Dry water น้ำผงทางออกใหม่ในการรับมือไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้า
ไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้า เรื่องหนักใจที่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าพากันกังวล แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยแต่ความเสียหายที่ตามมาร้ายแรงจนหลายท่านไม่ยอมเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการพัฒนา Dry water เพื่อใช้จัดการไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ
หนึ่งในเรื่องน่ากังวลทำให้หลายท่านคิดไม่ตกในการเปลี่ยนผ่านหรือใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าคือ ปัญหาไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้า ปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปกับรถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกคันจากข้อจำกัดของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเสี่ยงและความอันตรายจากการใช้งาน
จริงอยู่มีการเปิดสถิติยืนยันออกมาจากหลายด้านว่า อัตราการเกิดไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้สูงอย่างที่หลายท่านเข้าใจ เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์สันดาปอัตราการเกิดเพลิงไหม้ยังน้อยกว่ากันมาก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือเมื่อมีเหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงว่ามักลุกลามและเกิดความเสียหายมากกว่า
วันนี้เราจึงมาลงรายละเอียดปัญหาที่เกิดขึ้นว่าทำไมเหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าจึงร้ายแรงกว่าปกติ
ไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้า ปัญหาร้ายแรงกว่าไฟไหม้รถทั่วไป
เหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นกับรถยนต์สันดาปมาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เชื้อเพลิงรัวไหล, ระบบไฟฟ้าทำงานผิดพลาด, ของเหลวภายในรั่ว, เครื่องยนต์โอเวอร์ฮีท ฯลฯ ถือเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป ทำให้ผู้ใช้รถจำเป็นต้องติดตั้งถังดับเพลิงไว้รับมือในกรณีฉุกเฉิน
จริงอยู่เมื่อนำข้อมูลอัตราการเกิดไฟไหม้รถยนต์จากบริษัทประกันภัยรถยนต์ในสหรัฐฯมาเปรียบเทียบพบว่า เหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการเกิดน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 60 เท่า แต่จากข้อมูลการระงับเหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าก็ทำได้ยากกว่าไฟไหม้รถยนต์สันดาปทั่วไปมากเช่นกัน
สาเหตุที่เป็นแบบนี้เนื่องจากกรณีไฟไหม้รถยนต์สันดาป ความร้อนส่วนมากมาจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่ต่างจากเหตุไฟไหม้ทั่วไปสามารถดับได้ด้วยน้ำหรือสารดับเพลิงทั่วไป โดยใช้เวลาในการระงับเหตุราว 15 – 30 นาที ใช้ปริมาณน้ำเฉลี่ยประมาณ 500 ลิตรก็เพียงพอ
ในขณะที่ไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้ามีสาเหตุหลักมาจากการลุกไหม้ของแบตเตอรี่ที่ระบายความร้อนไม่ทัน อาการขัดข้องนี้สามารถพาอุณหภูมิให้พุ่งสูงมากกว่า 800 องศาเซลเซียส ถือเป็นระดับความร้อนที่สูงมากจนไม่สามารถใช้สารดับเพลิงรับมือ และใช้ทรัพยากรเวลาและน้ำในการระงับเหตุมากกว่ารถยนต์สันดาปหลายเท่า
ปัจจุบันน้ำเป็นตัวเลือกเดียวในการรับมือเหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าแต่ก็มีข้อจำกัดการใช้งานในบางด้าน อีกทั้งเมื่อแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเกิดความเสียหาย เป็นไปได้ที่สารเคมีอันตรายอย่างกรดไฮโดรฟลูออริกจะรั่วไหลปนเปื้อนสู่ระบบนิเวศ เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นี่เองจึงนำไปสู่การคิดค้นพัฒนาสารดับไฟชนิดใหม่สำหรับแก้ปัญหาไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ
Dry water สารดับไฟชนิดใหม่รับมือเหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้า
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Civil Aviation University of China กับการพัฒนาสารดับไฟชนิดใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาเหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Dry water วัสดุผงลดที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำสามารถใช้งานในการลดอุณหภูมิ ดับไฟ และระงับเหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้า
อันที่จริงวัสดุ Dry water ไม่ได้ถูกคิดค้นเป็นครั้งแรกแต่ได้รับการพูดถึงมานับแต่ทศวรรษ 1960 มีลักษณะเป็นผงสีขาวใกล้เคียงกับน้ำตาลหรือแป้ง แต่เมื่อออกแรงบีบจะมีลักษณะคล้ายของเหลวแตกตัวรวมกันเป็นหยดน้ำขนาดเล็ก มีกลไกการผลิตโดยอาศัยการเคลือบโมเลกุลน้ำด้วยสารไม่ชอบน้ำแล้วทำให้แข็งตัว ก็จะได้น้ำผงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำทุกประการ
นี่เองจึงเป็นเหตุให้พวกเขาพัฒนา Dry water เฉพาะที่มีส่วนผสมจากน้ำกว่า 90% นี่จึงเป็นผงที่มีน้ำอัดแน่นอยู่เป็นจำนวนมาก จากนั้นจึงเริ่มนำเอา Dry water ไปใช้ในการระงับเหตุไฟไหม้ที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดยทำการโปรยกระจายผงชนิดนี้ออกไปให้ทั่วบริเวณที่เกิดเหตุ
ด้วยคุณสมบัติพื้นฐานของน้ำทำให้สารชนิดนี้ช่วยลดอุณหภูมิจากแบตเตอรี่ได้อย่างรวดเร็ว แต่ส่วนที่ทำให้ Dry water พิเศษคือ สารชนิดนี้มีอัตราการนำไฟฟ้าต่ำ ด้วยลักษณะโมเลกุลน้ำเป็นผลึกเมื่อแตกตัวเป็นจึงเป็นโมเลกุลน้ำขนาดเล็กไม่เกิดการรวมตัวกันในปริมาณมาก โอกาสที่สารนี้จะมีอัตราการนำไฟฟ้าจนทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรจึงต่ำมาก
นอกจากนี้ด้วยขนาดโมเลกุลของ Dry water มีขนาดเล็ก เมื่อสัมผัสและดูดซับความร้อนจากที่เกิดเหตุจะระเหยเป็นไอไปอย่างรวดเร็ว ลดปัญหาการเกิดน้ำปนเปื้อนภายหลังการดับไฟที่จำเป็นต้องจัดการ เพราะหยดน้ำส่วนมากจะระเหยไปในวินาทีที่สัมผัสกับความร้อนจนหลงเหลือน้ำไว้น้อยมากลดโอกาสเกิดการปนเปื้อนได้ดี
Dry water จึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกน่าสนใจที่เราอาจได้เห็นในการใช้แก้ปัญหาไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
จริงอยู่แนวคิดนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นการค้นคว้าวิจัยจำเป็นต้องได้รับการทดสอบอีกมากจึงจะนำมาใช้งานจริง โดยพวกเขากำลังเร่งพัฒนาส่วนผสมของ Dry water เพื่อให้ดับไฟได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งล้วนมีความเสี่ยงต่อเหตุไฟไหม้ทั้งสิ้น
ที่เหลือคงต้องรอดูต่อไปว่าแนวทางนี้จะถูกพัฒนาให้สามารถนำมาใช้งานจริงได้แค่ไหน
ที่มา
https://belux.edmo.eu/fact-check-do-electric-cars-catch-fire-more-often-than-combustion-engine-cars/
https://www.forbes.com/sites/parmyolson/2010/08/27/what-is-dry-water/?sh=14364c844eaa
https://www.posttoday.com/post-next/innovation/688056
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S2352152X23036034