ครอบครัวเป็นหุ่นยนต์ อนาคตของโลก? ถ้าแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรไม่ได้!
รัฐบาลกำลังมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัยที่ไทยกำลังเข้าสู่ขั้นสมบูรณ์! เพราะกระทบกับเศรษฐกิจและความมั่นคงของรัฐอย่างมหาศาลในอนาคต โพสต์ทูเดย์จึงรวบรวมวิธีการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างประชากรและแนวทางที่ประเทศอื่นทำเอาไว้ตั้งแต่ระดับเบาไปหาหนัก!
ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรในสังคมสูงวัย มีเป้าหมายชัดเจน 2 เรื่องที่ต้องทำให้ได้ เรื่องที่หนึ่ง คือทำอย่างไรประชากรถึงจะมีเพิ่มมากขึ้น และทำอย่างไรผู้สูงวัยจึงยังคงมีความสามารถที่จะเป็นแรงงานของประเทศ และสามารถเลี้ยงดูตนเองได้เฉกเช่นคนวัยทำงาน
นี่คือเป้าหมายของการแก้ไขโครงสร้างประชากร .. แต่วิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นต้องยอมรับว่ามีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นของการเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งเกี่ยวข้องไปจนถึงรากฐานทางวัฒนธรรม และความคิดค่านิยมที่เปลี่ยนไปของแต่ละประเทศ
ญี่ปุ่น ทำอย่างไรผู้หญิงจะมีลูกและทำงานไปพร้อมกันได้ ในขณะที่ผู้ชายก็ไม่ต้องทำงานนอกบ้านจนตัวตาย
การแก้ไขปัญหาเรื่องประชากรในญี่ปุ่นมีความเข้มข้นกว่าประเทศไทย ในช่วงปี 1970 ประชากรของประเทศญี่ปุ่นลดลงอย่างชัดเจน แต่มีการคาดการณ์ออกมาว่าเป็นแค่เรื่องชั่วคราวเท่านั้น จนกระทั่ง 19 ปีให้หลังประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง และในปี 1989 ญี่ปุ่นจึงตระหนักได้ว่านี่คือปัญหาที่สำคัญ แต่กลับไม่เป็นผล เพราะแนวคิดเรื่องความหลากหลายพุ่งสูงขึ้น โดยมองว่าผู้หญิงมีทางเลือกในชีวิตมากกว่าการแต่งงานมีลูก ซึ่งนั่นคือ 50 ปีก่อน!
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดหนึ่งที่ส่งผลต่อทัศนคติการมีลูกที่สำคัญซึ่งทุกรัฐบาลทั่วประเทศมุ่งที่จะแก้ไขนั่นคือความคิดที่ว่า การมีลูกและต้องออกจากงานไปเลี้ยงลูก หรือการต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย โดยภาระการเลี้ยงลูกตกเป็นของฝ่ายหญิงทั้งหมดนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ผู้หญิงยุคใหม่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง
จากสถิติพบว่าผู้หญิงร้อยละ 9 เท่านั้นที่เป็นหญิงโสดไม่มีลูก แต่ผู้หญิงที่แต่งงานแต่ไม่มีลูกกลับมีสูงถึงร้อยละ 25
หลังจากนั้นญี่ปุ่นจึงออกมาตรการเพิ่มจำนวนวันลาให้กับผู้หญิงที่ต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย แต่พบว่าไม่ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น! เพราะปัจจุบันอัตราการเกิดยังคงที่ที่ 1.3 ซึ่งน้อยกว่าอัตราที่ตั้งไว้เพื่อรักษาประชากรให้คงที่ที่ 2.1 เป็นอย่างมาก
เช่นเดียวกับฝั่งผู้ชาย ที่พบว่าผู้ชายอายุ 35-39 ปีร้อยละ 35 ยังไม่แต่งงาน และส่วนหนึ่งก็แทบจะปฏิเสธการสร้างครอบครัวโดยสิ้นเชิงโดยให้เหตุผลว่ามันคือ ‘ภาระ’ ... แต่เดิมประเทศญี่ปุ่นมีแนวคิดว่าผู้ชายมีจิตวิญญาณที่ต้องทำงานหนักและหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ผู้ชายญี่ปุ่นมีความเครียดอย่างสูง นายจ้างก็ใช้งานหนัก จนไม่ได้กลับไปช่วยภรรยาดูแลลูก นี่คือวงเวียนที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกเป็น ‘ภาระ’ ของตนเพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ในสังคมญี่ปุ่นยังพบว่าผู้ชายที่มีรายได้ต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 1.4 ล้านบาทต่อปี แต่งงานที่ร้อยละ 25 เท่านั้น และมีอัตราการฆ่าตัวตายค่อนข้างสูงจากสภาพกดดันทุกๆ ทาง
ในปีที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นจึงเพิ่มงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะเพิ่มประชากรเด็กให้ไวที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลเด็กเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 16 ทัดเทียมกับประเทศสวีเดน อย่างเช่นการให้เงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่และผู้ปกครองของเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี แน่นอนว่าเป็นการรับประกันว่าพวกเขาจะสามารถเรียนจบชั้นระดับมัธยมต้นได้ และมีการประกาศว่าจะขยายเงินสงเคราะห์นี้จนถึงเด็กอายุ 18 ปี หรือจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องรายได้ของครัวเรือน โดยรายจ่ายทั้งหมดจะเกิดจากการระดมทุนในรูปแบบของเบี้ยประกันสุขภาพจากทุกคน
ส่วนคนที่มีบุตรคนที่สามหรือมากกว่านั้นจะได้รับเงินเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าอีกด้วย! และเนื่องจากความพร้อมของสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ปกครองที่ทำงาน รัฐบาลจึงวางแผนที่จะขยายการสนับสนุนการดูแลเด็กสำหรับเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี และให้บริการสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะการจ้างงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2569 ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้รัฐบาลของนายฟูมิโอะ คิชิดะ ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างแน่นอนเพราะหนี้รัฐบาลจำนวนมากจะตามมา แต่รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาเปิดเผยว่าปี 2030 จะเป็นช่วงที่ประชากรลดลงอย่างรวดเร็วและเป็นโอกาสสุดท้ายของประเทศญี่ปุ่นในการแก้ไขปัญหา!!
แนวคิดปิตาธิปไตย เรื่องใหญ่ของการมีลูก
ในขณะที่เราบอกว่าแนวคิดหลากหลาย ทำให้ผู้หญิงเลือกที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบที่ต้องการคือการไม่มีลูก และล่าความฝันและตำแหน่งการงานของตัวเอง แต่อันที่จริงแล้วผู้หญิงที่คิดอยากจะไม่มีลูกตั้งแต่แรกนั้นมีเปอร์เซนต์ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่อยากแต่งงานมีลูก แต่กว่าจะได้แต่งงาน กว่าจะมีเงินเลี้ยงลูกได้ หรือกว่าจะจัดสรรชีวิตให้ลงตัวพอที่จะสามารถทำงานไปพร้อมกับเลี้ยงลูกได้นั้น เป็นอุปสรรคที่สำคัญและเป็นโจทย์ใหญ่ โดยเฉพาะกับสังคมเอเชีย
ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้หญิงไม่อยากที่จะออกจากงานมาเลี้ยงลูก และผลักภาระการเลี้ยงครอบครัวให้ผู้ชายจนเกิดความเครียด หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ก็มองไปในทิศทางเดียวกัน พวกเขารู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีครอบครัวในสภาพสังคมที่อยู่ไม่ง่าย
ด้วยที่อยู่อาศัยแพง ความไม่แน่นอนของตลาดงาน ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงบุตร และสภาพสังคมที่แข่งขันกันอย่างโหดเหี้ยม สิ่งสำคัญคือความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เห็นชัด เมื่อมองว่าจะต้องเป็นหน้าที่ผู้หญิงอย่างเดียวที่ต้องดูแลเด็ก แม้กระทั่งในที่ทำงานก็ถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานอยู่แล้ว พอมีครอบครัวก็ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบเลี้ยงเด็กตามลำพัง ที่สำคัญคือพวกเขามองว่า เด็กที่เกิดมาไม่สามารถมีชีวิตที่ดีไปกว่าพวกเขาได้แน่นอนในอนาคตจากสภาพสังคมที่เป็นอยู่
ในปี 2018 ประเทศเกาหลีใต้ได้ให้ข้อจำกัดด้านเวลาทำงานจาก 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็น 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในบริษัทที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป และกฎนี้ได้ถูกนำไปใช้กับทุกบริษัทที่มีพนักงาน 5 คนขึ้นไปตั้งแต่ปี 2021 อย่างไรก็ตาม สัปดาห์การทำงาน 52 ชั่วโมงก็ยังไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรและงานบ้านอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้หญิงในเกาหลีจึงต้องรับภาระหนักจากแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง เช่น ดูแลเด็ก งานบ้าน ซื้อของ ฯลฯ ผู้ชายใช้เวลาโดยเฉลี่ย 49 นาทีต่อวันกับ “แรงงานไม่ได้รับค่าจ้าง" ในขณะที่ผู้หญิงใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง
แม้ว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ จะเน้นสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายให้แก่การมีลูกอย่างมาก แต่กลับไม่เห็นผลแต่อย่างใด เนื่องจากสภาพสังคมที่ขาดงานที่รายได้ดี ระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน รวมไปถึงวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในใจของคนเกาหลียุคใหม่โดยเฉพาะเรื่องที่ ‘แม่ต้องเป็นคนดูแลลูกเท่านั้น’
ถ้าประชากรไม่พอ ก็จ้างแรงงานต่างชาติ! และเพิ่มหุ่นยนต์เป็นประชากร
ญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้มีการจ้างแรงงานอพยพเพื่อมาทดแทนแรงงานระดับล่าง ซึ่งทุกวันนี้มีการจ้างงานมากกว่า 5 แสนคนต่อปี แต่กลับไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาเช่นเดิม หนำซ้ำกลับเกิดปัญหาเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานซึ่งย่ำแย่มากขึ้น ปัจจุบันก็มีการเปิดข้อเสนอให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติที่มีทักษะเข้ามาในระบบมากขึ้นอีกด้วย
เช่นเดียวกับในประเทศอิตาลีที่งานบ้านส่วนใหญ่จะเป็นคนงานต่างชาติเกือบทั้งหมด เนื่องจากผู้หญิงต้องไปทำงานนอกบ้าน พวกเธอจึงต้องอาศัยแรงงานมาช่วยดูแลงานในบ้านเองและมุ่งเน้นที่แรงงานราคาถูก โดยแต่ละปีประเทศอิตาลีต้องนำเข้าแรงงานประเภทนี้กว่า 23,000 คนเพื่อดูแลบ้านและคนชรา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะเวลาข้างหน้าจนถึงปี 2568 เป็น 68,000 คน ซึ่งทำให้รัฐบาลอิตาลีต้องสูญเสียรายได้จากการหลีกเลี่ยงภาษีกว่า 2.7 พันล้านยูโรต่อปี เพราะส่วนใหญ่เป็นการว่าจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยอิตาลีเผชิญกับการลดลงของประชากรมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีข่าวครึกโครมอยู่ครั้งหนึ่งว่ามีการขายบ้านร้างให้เข้ามาพักอาศัยที่ราคาแค่ไม่ถึง 1 ร้อยบาท รวมไปถึงทางการเสนอว่าจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ซื้อและเข้าไปพักอาศัยอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีหลายเมืองที่ออกแคมเปญแจกเงินเป็นโบนัสสำหรับเด็กเกิดใหม่ ... นายกรัฐมนตรีของอิตาลีระบุว่าในปีหน้าพวกเขาจะเพิ่มการลงทุนในเด็กมากขึ้นเพราะหากไม่ทำอิตาลีอาจจะเป็นรัฐที่มีสวัสดิการล้มเหลวและไม่สามารถจ่ายให้แก่ประชาชนได้อีกต่อไป และการหวังที่จะพึ่งพาผู้อพยพให้มาเป็นแรงงานไม่ใช่ทางออกของวิกฤตการณ์โครงสร้างประชากรที่เกิดขึ้นทั้งในอิตาลีและยุโรป
อีกวิธีแก้ปัญหาหนึ่งซึ่งประเทศญี่ปุ่นเริ่มทำมามากกว่า 10 ปีแล้ว คือการแก้ไขโดยใช้นวัตกรรม ซึ่งแต่เดิมมีการตั้งเป้าไว้ที่ปี 2568 ครอบครัวของญี่ปุ่นจะประกอบด้วยสามี-ภรรยา - ลูกๆ และแน่นอนว่าจะต้องมีหุ่นยนต์ 1 ตัว ไว้คอยช่วยทำความสะอาดบ้าน เตรียมอาหาร ดูแลทุกคนในบ้าน ทำหน้าที่ทดแทนหรือลดภาระให้แก่ภรรยา ซึ่งหวังว่าหากมีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยลดภาระความเหนื่อยได้มากกว่าเดิม โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์ในครัวเรือนมากมายหลายประเภท และมีการตั้งเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้มากขึ้น เพราะข้อดีคือหุ่นยนต์จะไม่มีเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่มีอคติเชิงลบ สั่งอะไรก็ทำ!
ไทยเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ ถ้าไม่รีบแก้ไข
และนี่เป็นเพียงตัวอย่างของนโยบายจากประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากร ซึ่งมีความซับซ้อนตามแต่ละประเทศ แต่มีความเข้มข้นและทุกประเทศที่กล่าวมานั้นต่างประกาศให้เป็นนโยบายระดับชาติและระดมทุกสรรพกำลังเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้โดยวัย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนใครเพื่อนและมีเดดไลน์สุดท้าย ก่อนที่รัฐอาจไม่สามารถไปต่อได้อยู่ที่ปี 2030 หรือในอีก 6 ปีข้างหน้าเท่านั้น
สำหรับประเทศไทยแม้จะยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ แต่เมื่อย้อนไปก็พบข้อมูลอันน่าตกใจว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการของการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าญี่ปุ่น หากดูจากไทม์ไลน์
- ประเทศญี่ปุ่น
ปี 2513 ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
24 ปีต่อมา
ปี 2537 ญี่ปุ่นพัฒนาจากสังคมผู้สูงอายุเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์
13 ปีต่อมา
ปี 2550 กลายเป็น Hyper-Aged Society
23 ปีต่อมา
ปี 2573 ญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาประชากร
- ประเทศไทย
ปี 2548 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
17 ปีต่อมา
ปี 2565 ไทยพัฒนาจากสังคมผู้สูงอายุเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์
8 ปีต่อมา
ปี 2573 กลายเป็น Hyper-Aged Society
และเวลาระหว่าง Hyper-Aged Society ไปสู่โอกาสสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาก็คงจะสั้นลงกว่าญี่ปุ่น หากยังไม่มีการลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามบทเรียนจากในประเทศต่างๆ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ในการย่นระยะเวลาการทำงานและการแก้ไขปัญหา โดยที่ไม่ต้องไปนับหนึ่งใหม่ แต่จะแก้อย่างไรให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศรวมถึงทัศนคติของคนไทย นั้นเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องฝ่าไปให้ได้ ก่อนที่รัฐจะสูญเสียความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคตจากปัญหาโครงสร้างประชากร