‘มุ้งสู้ฝุ่น‘ ถึงเวลาสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นPM2.5 ภายในบ้าน
สธ.แนะวิธีการสร้าง ‘มุ้งสู้ฝุ่น’ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้านให้แก่กลุ่มเปราะบาง ชี้มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการซื้อเครื่องฟอกราคาแพง พร้อมเผย 5 โรคสำคัญที่รับผลกระทบ คือ ถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด ผื่นแพ้ผิวหนัง ตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด
'มุ้งสู้ฝุ่น' คือการดัดแปลงมุ้งที่ใช้กางนอน เป็นพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน โดยกระทรวงสาธารณสุขออกมาผลักดันให้ประชาชนใช้งาน ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการซื้อเครื่องฟอกอากาศคุณภาพดี ลดค่าฝุ่นได้จริง และเหมาะกับการสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่น โดยเฉพาะให้แก่กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง ที่เป็นสมาชิกครอบครัว
- อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1.มุ้งผ้าฝ้าย
2.เครื่องฟอกอากาศ DIY ทำเอง
3.เครื่องวัดฝุ่นพกพา
4.กริ่งฉุกเฉิน
- ขั้นตอนการประกอบ
1.กางมุ้งครอบกลุ่มเปราะบาง โดยให้พื้นที่ด้านบนของมุ้งต่ำกว่าพื้นที่หลังคาประมาณ 10-15 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย และจัดการปิดมุ้งให้มิดชิด
2.ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศข้างมุ้งหันด้าน อากาศสะอาดเข้าในมุ้งจัดชายมุ้งให้คลุมท่อ อากาศสะอาดและจัดให้มิดชิดไม่ให้ฝุ่นเข้าได้ เปิดเครื่องฟอกอากาศให้ทำงานเพื่อเติมอากาศสะอาดในมุ้งเมื่อมากพอระดับหนึ่งจะดันไม่ให้
PM2.5นอกมุ้งเข้าไปในมุ้งทำให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มเสี่ยงได้รับอากาศสะอาด
3.เปิดเครื่องวัดฝุ่นพกพาวัดเปรียบเทียบ ค่าฝุ่นนอกบ้านนอกมุ้งและในมุ้งหากค่าฝุ่น ในมุ้งเกิน25มคก.ต่อลบม.ให้ปรับความแรงเครื่องฟอกDIYเติมอากาศสะอาดในมุ้ง
4.กริ่งฉุกเฉิน ใช้กดเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่อยู่นอกมุ้ง
โดยการทำมุ้งสู้ฝุ่นนี้ มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 1,600 บาท
- สธ.เร่งติดตามสถานการณ์ฝุ่น
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นในเชียงใหม่ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และมาตรการด้านสาธารณสุข พร้อมมอบมุ้งสู้ฝุ่นให้กับตัวแทน อสม. ทั้ง 25 อำเภอ เพื่อส่งมอบให้กับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในพื้นที่
นพ.ชลน่านกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงขึ้นต่อเนื่องในเขตภาคเหนือ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ติดตามมาตรการดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการรองรับไว้ตั้งแต่เข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนตุลาคม 2566 ที่เริ่มพบค่าฝุ่นสูงขึ้น 4 มาตรการหลัก ได้แก่
1) ส่งเสริมการลดมลพิษ ด้วยการสื่อสารให้ความรู้ประชาชน
2) ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ ด้วยการเฝ้าระวังแจ้งเตือนประชาชน และเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง
3) จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งบริการเชิงรุกในพื้นที่และในสถานพยาบาล และ
4) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ผ่านระบบบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะวิกฤต
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า เขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ได้บูรณาการแพลตฟอร์มระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ กรณี PM 2.5 ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและมหาวิทยาลัย เป็น "One Region One Surveillance System" ติดตามข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทั้งสถานการณ์ จุดความร้อน และผลกระทบสุขภาพ 5 โรคสำคัญ คือ ถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด ผื่นแพ้ผิวหนัง ตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด จากระบบฐานข้อมูล HIS ของโรงพยาบาลในเขต 103 แห่ง ทำให้ตอบโต้สถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังเพิ่มการเฝ้าระวังโรคมะเร็งปอด โดยจัดทำโครงการต้นแบบคัดกรองมะเร็งปอด “Lanna CA Screening model project” ด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low dose CT scan) ในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีมีการสูบบุหรี่ 30 ซอง/ปี อยู่ในพื้นที่มากกว่า 20 ปี และมีญาติพี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด ซึ่งในเขตมีประมาณ 1.8 ล้านคน โดยจะผลักดันให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ของมะเร็งครบวงจรต่อไป