posttoday

ความช่วยเหลือน่าขนลุก กองทัพแมลงสาบไซบอร์กสำหรับกู้ภัย

09 พฤษภาคม 2567

แมลงสาบ อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ผู้คนพากันรังเกียจและขยะแขยง ด้วยรูปแบบพฤติกรรมและวงจรชีวิตที่เกี่ยวพันกับสิ่งสกปรกอย่างเหนียวแน่นนี่จึงเป็นแมลงที่ไม่มีใครชอบ แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีแนวคิดในการพัฒนาแมลงสาบไซบอร์กสำหรับการกู้ภัย

จริงอยู่โลกเราต่างมีความคิดเห็นหลากหลาย แต่เมื่อพูดถึงแมลงสาบนี่ถือเป็นภาษาสากลตัวแทนแห่งสิ่งสกปรกโดยพร้องเพรียง ด้วยเรามักพบเห็นพวกมันใช้ชีวิตและหาอาหารตามกองขยะกันทั่วไป ทำให้แมลงชนิดนี้เป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรกและเชื้อโรคนานาชนิด

 

          วงจรและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแมลงสาบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและพบเห็นได้ทั่วทุกมุมโลก ทำให้เมื่อเราได้พบกับแมลงสาบสักตัววิ่งผ่านย่อมเดาได้ไม่ยากถึงสภาพพื้นที่บริเวณนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเมื่อได้เห็นพวกมันอยู่กันเป็นฝูงหรือบินเข้าหาที่อาจทำให้หลายคนเสียขวัญได้เลย

 

          แต่จะเป็นอย่างไรหากฝูงแมลงสาบที่เราพยายามหลีกเลี่ยง อาจถูกนำมาใช้ในภารกิจค้นหาและกู้ภัย

 

ความช่วยเหลือน่าขนลุก กองทัพแมลงสาบไซบอร์กสำหรับกู้ภัย

 

แมลงสาบไซบอร์ก มิติใหม่แห่งการกู้ภัย

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Nanyang Technological University แห่งสิงค์โปร์ กับความพยายามในการพัฒนาแนวทางกู้ภัยและค้นหาผู้รอดชีวิตเมื่อประสบเหตุฉุกเฉิน สู่การคิดค้นอุปกรณ์ชนิดใหม่สำหรับควบคุมการเคลื่อนไหวของแมลงสาบ เพื่อใช้ในการสำรวจและช่วยเหลือในพื้นที่อันตราอย่างมีประสิทธิภาพ

 

          การค้นหาผู้รอดชีวิตและเข้าช่วยเหลือถือเป็นภารกิจอันดับแรกสำหรับทีมกู้ภัย แต่เราทราบดีว่าการค้นหาผู้รอดชีวิตภายในพื้นที่ประสบภัยไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น  แผ่นดินไหว พายุหมุน ไปจนดินโคลนถล่ม ที่มักทำให้มีผู้ประสบภัยติดอยู่ในซากปรักหักพังจึงค้นหาและช่วยเหลือได้ยาก

 

          นี่เองจึงนำไปสู่แนวคิดในการพึ่งพา แมลงสาบไซบอร์ก ด้วยคุณสมบัติพื้นฐานของแมลงสาบที่เล็ก ปราดเปรียว ลัดเลาะเข้าไปในพื้นที่ขนาดเล็กได้ดี พร้อมปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิประเทศได้เกือบทุกรูปแบบ หากสามารถบังคับควบคุมแมลงสาบเหล่านี้ได้ อาจกลายเป็นกำลังชั้นดีในการสำรวจพื้นที่เข้าถึงได้ยาก

 

          ทางทีมวิจัยจึงได้ทดสอบโดยการนำแมลงสาบมาดากัสการ์มาติดตั้งอุปกรณ์คล้ายเป้สะพายหลังขนาดจิ๋ว ที่มีคุณสมบัติในการถ่ายทอดคำสั่งผ่านอิเล็กโทรดเข้าสู่อวัยวะรับความรู้สึกของแมลงสาบ เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวและออกคำสั่งพวกมันให้เข้าสู่พื้นที่ที่กำหนดแบบเฉพาะเจาะจง

 

          กระบวนการนี้อาศัยประโยชน์จากอัลกอริทึมควบคุมแบบฝูง อาศัยการนำของตัวที่ถูกกำหนดให้เป็นจ่าฝูง 1 ตัว กระจายคำสั่งให้แก่แมลงสาบทั่วไปอีก 19 ตัว จากนั้นจึงสามารถควบคุมให้แมลงสาบในกลุ่มทดลอง 20 ตัวเข้าสำรวจพื้นที่เป้าหมาย และสามารถทำตามวัตถุประสงค์ได้โดยไม่จำเป็นต้องป้อนคำสั่งใดเพิ่มเติม

 

          นี่จึงอาจเป็นครั้งแรกของโลกที่เราอาจได้เห็นการใช้แมลงสาบในการช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัย

 

ความช่วยเหลือน่าขนลุก กองทัพแมลงสาบไซบอร์กสำหรับกู้ภัย

 

เจาะลึกข้อสงสัย ทำไมต้องแมลงสาบ?

 

          ถึงตรงนี้คำถามที่ทุกท่านน่าจะตั้งข้อสงสัยคงเป็น เหตุใดจึงต้องเป็นแมลงสาบ เมื่อปัจจุบันเรามีเครื่องมือค้นหานานาชนิดในการค้นหาสัญญาณชีพ อุปกรณ์ตรวจสอบใต้ดิน ไปจนหุ่นยนต์และโดรนต่างๆ ที่ดูน่าจะพึ่งพาและใช้งานได้ง่ายกว่าเจ้าแมลงที่เราพบเห็นได้ตามกองขยะเหล่านี้

 

          สาเหตุสำคัญเนื่องจากเมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรง เช่น แผ่นดินทรุดหรืออาคารถล่ม ซากปรักหักพังจะเป็นสิ่งกีดขวางสำคัญทำให้เครื่องมือทั้งหลายยากต่อการค้นหาผู้รอดชีวิต โดรนส่วนมากทำได้เพียงสำรวจวงกว้างแต่ไม่สามารถเจาะลึกรายละเอียด ส่วนหุ่นยนต์มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวที่แค่การขึ้นบันไดยังเป็นเรื่องยาก

 

          ด้วยเหตุนี้การใช้งานสิ่งมีชีวิตที่มีกล้ามเนื้อและโครงสร้างร่างกายอยู่ก่อนจึงดูจะง่ายกว่า โดยเฉพาะสัตว์ขนาดเล็กซึ่งซอกซอนไปตามพื้นที่แคบได้สะดวก หากสามารถควบคุมสิ่งมีชีวิตเหล่านี้และนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการสำรวจพื้นที่ได้ ก็อาจสำรวจพื้นที่อันตรายและเข้าถึงผู้รอดชีวิตทันท่วงที

 

          สำหรับแมลงสาบมีจุดเด่นสำคัญในด้านการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ชำนาญในการสำรวจภูมิประเทศซับซ้อน เคลื่อนไหวหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางและพวกเดียวตามสัญชาตญาณโดยไม่จำเป็นต้องควบคุมมาก จุดเด่นเหล่านี้ทำให้ทีมวิจัยเกิดความสนใจนำไปพัฒนาเป็นไซบอร์กเพื่อออกคำสั่งในที่สุด

 

          ด้วยความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางเป็นสิ่งที่แมลงสาบทำเป็นแต่กำเนิด การออกคำสั่งส่วนใหญ่มีเพียงกำหนดพื้นที่เป้าหมายเป็นหลัก จึงอาศัยพลังงานในการออกคำสั่งจากอุปกรณ์ที่ได้รับการติดตั้งต่ำ รวมถึงการบังคับควบคุมโดยตรงจากทีมวิจัยน้อยกว่า ช่วยให้พวกมันปฏิบัติภารกิจได้ต่อเนื่องยาวนานกว่าสัตว์ชนิดอื่น

 

          นอกจากนี้แมลงสาบก็ไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ถูกฝึกและพัฒนาให้ทำหน้าที่กู้ภัย ทีมวิจัยจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Apopo เองก็มีการเลี้ยงดูและฝึกฝน หนูยักษ์แอฟริกา ให้คุ้นเคยสำหรับปฏิบัติการกู้ภัยและค้นหาผู้รอดชีวิตขึ้นมาแล้วเช่นกัน รวมถึงการใช้หนูในการตรวจจับวัตถุระเบิดและโรคระบาดอีกด้วย

 

          ดังนั้นทีมแมลงสาบไซบอร์กกู้ภัยสำหรับสำรวจและค้นหาผู้รอดชีวิตเองจึงอาจไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเสียทีเดียว

 

 

 

          อย่างไรก็ตามท่านที่หวาดกลัวแมลงสาบอาจยังไม่ต้องรีบกังวลนัก ด้วยปัจจุบันแมลงสาบไซบอร์กเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงอีกหลายด้านทั้งระยะทำการ ขอบเขตการเคลื่อนไหว รวมถึงจำนวนในการควบคุมสูงสุดในแต่ละครั้งที่ยังต้องทดสอบกันต่อไป

 

          จึงขอให้สบายใจได้ว่าอย่างน้อยเราคงไม่ต้องทักทายแมลงสาบฝูงใหญ่ที่ตั้งใจเข้ามาให้ความช่วยเหลือในเร็ววัน

 

 

 

          ที่มา

 

          https://interestingengineering.com/innovation/cyborg-cockroach-swarms-rescue-missions

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/687262