posttoday

จ่อออกเกณฑ์ใหม่ 'อุ้มบุญ' อายุมากกว่า 55 -ต่างชาติ-LGBTQIA+ ทำได้

01 มีนาคม 2567

สบส.จ่อแก้เกณฑ์ใหม่ 'อุ้มบุญ' ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ที่อยากมีบุตร รวมไปถึงต่างชาติสามารถ 'อุ้มบุญ' ได้ภายใต้กฎหมายไทย รวมไปถึงคู่รักเพศเดียวกัน หาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่าน ชี้ตอบสนองนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรและเพิ่มมูลค่าด้านเศรษฐกิจสุขภาพ

วันนี้ (1 มีนาคม 2567) นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. พร้อมด้วย ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. แถลงข่าว “สบส. ส่งเสริมการมีบุตร : ทางเลือกสำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยากเพื่อเข้ารับบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์”

 

มีการอนุญาตอุ้มบุญจำนวน 754 ราย และอัตราความสำเร็จเพิ่มขึ้น

อธิบดีกรม สบส. ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีการให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบ การผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ มีการอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกว่า “อุ้มบุญ” จำนวน 754 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 7,500 ล้านบาทแต่สิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราความสำเร็จในการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ตั้งครรภ์ของประเทศไทย ซึ่งจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยกรม สบส. พบว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ร้อยละ 48.53 จากเดิมที่มีอัตราความสำเร็จร้อยละ 46 และยังคงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของไทยมีสถานพยาบาลที่ให้บริการเด็กหลอดแก้ว/อุ้มบุญ 115 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 17 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 31 แห่ง คลินิกเอกชน 67 แห่ง โดยมีสถิติการให้บริการต่อปีสำหรับผสมเทียม 12,000 รอบการรักษา และเด็กหลอดแก้วที่ 20,000 รอบการรักษา สำหรับการอุ้มบุญ ได้รับอนุญาต 754 ราย และไม่ได้รับอนุญาต 22 ราย

 

นโยบายปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอุ้มบุญ บริจาคไข่จากญาติ - เพิ่มอายุผู้หญิงที่ต้องการบริการอุ้มบุญ - ระบบประกันสุขภาพ

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรม สบส.ได้วางนโยบายขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ และส่งเสริมให้ผู้มีบุตรยากสามารถเข้าถึงบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของไทย  ได้แก่

1.การทบทวนและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการแก่คู่สามีภริยา เช่น การปรับแก้ไขคุณสมบัติผู้รับบริจาคไข่ ให้ญาติสืบสายโลหิตของภริยา ที่มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี และไม่จำเป็นจะต้องผ่านการสมรสสามารถเป็นผู้บริจาคไข่ได้

2.การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อนของภริยาที่มีอายุ 35 ปี  สามารถตรวจวินิจฉัยได้ตามที่แพทย์หรือผู้ให้บริการเห็นว่ามีความจำเป็นและสมควร

3.ยกเลิกเพดานอายุของภริยาที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน  จากเดิมไม่เกิน 55 ปี ให้มากกว่า 55 ปีขึ้นไปได้

4.การส่งเสริมสิทธิประโยชน์ในการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก โดยการส่งเสริมและผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนที่เกี่ยวข้องกรณีเข้ารับบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากจากสถานพยาบาลภาครัฐ โดยกำหนดจำนวนเงินและเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเบิกค่ารักษาได้

5.การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ สำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน ให้มีประกันสุขภาพรองรับ ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของกรมธรรม์แล้ว

 

ต่างชาติ - LGBTQIA+ ทำอุ้มบุญได้

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. ได้กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ยังมีสิ่งที่พิจารณาหลัก ๆ ซึ่งยังรอความชัดเจนอีก 4 ประเด็นสำคัญคือ

1) ประเด็นของคู่สามี-ภรรยา ที่อยากมีลูก โดยในประเด็นของคู่รักเพศเดียวกัน ทางสบส. ยืนยันว่าในอนาคตจะมีการพิจารณาและยกร่างแก้ไข ให้โอกาสแก่ผู้ที่ถือทะเบียนสมรสซึ่งแสดงคำว่า สามี-ภรรยา สามารถทำอุ้มบุญได้ อย่างไรก็ตามต้องรอคอยความชัดเจนจาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่กำลังพิจารณาอยู่ เพื่อให้ร่างดังกล่าวสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน 

2) ในประเด็นของชาวต่างชาติที่อยากมีลูก ทางสบส.จะเปิดโอกาสให้สามารถเข้ามาทำอุ้มบุญในไทยได้ ภายใต้กฎหมายไทย 

3) จะมีการแก้ไขในกรณีการเสียชีวิตของผู้ปกครองบุตร ซึ่งจากเดิมหากผู้ปกครองบุตรเสียชีวิต จะต้องให้หญิงตั้งครรภ์เป็นผู้ดูแลแทนไปก่อน แต่ในสิ่งที่จะแก้ไขจะให้ สามี-ภรรยา ได้เขียนความจำนงว่าให้ใครเป็นผู้ดูแลในกรณีที่เสียชีวิตก่อนล่วงหน้าได้

4) การปรับอัตราโทษที่สูงมากขึ้น  หากมีการกระทำผิดในลักษณะของการค้ามนุษย์

 

ทั้งนี้การปรับพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบาย 'ทุนมนุษย์' หรือการเพิ่มประชากรของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังเห็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจซึ่งเคยมีการสำรวจจากทางแบงก์ชาติพบว่า เศรษฐกิจที่มากจา Medical Hub สูงกว่า 38,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 22,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการเปิดช่องทางในเรื่องของการอุ้มบุญให้ชาวต่างชาติเข้ามารับบริการได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อเคสและค่าบริการที่สูงเป็นหลักล้านบาท ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพได้ และหากมีการบังคับใช้ ก็จะเป็น พ.ร.บ.ฉบับแรกของโลก ที่เปิดโอกาสดังกล่าว .. อย่างไรก็ตามการดำเนินการก็ต้องทำควบคู่ไปกับกลไกการป้องกันการค้ามนุษย์ซึ่งก็ต้องมีกฎหมายที่เข้มข้นและรัดกุมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน