“BKK Food Bank” มินิมาร์ทเติมบุญ ส่งต่อ Food Waste แก่กลุ่มเปราะบาง
รู้จักกับ "BKK Food Bank" มินิมาร์ทเติมบุญ ส่งต่อ Food Waste แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่าผู้รับทุกคนมีสิทธิเลือกสิ่งของที่ต้องการอย่างอิสระ ผลักดันคุณค่าแห่งความเท่าเทียม
BKK Food Bank ไม่ได้เป็นเพียงจุดรับอาหารเท่านั้น แต่เป็นการต่อยอดนโยบายของ กทม. รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงสวัสดิการ โดยการเป็นจุดเชื่อมต่อให้ผู้รับเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสวัสดิการรัฐจากสำนักงานเขต พร้อมขยายศูนย์ให้บริการอีก 50 เขตในอนาคต
BKK Food Bank คืออะไร
BKK Food Bank นับเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่คนเมือง (food safety) และสร้างกลไกส่งต่อความช่วยเหลือ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตามแนวคิด SDGs ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่าผู้รับทุกคนมีสิทธิเลือกสิ่งของที่ต้องการอย่างอิสระ ไม่ต่างจากการไปใช้จ่ายในมินิมาร์ททั่วไป แนวทางนี้ช่วยส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ช่วยให้ผู้รับรู้สึกมีคุณค่าและสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง เพื่อให้ของบริจาคไม่เป็นของเหลือทิ้งอีกต่อหนึ่ง
โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดหารวบรวมวัตถุดิบ อาหารส่วนเกิน และของอุปโภคต่าง ๆ จากผู้บริจาค แล้วส่งต่อให้กับ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
การดำเนินงานของ BKK Food Bank คือจะรวบรวมวัตถุดิบ อาหารส่วนเกิน และของอุปโภคต่าง ๆ จากผู้บริจาค ก่อนจะทำการคัดแยกและจัดเก็บอาหารอย่างถูกต้อง จากนั้นจึงส่งต่ออาหารให้ผู้ที่ต้องการผ่านศูนย์ BKK Food Center ที่สำนักงานเขต
BKK Food Bank ซื้ออะไรได้บ้าง?
อาหารแห้ง: ข้าวสาร อาหารกึ่งสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง
ของใช้จำเป็น: สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ทิชชู่เปียก ยาพาราเซตามอล
ขั้นตอนการจับจ่ายที่ BKK Food Bank
1. รายงานตัวรับพาสปอร์ตและคูปอง เพื่อใช้ในการคำนวณวันเข้ารับบริการ
2. เลือกสินค้าตามความต้องการ
3. รับสินค้ากลับบ้าน
ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน BKK Food Bank ส่งต่ออาหารแก่ผู้ที่ต้องการแล้ว 39,511 คน ทั่วกรุงเทพฯ หรือคิดเป็น 234,976 มื้อ ลดปริมาณคาร์บอนไปแล้วกว่า 141,545 (KgCO2e)
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ ได้แล้ววันนี้ ที่ 4 เขตนำร่อง ได้แก่ เขตห้วยขวาง เขตพระโขนง เขตบางขุนเทียน เขตบางพลัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เขตห้วยขวาง (โทร. 0 2275 4234)
- ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เขตบางขุนเทียน (โทร. 0 2416 5406)
- ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เขตพระโขนง (โทร. 0 2332 9453)
- .ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เขตบางพลัด (โทร. 0 2434 6370)