posttoday

สปสช.เตรียมดัน ‘ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน‘

04 มิถุนายน 2567

สปสช.เตรียมดัน โครงการห้องพยาบาลอิเล็กโทรนิกส์ในโรงเรียน เผยใช้การรักษาจากแพทย์ผ่าน “ระบบการแพทย์ทางไกล” พร้อมจัดส่งยาให้ถึงบ้าน โดยใช้สิทธิบัตรทองไม่เสียค่าใช้จ่าย ลดภาระครูห้องพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายโรงเรียนไม่ต้องจัดซื้อยา

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงาน “โครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเป็นการนำระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ของแอปพลิเคชัน Clicknic มาประยุกต์ใช้กับห้องพยาบาลในโรงเรียน เพื่อลดภาระครูในการเข้าเวรห้องพยาบาล และช่วยให้นักเรียนได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยตรง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า แม้ สปสช. จะดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง รวมถึงนักเรียนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่น แต่การไปรับการรักษาที่สถานพยาบาบก็มีค่าเสียโอกาสอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ต้องลางาน ลาเรียน เสียรายได้ที่ต้องหยุดงาน เป็นต้น ดังนั้น สปสช. มีนโยบายเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ขณะเดียวกันก็ลดการเสียโอกาสต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งโรงเรียนก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญ และจากสถิติพบว่าจะมีเด็กที่เจ็บป่วยในโรงเรียนประมาณ 1%

ทั้งนี้ ปกติทุกโรงเรียนมีห้องพยาบาลอยู่แล้วและมีครูคอยดูแลห้องพยาบาล ซึ่งครูเองก็มีภาระการเรียนการสอนและยังต้องมาอยู่เวรห้องพยาบาล แต่ด้วย “โครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์” นอกจากลดภาระครูแล้ว ยังเป็นการยกระดับห้องพยาบาล ด้วยการนำระบบการแพทย์ทางไกลมาใช้ในการดูแลผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพ ซึ่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสิทธิประโยชน์ระบบการแพทย์ทางไกลนี้ ครอบคลุมการดูแล 42 กลุ่มอาการ เมื่อมีเด็กนักเรียนที่มีอาการเจ็บป่วยขึ้นก็สามารถพบแพทย์ได้โดยตรง สะดวก เร็วเร็ว ซึ่งโรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัยเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่นำร่องโครงการฯ นี้ หากได้ผลลัพธ์ที่ดี สปสช. อยากให้ที่นี่เป็นต้นแบบ และจะหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อขยายผล นำไปใช้กับโรงเรียนในพื้นที่ กทม. ต่อไป

นายนีล นิลวิเชียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด ผู้ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน Clicknic กล่าวว่า ปัญหาของห้องพยาบาลในโรงเรียนคือ ครูประจำห้องพยาบาลอาจไม่มีขีดความสามารถด้านการดูแลสุขภาพเทียบเท่ากับบุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดียวกันครูเองก็มีภาระงานการสอน  เมื่อถึงช่วงพักก็ต้องมาเข้าเวรห้องพยาบาล ส่วนโรงเรียนเองก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องสำรองยาและเวชภัณฑ์ บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จึงได้มีแนวคิดจัดทำ “โครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์” และได้รับโอกาสจากผู้บริหารของโรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย ในการนำระบบของ Clicknic มาให้การดูแลสุขภาพนักเรียนในโรงเรียน โดยมีพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลที่สามารถทำหัตถการได้มาประจำอยู่ในห้องพยาบาล โดยบริษัทจะดูแลเรื่องยาให้แก่โรงเรียน ซึ่งยาสามัญทั่วไปจะมีการจัดสำรองไว้ที่ห้องพยาบาล ส่วนยาที่แพทย์สั่งจ่ายในการตรวจรักษาผ่านระบบการแพทย์ทางไกล และต้องจ่ายโดยเภสัชกรก็จะจัดส่งให้เด็กนักเรียนถึงที่บ้าน

ข้อดีของการบริหารจัดการห้องพยาบาลในโรงเรียนรูปแบบคือ เด็กนักเรียนจะได้รับการดูแลโดยบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพ ได้พบแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกลทุกครั้ง และได้รับการจ่ายยาพร้อมคำอธิบายการใช้ยาโดยเภสัชกร และมีพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลที่ทำหัตถการได้คอยให้บริการเบื้องต้น ขณะที่ครูจะลดภาระงาน มีเวลาพักมากขึ้น รวมทั้งโรงเรียนก็ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านยาเองต่อไป โดยนักเรียนที่มีสิทธิบัตรทอง ทาง Clicknic จะเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับ สปสช. ภายใต้สิทธิประโยชน์การให้บริการผ่านระบบการแพทย์ทางไกล แต่ในส่วนนักเรียนที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง เช่น ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการของผู้ปกครอง ทาง Clicknic ก็จะให้บริการในรูปแบบเดียวกันและดำเนินการเบิกจ่ายตามสิทธิเช่นกัน

ด้าน นายศักดิ์นรินทร์ หนูทา รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานทั่วไป โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและของคุณ สปสช. ที่ให้โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย เป็นต้นแบบของโครงการนี้ โรงเรียนมีนักเรียนกว่า 3,600 คน และมีเด็กมารับบริการที่ห้องพยาบาลทุกระยะ ที่ผ่านมาครูที่ดูแลห้องพยาบาลจะเป็นครูที่ได้รับการอบรมทางด้านสุขศึกษาซึ่งมีความรู้การดูแลในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีศักยภาพในการดูแลไม่เทียบเท่าบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง เป็นเพียงการดูแลเบื้องต้น ซึ่งการบริหารจัดการภายใต้โครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้นักเรียนได้รับการดูแล รวดเร็ว ทันท่วงที จากบุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์ ขณะเดียวกันทำให้คุณครูที่ต้องผลัดเวรมาประจำห้องพยาบาลได้มีเวลาเพื่อเตรียมการสอนนักเรียนได้มากขึ้น ถือได้เป็นการ “คืนครูสู่ห้องเรียน” อีกทางหนึ่งด้วย