posttoday

อว. ลุย ! ปฏิรูปการศึกษาไทย นักศึกษาที่มีศักยภาพ เรียนจบได้ใน 2-3 ปี

27 มีนาคม 2567

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลุยปฏิรูปการศึกษาไทย ดันสมัครสอบ TCAS โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นักศึกษาที่มีศักยภาพ เรียนจบได้ใน 2-3 ปี พร้อมทำระบบให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่สอบเข้าได้แต่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดงาน "BETTER THAILAND การปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่ออนาคตประเทศไทย" โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน และบรรยายพิเศษหัวข้อ "การปฏฺิรูปอุดมศึกษา เพื่ออนาคตประเทศไทย" พร้อมมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว., น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. , ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว.,  นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารเข้าร่วม 

โดย น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ในปัจจุบันเราทุกคนกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย คนในวัยทำงานลดลง คนในวัยเรียนก็ลดลง รวมถึงเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเราปรับตัวไม่ทันจะทำให้เสียโอกาสในการแข่งขัน  ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบมาแล้วมีทักษะไม่ตรงตามความต้องการของตลาด มีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง คนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลง รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาของคนในประเทศ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีการปรับตัวและพัฒนาดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการปรับเปลี่ยนให้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของการจัดทำการปฏิรูปอุดมศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งได้แบ่งนโยบายการปฏิรูปออกเป็น 4 เป้าหมายสำคัญ หรือเรียกง่ายๆ ว่า 2 ลด 2 เพิ่ม คือ ลดภาระ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มทักษะ และเพิ่มโอกาส

ในการลดภาระ คือ ลดภาระของนักศึกษาและผู้ปกครอง ซึ่งจะทำใน 3 ประเด็น คือ

1. ปรับการจัดการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาที่เก่งและมีศักยภาพ สามารถเรียนจบได้เร็วขึ้น อาจจะใช้เวลาเรียนจบเพียง 2 หรือ 3 ปี ได้อย่างมีคุณภาพ เช่น ให้นักศึกษาสามารถลงเรียนรายวิชาต่างๆได้มากขึ้น ในบางรายวิชาเช่น การศึกษาทั่วไป (General Education) อาจจะจัดการเรียนในแพลตฟอร์มออนไลน์ และให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตั้งแต่มัธยม และสะสมการเรียนไว้ในระบบคลังหน่วยกิตและนำมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย 

 2. สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้กับมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องของประเทศได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ 

 3. การส่งเสริมให้นักศึกษามีงานทำในระหว่างเรียน

ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำ คือการทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ตลอดช่วงชีวิต โดยจะทำใน 6 ประเด็น คือ

1. ให้นักเรียนสมัครสอบ TCAS โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

2.เปิดข้อสอบเก่า TCAS เพื่อให้นักเรียนฺทุกคนมีโอกาสฝึกทำข้อสอบ

3. ลดการสอบข้อเขียนและเพิ่มการวัดทักษะในรูปแบบอื่นในการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

4. สนับสนุนให้นักเรียนในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มด้อยโอกาส สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

5. สร้างระบบการเรียนรู้ออนไลน์ที่มี AI ช่วยสอน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

6. จัดทำระบบให้ความช่วยเหลือแก่ นักเรียนที่สอบเข้าได้แต่มีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายหรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

“ทั้งหมดนี้คือการทำให้การอุดมศึกษาเป็นของทุกคน ให้การศึกษาสร้างอนาคตของคน สร้างอนาคตของประเทศ ที่สำคัญ การปฏิรูปนี้จะเกิดขึ้นและสัมฤทธิ์ผลได้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเต็มที่ของทุกฝ่าย ทั้งกระทรวง อว. มหาวิทยาลัย ภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ นำไปสู่การสร้างทักษะที่ทันสมัย สร้างโอกาสใหม่ๆ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทยทุกคน” รมว.อว.ศุภมาส กล่าว

สำหรับการเพิ่มทักษะ จะเน้นการเพิ่มและพัฒนาทักษะให้นักศึกษาและคนไทยทุกคนใน 3 ประเด็น คือ

1. ส่งเสริมให้มีการเรียนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะทางด้านการเงิน ให้แก่นักศึกษาในทุกหลักสูตร 

2. ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI และ เมตาเวิร์ส (Metaverse) มาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มทักษะสมัยใหม่ให้กับนักศึกษา

3. จัดทำระบบแนะนำการเรียนเพื่อเพิ่มและพัฒนาทักษะ (Upskill/Reskill) ให้แก่นักศึกษาให้มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อให้ได้งานที่ดี มีรายได้สูงขึ้น

ในด้านการเพิ่มโอกาส โดยแนวทางที่จะเพิ่มโอกาสให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยและประเทศไทยจะทำใน 4 ประเด็น คือ

1.การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานจริงกับภาคเอกชน สร้างโอกาสให้นักศึกษาได้งานทำที่เหมาะสมหลังจบการศึกษา 

2. ในการผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน จะให้มีการจัดทำหลักสูตรที่ไม่อยู่ในรูปแบบปกติเพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตออกมาได้รวดเร็ว มีคุณภาพ เป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศ ในการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น EV หรือ เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) เป็นต้น

3. การทำงานวิจัยที่คมชัดตรงเป้าตามโจทย์ของประเทศ

4. การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่สร้างรายได้จากการดึงดูดผู้เรียนจากภายนอกประเทศเข้ามาเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศ

“ กฎระเบียบต่างๆ ที่จะทำไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เราแก้ให้หมดแล้ว เราได้จัดเตรียมคณะทำงานงบประมาณแล้ว ขอเพียงความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมมือกับเรา เพื่อที่จะขับเคลื่อนมีการปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ เด็กม.6 เรียนมหาวิทยาลัยได้ ก่อนที่จะจบม.6 สามารถสะสมหน่วยกิต เข้าไปในเครดิตแบงค์ได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราต้องการให้เด็กเรียนจบเร็วกว่า 4 ปี ”