

ต้องยอมรับว่าการทำงานกับคนพิการต้องอาศัยแรงกาย แรงใจ และทุนสูง ซึ่งจะใช้แค่แรงใจอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องอาศัยแรงกายร่วม เพราะเมื่อทำงานกับคนพิการก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราต้องช่วยดูแลเขา ช่วยซัพพอร์ตในจุดที่เกินความสามารถของเขา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการทำงานร่วมกับคนพิการ สิ่งสำคัญเลยคืออย่าปฏิบัติตัวกับพวกเขาด้วยความสงสาร แต่ให้มองเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แล้วคอยเสริมศักยภาพพวกเขาเท่าที่เขาทำได้ 

เมื่อผู้พิการทำสินค้าออกมาได้ไม่สวยให้บอกเขาไปตามตรงและชี้ให้เห็นว่ามีจุดบกพร่องตรงไหนที่ต้องแก้ไข พร้อมหานวัตกรรมหรือวิธีต่างๆที่จะเข้ามาช่วยเสริมฝีมือเขาในจุดนี้  อย่าสปอยล์เขาว่าดีแล้ว สวยแล้ว ไม่อย่างนั้นศักยภาพพวกเขาจะไม่ได้รับการต่อยอดพัฒนา แน่นอนว่าความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยให้คนพิการรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ซึ่งแรงเสริมที่จะช่วยให้คนพิการมองเห็นคุณค่า เกิดความภูมิใจในตัวเอง คือสังคมมองเห็นศักยภาพและความสามารถในการทำงานของพวกเขามากกว่า

V Craft แบรนด์สินค้าแฮนด์เมดจากคนพิการ ดันศักยภาพ สร้างอาชีพยั่งยืน

ทั้งนี้ คุณผึ้งได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน V Craft จดทะเบียนเป็นกิจการเพื่อสังคม และเมื่อดำเนินงานครบ 1 ปี เราจะยื่นจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมเปิดระดมทุนผ่านการขายหุ้น รวมถึงขายหุ้นให้คนพิการในราคาหุ้นละ 10 บาท ให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ และเมื่อสินค้าขายได้ เขาก็ได้รับเงินปันผลตรงนี้ด้วย เพิ่มเติมจากเงินที่ได้รับในแต่ละเดือนอยู่แล้ว

เป้าหมายของ V Craft ไม่ใช่แค่การขาย แต่ยังมีกิจกรรม Workshop ที่ช่วยให้สังคมยอมรับในตัวสินค้า เห็นศักยภาพของคนพิการ เพราะเราอยากเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อคนพิการ 

 

ช่องทางติดตามสินค้าจากแบรนด์ V Craft: V Craft Thailand