‘เด็กชายกับนกกระสา’ ข้อพิสูจน์ความสำเร็จของแอนิเมชันญี่ปุ่นบนเวทีโลก
รางวัลออสการ์ครั้งที่ 2 ของฮายาโอะ มิยาซากิ สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยม เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของแอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่น ที่สามารถเข้าไปครองใจคนดูทั่วโลก ต้องยอมรับว่า ‘หนัง’ ของเขามีปรัชญาตะวันออกแทรกซึมอยู่เฉพาะตัว แต่เหตุใดเล่าถึงเอาชนะใจชาติตะวันตกได้?
ตั้งแต่ Spirited Away ในปี 2003 สู่ เด็กชายกับนกกระสา ( The Boy and The HeronX ในปี 2024 ภายใต้ผลงานของฮายาโอะ มิยาซากิ เราได้เห็นแอนิเมชันที่สะท้อนค่านิยมแบบญี่ปุ่นอย่างเด่นชัด .. รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ของสตูดิโอจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง One Piece หรือ Jujutsu Kaisen และอีกหลายต่อหลายเรื่อง ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ที่น่าสังเกตคือสตูดิโอแอนิเมชันของญี่ปุ่นไม่เคยปรับวิธีคิดหรือการทำงานของตัวเองให้ไปในทิศทางของตะวันตก พวกเขาทำงานบนบรรทัดฐานความเป็นญี่ปุ่นอย่างเต็มสตรีม … นานมาแล้วสตูดิโอจิบลิ เคยอนุญาตให้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง Castle in the Sky ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมตะวันตก แต่ก็กลับไม่ได้รับความนิยม หรือแม้แต่เคยมีการให้สัมภาษณ์ว่าตัว มิยาซากิเองก็ไม่ชอบการวาดรูปด้วย CGI พวกเขายังยึดการวาดรูปด้วยมืออยู่
ในขณะที่ในวงการของภาพยนตร์ ที่ใช้คนแสดง การจะยึดครองพื้นที่รางวัลออสการ์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับวงการภาพยนตร์ในฝั่งเอเชีย มีแค่ภาพยนตร์เรื่อง Parasite จากประเทศเกาหลีใต้ที่เคยได้รับรางวัลในปี 2020 เท่านั้น แต่ใจความของหนังก็ยังคงเป็นสากล ที่บอกเล่าเรื่องชนชั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกเข้าใจร่วมกันได้
ไม่เหมือนกับแอนิเมชันจากญี่ปุ่น .. พวกเขามีข้อความที่จะบอกต่างจากแอนิเมชันทางฝั่งตะวันตก มีวิธีการทำงานที่ต่างจากตะวันตก แต่กลับสามารถเข้าไปครองใจผู้คนทั่วโลกได้ ด้วยเหตุผลอะไร?
ปัจเจกนิยม VS คติรวมหมู่
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมรวมกลุ่มอยู่สูง สองคำที่ถูกใช้ได้แก่คำว่า ‘กิริ’ และ ‘นินโจ’ กิริคือพันธกิจที่มีต่อสังคม ซึ่งทำให้คนญี่ปุ่นมักจะรับผิดชอบต่อภารกิจหรือสิ่งที่สังคมมอบหมายอย่างสูง พวกเขาอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับภารกิจและความสำเร็จของส่วนรวมเป็นหลัก อย่างเช่นเมื่อเกิดเห็นการแผ่นดินไหวหรือสึนามิ เราจะเห็นคนญี่ปุ่นปฏิบัติตัวอย่างเป็นระเบียบ และเห็นแก่ความสงบของส่วนรวมมากกว่าจะทำทุกวิถีทางให้ตนเองรอด
ส่วนนินโจ คือความรู้สึกส่วนตัวที่ผูกโยงกับคนรอบข้าง และแน่นอนว่าย่อมตามมาด้วยภารกิจทั้งต่อครอบครัวหรือตนเอง โดยที่ค่านิยมทั้งสองส่วนนี้ฝังรากลึกลงไปในสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน .. ซึ่งแตกต่างกับฝั่งตะวันกตกที่เน้นความเป็นปัจเจกนิยม
ความต่างระหว่างปัจเจกนิยม และคติรวมหมู่ ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นมองว่าเป้าหมายของชีวิตของตนเองและส่วนรวมสอดคล้องกัน การรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ แม้จะได้รับผลเสีย ฯลฯ ในขณะที่สังคมแบบปัจเจกนิยมจะให้ความสำคัญกับเป้าหมายส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม เป็นอิสระและคิดถึงข้อดีข้อเสียในการรักษาความสัมพันธ์มากกว่า
นอกจากนี้สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออก เราไม่อาจแยกตัวออกจากกลุ่มก้อนตัวเองได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราสูญเสียตัวตนไปในกลุ่มชน แต่เราจะพบตัวตนในกลุ่มชน ไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่ ลูก ผู้ปกครอง ครู เด็กฝึกงาน เมื่อเราทุกคนสามารถที่จะดำรงความแตกต่างพร้อม ๆ กับการอยู่ร่วมกัน เราก็จะมีความปรองดองกัน
ยกตัวอย่างจากแอนิเมชันเรื่องเด็กชายกับนกกระสา เช่น ภารกิจของเด็กชายมาฮิโตะต้องเดินทางเข้าไปในหอคอยเพื่อค้นหาแม่ของเขาอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่แบกอารมณ์ต่อต้านแม่ใหม่ของตัวเองไว้อย่างท่วมท้น ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องไปโดยพยายามจะบอกว่าบางทีก็แค่ยอมรับการตัดสินใจครั้งนี้ โดยจินตนาการว่าหากแม่ยังอยู่ก็คงบอกให้เขาทำเช่นนี้เหมือนกัน และเขาก็ได้พบความหมายของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของตนเองผ่านความเข้าใจในความต้องการของแม่ .. ซึ่งหากจินตนาการเป็นแอนิเมชันฝั่งตะวันตก นอกจากความกบฎที่เราจะได้เห็น ก็อาจจะได้เห็นฉากที่ตัวละครนี้อาจจะไม่มีวันเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้
นอกจากนั้นหากมองทุกเรื่องของการ์ตูนญี่ปุ่น เราจะเห็นการพัฒนาของตัวละคร ที่ต้องอาศัยผู้อื่น อยู่ๆ คนๆหนึ่งจะไม่สามารถพัฒนาพลังพิเศษด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องผ่านการขัดเกลาจากผองเพื่อนและคู่ต่อสู้ .. แม้บางเรื่องจะเน้นไปที่ตัวละครใดตัวละครหนึ่ง อย่างหนังของมิยาซากิในเรื่องเด็กชายกับนกกระสา ที่ต้องการตามหาข้อเท็จจริงของชีวิต แต่เขาก็ยังมีเพื่อนปากแซ่บอย่างนกกระสาร่วมทาง
คำถามคือ ทำไมแนวคิดคติรวมหมู่เช่นนี้ จึงสามารถครองใจผู้คนในโลกตะวันตกได้?
ความโดดเดี่ยวของสังคมปัจเจกบุคคลมีมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อโลกออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ก็ยิ่งทำให้มนุษย์ทุกวันนี้ช่างโดดเดี่ยว และถูกตัดขาดจากสังคมมากขึ้นทีละนิด .. อย่างไรก็ตามเหรียญมีสองด้านเสมอแม้แต่ในญี่ปุ่นเอง ทุกวันนี้ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สังคมแบบปัจเจกบุคคล จากความหวาดกลัวและความกดดันจากคติรวมหมู่ ที่มีแรงกดดันจากสังคมและคนรอบข้าง ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้พวกเขาละทิ้งการมีครอบครัว ปัญหาโครงสร้างประชากรในทุกวันนี้ของญี่ปุ่นเกิดจากการที่พวกเขามองว่าชีวิตการมีครอบครัวนั้น เป็นส่วนที่สร้าภาระให้กับตัวเองโดยเฉพาะกับผู้หญิงมากเกินไป พวกเขาเริ่มใช้ชีวิตคนเดียวมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
แต่ในขณะเดียวกัน ในสภาพสังคมตะวันตกที่เติบโตมากับวัฒนธรรมแบบปัจเจกบุคคล ก็พบว่าในบางครั้งการที่ใช้ชีวิตโดยมีสังคมช่วยโอบอุ้ม มีครอบครัวที่แข็งแกร่ง มีพวกพ้องที่คอยช่วยเหลือ ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาถวิลหาไม่มากก็น้อย
ปรัชญาชีวิต ความงดงามของความผิดพลาดและชีวิตมนุษย์ ..
‘การปล่อยวาง’ เป็นข้อความสำคัญของเรื่องเด็กชายและนกกระสา หลายบทความรีวิวไว้ว่ามิยาซากิทำหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่ซ้อนทับกับตัวเขาเอง ว่าพร้อมที่จะปล่อยสตูดิโอจิบลิไปหรือไม่ ในเมื่อไม่มีผู้สืบทอดต่อและเขาอายุถึง 83 แล้ว ภาพยนตร์นี้จึงเป็นสิ่งที่เขาคิดว่า ‘ควรจะปล่อยวาง’ แต่จะทำได้หรือไม่?
แนวคิดปล่อยวาง เป็นแนวคิดที่ตะโกนคำว่า ‘ตะวันออก’ ออกมาอย่างชัดเจน และต้องยอมรับว่ามิยาซากิกล้าที่จะมอบเมสเสจนี้ออกมาให้แก่คนดู การปล่อยวางในนัยยะหนึ่งคือการยอมรับสิ่งที่เป็นไป ในขณะที่หากมีแอนิเมชันตะวันตกสักเรื่อง ก็คงต้องลองสู้สักตั้ง และจบลงด้วยการไม่ยอมอ่อนข้อต่อโชคชะตา!
ในเรื่องเด็กชายกับนกกระสา มิยาซากิถ่ายทอดแนวคิดนี้อย่างแข็งกล้า การโตเป็นผู้ใหญ่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดมากมาย ต้องยอมรับความจริงที่ขัดใจ และต้องก้าวข้ามมันไปด้วยการปล่อยวาง แม้ว่าสิ่งนั้นจะสำคัญมากมายเพียงใดก็ตาม และการก้าวข้ามมันไปจะทำให้เราสามารถเริ่มต้นใหม่ นั่นคือสัจธรรม .. แต่เขาก็ไม่ลืมที่จะมองความงดงามและความหวังต่อให้ต้องเริ่มต้นใหม่ให้แก่คนวัยเยาว์
การปล่อยวางอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความจริง … โลกของการต่อสู้แข่งขัน ช่วงชิง แบบหนึ่งต่อหนึ่งเพื่อนำชัยชนะและกลายเป็นฮีโร่ในชีวิต ทำลายจิตวิญญาณและความหมายของการใช้ชีวิตในโลกใบนี้ไปมากพอสมควร เพราะคนสำเร็จนั้นมีเพียงยอดปิระมิด .. แต่ปรัชญาของ ‘ความจริง’ และ ‘การปล่อยวาง’ เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์เข้าใจความเป็นไป และมีพลังที่จะใช้ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
แอนิเมชันญี่ปุ่นจึงสามารถชุบชูจิตวิญญาณ และมีความเป็นเอเชียที่ไม่ได้หวังให้ดูจบแล้วต้องออกไปกู้โลกกัน แต่มันทำหน้าที่ชุบชูจิตวิญญาณ และมีความเป็นมนุษย์มากที่สุดเรื่องนึง แม้การเล่าเรื่องจะมีความแฟนตาซี เป็นพลังเหนือจินตนาการและน่าติดตามว่าตัวละครจะพัฒนาไป ณ จุดใดกันบ้าง แต่สุดท้ายแล้วเราจะพบว่า ทุกการ์ตูนของญี่ปุ่นมักจะทำให้เราเห็นถึงพลังของ ‘สังคม’ และ ‘คนรอบข้าง’ ที่ทำให้เราสามารถดึงศักยภาพเหล่านั้นมาได้มากกว่า และเราสามารถพึ่งพาคนรอบข้างได้เสมอ
และนี่คือบางส่วนที่ทำให้อนิเมชั่นญี่ปุ่น ที่ไม่ต้องเปลี่ยนตัวตนของตัวเองแต่สามารถเอาชนะใจคนทั่วโลกได้