สงกรานต์-ฮีทสโตรก รวบทุกข้อสังเกต-ระวังที่ควรรู้
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วงอากาศร้อนจัด ออกเตือนช่วงสงกรานต์จัดขบวนแห่-กิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงให้ข้อมูลเพื่อป้องกันตนเองจาก "ฮีทสโตรก"
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนไทยอากาศร้อนจัด ช่วงสงกรานต์จัดกิจกรรมการแสดง-ขบวนแห่กลางแจ้ง อาจเกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก
- ฮีทสโตรกคืออะไร
โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับอุณหภูมิภายในร่างกายได้ ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว และเสียชีวิต
สำหรับอาการเตือนที่บ่งบอกว่าเกิดภาวะฮีทสโตรก คือ ผิวหนังแดง ตัวร้อนจัด ชีพจรเต้นเร็วและแรง ไม่มีเหงื่อ ปวดศีรษะ มึนงง สับสน คลื่นไส้อาเจียน ความรู้สึกตัวลดลง จนถึงหมดสติ
- กลุ่มเสี่ยงควรระวังเป็นพิเศษ
กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น และกลุ่มวัยทำงาน ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ออกกำลังกายหรือใช้กำลังมากเป็นเวลานาน
ซึ่งช่วงนี้ใกล้เทศกาลสงกรานต์ หลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมการแสดง จัดขบวนแห่กลางแจ้ง จึงขอให้ระมัดระวังและป้องกันตนเอง
- วิธีป้องกัน
สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อบางเบา และระบายความร้อนได้ดี ควรพักเข้าในที่ร่มเป็นระยะๆ ดื่มน้ำให้บ่อยขึ้นและมากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หากมีการออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงควรดื่มน้ำ 2-4 แก้ว ทุกชั่วโมง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือมีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย
ส่วนกลุ่มเปราะบาง แนะนำหลีกเลี่ยงการออกแดดจัด และอยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ดี
- วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก คือ นำตัวผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม จัดให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม ลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัว
เพราะจะขัดขวางการระบายความร้อนออกจากร่างกาย หากรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำมากๆ แต่หากไม่รู้สึกตัวให้โทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล