posttoday

Invisibility Shield 2.0 โล่ล่องหน อุปกรณ์ที่ช่วยให้เราหายตัวในชีวิตจริง

11 เมษายน 2567

การล่องหนหายตัว ถือเป็นหนึ่งในพลังพิเศษที่เราเคยเห็นเพียงในสื่อบันเทิงที่ช่วยให้เรากลืนไปกับสภาพแวดล้อม เราต่างเข้าใจมาตลอดว่านี่คือเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปจากการมาถึง Invisibility Shield 2.0 ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถล่องหนได้

เมื่อพูดถึงมนุษย์ล่องหนเราต่างทราบดีว่านี่เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปตามสื่อบันเทิงในภาพยนตร์ กับการที่คนเราจะเปลี่ยนคุณสมบัติตัวเองให้โปร่งแสงจากพลังหรืออุปกรณ์พิเศษบางชนิด ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานกลืนหายไปกับสภาพแวดล้อมจนไม่สามารถมองเห็นได้

 

          จริงอยู่มันฟังดูเป็นเรื่องน่าสนุกจนอาจกลายเป็นความฝันในวัยเด็กของหลายคน เมื่อเราสามารถล่องหนหายตัวไปได้ดังใจ อย่างไรก็ตามเมื่อโตขึ้นเราต่างทราบดีว่าการล่องหนเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน ไม่สามารถเกิดขึ้นในชีวิตจริงจนหลายคนหลงลืมมันไป

 

          แต่ทั้งหมดอาจไม่ได้เป็นเพียงความฝันกับความพยายามที่ทำให้มันเกิดขึ้นในชีวิตจริง

 

Invisibility Shield 2.0 โล่ล่องหน อุปกรณ์ที่ช่วยให้เราหายตัวในชีวิตจริง

 

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาผ้าคลุมล่องหน

 

          เมื่อพูดถึงอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานล่องหนได้ สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงย่อมเป็นผ้าคลุมล่องหน จากตำนานโบราณของวิเศษแห่งชาวเวลส์ สู่การหยิบมาใช้งานตามสื่อบันเทิงทั้งในรูปแบบหนังสือ การ์ตูน หรือภาพยนตร์ต่างๆ แต่อันที่จริงก็มีความพยายามในการคิดค้นอุปกรณ์ชนิดนี้อยู่หลายครั้ง

 

          แนวคิดของวัสดุล่องหนเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1967 จาก Victor Veselago นักฟิสิกส์ชาวรัสเซีย กับทฤษฎีที่ว่าหากสามารถพัฒนาวัสดุหรือโมเลกุลที่มีค่าการหักเหแสงเป็นลบ หรือก็คือมีค่าหักเหแสงสูงกว่าอากาศมากพอ อาจสามารถบิดเบือนการมองเห็นภายในพื้นที่นั้นๆ ก็อาจสร้างสถานะล่องหนขึ้นมาได้

 

          ในช่วงเวลาดังกล่าวแนวคิดนี้เป็นเพียงทฤษฎีเพราะวัสดุตามธรรมชาติไม่สามารถมีค่าหักเหแสงสูงขนาดนั้น จวบจนยุคปี 2000 ทุกอย่างจึงเริ่มเป็นรูปร่างจากความสำเร็จในการคิดค้น metamaterial ขดลวดทองแดงขนาดจิ๋วที่สร้างสนามแม่เหล็กในการหักเหคลื่นแสง กำเนิดเป็นวัสดุค่าหักเหแสงเป็นลบจนล่องหนได้ในที่สุด

 

          ความสำเร็จนี้เองนำไปสู่ความพยายามในการนำ metamaterial นี้มาใช้ในการพัฒนาผ้าคลุมล่องหน โดยการส่งคลื่นไมโครเวฟความยาวระดับ 1 เซนติเมตร คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าสู่แผงวงจรเพื่อสร้างคุณสมบัติในการหักเหแสงเป็นลบ ก่อกำเนิดเป็นผ้าคลุมล่องหนออกมาได้สำเร็จ

 

          อย่างไรก็ตามผ้าคลุมล่องหนที่ได้รับการพัฒนาในช่วงแรกมีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งต้องพึ่งพาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้ต้องอาศัยแหล่งพลังงานจากภายนอก ความเปราะบางของวัสดุ ไปจนการเกิดเงาดำในบริเวณที่มีการใช้งาน นี่จึงเป็นโครงการทดลองมากกว่า

 

          แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันนำไปสู่การพัฒนาให้สามารถใช้งานจริงได้แล้วเช่นกัน

 

Invisibility Shield 2.0 โล่ล่องหน อุปกรณ์ที่ช่วยให้เราหายตัวในชีวิตจริง

 

Invisibility Shield 2.0 สู่การล่องหนในชีวิตจริง

         

          ผลงานนี้เป็นของบริษัท Invisibility Shield Co แห่งสหราชอาณาจักร กับการพัฒนา Invisibility Shield 2.0 โล่ล่องหนที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ทำให้คนรอบข้างไม่ทันสังเกตเห็นจนใกล้เคียงกับการเป็นมนุษย์ล่องหนในชีวิตจริง

 

          กลไกการทำงานของ Invisibility Shield 2.0 เกิดจากแผ่นโพลีคาร์บอเนตใสทรงโค้ง อาศัยการยึดโครงและขาตั้งด้วยวัสดุชนิดเดียวกันเพื่อใช้เป็นตัวค้ำยัน ภายในประกอบไปด้วยเลนส์ทรงผอมสูงหลายชุดซึ่งมีคุณสมบัติสะท้อนแสงติดตั้งอยู่ภายใน ทอดยาวตั้งแต่ด้านบนจรดล่างทั่วทั้งแผ่น

 

          เมื่อโล่นี้ได้รับแสงส่องเข้ามาจากภายนอกเลนส์จะทำการกระจายและสะท้อนแสงให้ทั่วพื้นผิว ช่วยปิดบังสิ่งที่ถูกตั้งไว้เบื้องหลังแผ่นใสนี้ให้กลืนไปกับสภาพแวดล้อม ดังนั้นหากทำการตั้งโล่ไว้แล้วเข้าไปยืนหลบอยู่ด้านหลัง ตัวเราก็จะกลืนไปกับสภาพแวดล้อมจนอยู่ในสถานะล่องหนในที่สุด

 

          อย่างไรก็ตามแม้โล่จะช่วยทำให้ผู้ใช้งานหรือวัตถุที่อยู่ด้านหลังกลืนไปกับสภาพแวดล้อม แต่ในความจริงไม่ได้แนบเนียนจนแยกไม่ออก หากแสงมากพอเราก็ยังสามารถมองเห็นความแตกต่างทางรายละเอียดในลักษณะใกล้เคียงกับสีหม่นลงเล็กน้อย เป็นข้อแตกต่างที่อาจทำให้ถูกจับสังเกตได้ไม่ยาก

 

          นอกจากนี้ด้วยคุณลักษณะการออกแบบอยู่ในลักษณะโล่ มุมมองสายตาที่แสงจะตกกระทบจึงค่อนข้างสำคัญต่อการสะท้อนแสง อีกทั้งหากต้องการประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด ผู้ใช้งานจำเป็นต้องสวมเสื้อผ้าสีอ่อนเพื่อลดการดึงดูดแสงลงให้มากที่สุด มิเช่นนั้นในกรณีแสงจ้าเราจะถูกมองเห็นเป็นเงาลางๆ

 

          นี่จึงอาจไม่ใช่ผ้าคลุมล่องหนอย่างที่เราจินตนาการไว้แต่ช่วยให้เราทำได้ใกล้เคียงการล่องหนยิ่งขึ้น

 

 

 

          จริงอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับผ้าคลุมล่องหนในจินตนาการหรือที่มีการเปิดตัวของจีน Invisibility Shield 2.0 อาจมีข้อจำกัดและไม่สะดวกต่อการใช้งานเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นอุปกรณ์ล่องหนที่เปิดโอกาสให้ทุกท่านได้จับจองเป็นเจ้าของได้ทั่วไปสนนราคาเริ่มต้นที่ 299 ดอลลาร์(ราว 10,886 บาท)

 

          ส่วนเมื่อซื้อแล้วจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรนั่นอาจเป็นส่วนที่เราต้องมาคิดกันอีกที

 

 

          ที่มา

 

          https://mgronline.com/science/detail/9640000127439

 

          https://www.purdue.edu/uns/x/2007a/070611VeselagoLecture.html

 

          https://newatlas.com/good-thinking/invisibility-shield-2/