posttoday

YouTube ปรับนโยบายรับมือ AI ยอมลบคลิป Deepfake หากผู้เสียหายยื่นร้องเรียน

05 กรกฎาคม 2567

YouTube ปรับนโยบายรับมือ AI ผู้ใช้ที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี Deepfake สามารถยื่นเรื่องขอให้ลบคลิปออกจากแพลตฟอร์มได้

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ได้สร้างความท้าทายต่อแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี Deepfake ที่สามารถสร้างสื่อสังเคราะห์ทั้งภาพและเสียงเพื่อปลอมแปลงลักษณะเฉพาะบุคคล จนนำไปสู่ความกังวลว่าเทคโนโลยีนี้อาจถูกนำไปใช้งานในทางที่ผิด

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา YouTube ได้เปิดตัวเครื่องมือใน Creator Studio เพื่อให้ผู้สร้างคอนเทนต์สามารถระบุได้ว่าวิดีโอของตนเองสร้างขึ้นจาก AI หรือสื่อสังเคราะห์หรือไม่ นอกจากนี้ YouTube ยังพยายามรวบรวมความเห็นจากผู้ใช้ถึงผลกระทบของวิดีโอที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก AI ว่าทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือเป็นเพียงคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงเท่านั้น

ล่าสุด YouTube ได้ปรับปรุงนโยบายใหม่เพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ซึ่งหากใครที่พบเห็นวิดีโอที่ถูกดัดแปลงภาพ หรือเสียง ที่มีลักษณะคล้ายกับตนเอง สามารถส่งเรื่องแจ้งไปยังแพลตฟอร์มเพื่อให้ลบวิดีโอดังกล่าวออกไปได้

นโยบายความเป็นส่วนตัวที่มาพร้อมช่องโหว่?

บุคคลที่ถูกเลียนเสียงหรือภาพผ่านเครื่องมือ AI สามารถให้ทนายช่วยยื่นคำร้องและขอให้ลบคลิปวิดีโอได้ โดยเจ้าของช่องผู้อัปโหลดคลิปวิดีโอจะมีเวลา 2 วันในการลบคลิปดังกล่าว แต่หากเจ้าของช่องยังไม่ดำเนินการใดๆ ทางYouTube จะทำการตรวจสอบเองและพิจารณาว่าคำร้องเรียนนั้นมีมูลความจริงหรือไม่

ซึ่งในจุดนี้ จึงยังไม่สามารถรับประกันได้ว่า คลิปวิดีโอที่สร้างผลกระทบจากเทคโนโลยี Deepfake จะถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์มอย่างแน่นอน เพราะการพิจารณาจาก YouTube ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คลิปดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดย AI จริงหรือไม่, เนื้อหาภายในคลิปสามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้อย่างชัดเจนหรือไม่, เจตนาในการสร้างคลิป, รวมถึงมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลสาธารณะที่กระทำผิดกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อประเด็นละเมิดความเป็นส่วนตัว ไม่ได้หมายความว่าเจ้าของช่องนั้นๆ จะถูกลงโทษโดยอัตโนมัติ เพียงแต่หากช่องใดถูกรายงานปัญหาดังกล่าวซ้ำๆ ก็อาจนำไปสู่การถูกปิดช่องหรือแบนบัญชีผู้ใช้นั่นเอง