ภัยเงียบต่อมนุษยชาติ เมื่อไมโครพลาสติกอาจทำให้เราเป็นหมัน
ที่ผ่านมาเคยได้ยินพิษภัยจากไมโครพลาสติกมามากมาย การปนเปื้อนสามารถส่งผลกระทบในหลายด้านทั้งต่อสุขภาพร่างกายหรือสิ่งแวดล้อม และผลการวิจัยล่าสุดยังพบว่า ไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์
ไมโครพลาสติก นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เริ่มได้รับการพูดถึงมากขึ้น ภายหลังการค้นพบว่าพลาสติกที่เราใช้งานไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาจากความทนทานย่อยสลายยาก แต่เมื่อเกิดการแตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โมเลกุลเหล่านี้ยังสามารถเข้าไปปนเปื้อนสภาพแวดล้อมได้เช่นกัน
ปัจจุบันระดับการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับเกินการควบคุม นอกจากเรายังไม่มีวิธีรับมือจัดการคัดแยกไมโครพลาสติกออกมาเป็นรูปธรรม กิจกรรมของมนุษย์ก็ยังก่อให้เกิดไมโครพลาสติกชนิดใหม่ทับซ้อนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะบอกถึงผลกระทบที่จะตามมา
โดยเฉพาะข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดที่พบว่า ไมโครพลาสติกอาจทำให้มนุษย์เรามีโอกาสเป็นหมันได้
เมื่อไมโครพลาสติกอยู่ในระบบสืบพันธุ์
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of New Mexico กับการวิเคราะห์การปนเปื้อนไมโครพลาสติกภายในเนื้อเยื่อลูกอัณฑะของมนุษย์และสุนัข เพื่อตรวจสอบผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการสืบพันธุ์ ก่อนพบการปนเปื้อนจากไมโครพลาสติกมากกว่า 12 ชนิด จนอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสเปิร์มที่ผลิต
เราทราบกันดีว่าไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อนและแทรกซึมเข้าไปได้ทุกที่ ตั้งแต่ในดิน น้ำ อากาศ พืชพรรณ สัตว์ ไปจนถึงร่างกายของเรา ทำให้เกิดคำถามว่าปริมาณและลักษณะองค์ประกอบของไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อนอัณฑะของสิ่งมีชีวิตได้หรือไม่
นำไปสู่แนวคิดในการตรวจสอบไมโครพลาสติกภายในระบบสืบพันธุ์ โดยเนื้อเยื่ออัณฑะมนุษย์ได้รับมาระหว่างการชันสูตรพลิกศพโดยไม่มีการระบุชื่อเป็นจำนวน 23 ราย จากสำนักวิจัยทางการแพทย์ ส่วนเนื้อเยื่ออัณฑะสุนัขถูกเก็บมาระหว่างการทำหมัน จากสถานสงเคราะห์และคลินิกสัตวแพทย์จำนวน 47 ตัวอย่าง
หลังจากนำเนื้อเยื่ออัณฑะที่ได้รับมาขจัดเซลล์ส่วนเกินแล้วทำการตรวจสอบโดยละเอียดพบว่า ภายในเนื้อเยื่อมีการค้นพบไมโครพลาสติกกว่า 12 ชนิด โดยในระดับไมโครพลาสติกที่ค้นพบจากเนื้อเยื่อสุนัขอยู่ที่ 122.63 ไมโครกรัม/กรัม ในขณะที่เนื้อเยื่อมนุษย์จะอยู่ที่ 328.44 ไมโครกรัม/กรัม
ประเภทของไมโครพลาสติกที่มีการค้นพบมากที่สุดจากเนื้อเยื่อทั้งสองชนิดคือ Polyethylene(PE) ที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตฟิล์ม สารเคลือบผิว หรือภาชนะบรรจุอาหาร และ Polyvinyl chloride(PVC) พลาสติกที่ถูกใช้งานในฐานะวัสดุก่อสร้าง ของประดับตกแต่ง ไปจนอุปกรณ์ทางการแพทย์
อันตรายจากไมโครพลาสติกที่อาจส่งผลต่อการสืบพันธุ์
ถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดเราจึงต้องตรวจสอบเนื้อเยื่อมนุษย์ร่วมกับสุนัข ที่เป็นแบบนี้เนื่องจากโดยพื้นฐานการสร้างรวมถึงระดับความเข้มข้นของสเปิร์มจากทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จึงง่ายต่อการตรวจสอบเปรียบเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้สภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตในปัจจุบันของมนุษย์และสุนัขมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์เลี้ยงดูและมองสุนัขอยู่ในฐานะสัตว์เลี้ยงไปจนคนในครอบครัว จึงมีโอกาสใช้งานและเข้าถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกในระดับใกล้เคียงกัน และยังเป็นการตรวจสอบผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อระบบสืบพันธุ์สัตว์อีกด้วย
สำหรับไมโครพลาสติกทั้งสองชนิดเมื่อเกิดการปนเปื้อนล้วนเป็นอันตราย สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ในหลายระดับ แต่สำหรับระบบสืบพันธุ์นั้น Polyethylene จะทำให้เกิดการหยุดชะงักและขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนบางชนิด ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการเจริญพันธุ์โดยตรง
ในส่วนของ Polyvinyl chloride มีผลการวิจัยหลายฉบับยืนยันว่า ไมโครพลาสติกจากพลาสติกชนิดนี้จะเข้าไปรบกวนการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ถ้าระดับความเข้มข้นสูงพอจะทำให้สิ่งมีชีวิตใต้น้ำสืบพันธุ์ได้ลดลง และสำหรับมนุษย์ยังเป็นตัวกระตุ้นในการสร้างสารเคมีรบกวนการผลิตสเปิร์มอีกด้วย
จริงอยู่นี่เป็นข้อมูลที่ได้รับจากงานวิจัยฉบับเดียว ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างก็มีอยู่จำกัดจำเป็นต้องผ่านการยืนยันผลลัพธ์เพิ่มเติม อีกทั้งค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการวิจัยยังอยู่ในช่วงวัย 35 ปี แต่เมื่อประเมินจากระดับการปนเปื้อนในปัจจุบัน อิทธิพลของไมโครพลาสติกต่อระบบสืบพันธุ์ยังคงน่ากังวลแม้แต่ในหนุ่มสาว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากในอนาคตไมโครพลาสติกอาจทำให้คนเราเป็นหมันเข้าจริงๆ
อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ไขอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากทั้ง Polyethylene และ Polyvinyl chloride ต่างเป็นพลาสติกหลักที่ใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน พลาสติกทั้งสองชนิดจึงอาจไม่สามารถเปลี่ยนผ่านสู่วัสดุชนิดอื่นได้ง่ายนัก และจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างไม่รู้จบ
ที่มา
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC10779931/
https://millionmarker.com/pages/the-science-chemical-glossary-polyethylene
https://interestingengineering.com/health/human-dog-testicles-microplastic-presence