จับตา 3 ประเด็นใหญ่ ก้าวต่อไปของ LGBTQ+ เมืองไทย หลังสมรสเท่าเทียมผ่าน!
‘วาดดาว’ ตัวแทนผู้เสนอร่างสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน เผยกับโพสต์ทูเดย์ ‘สมรสเท่าเทียมผ่าน’ เป็นแค่จุดเริ่มต้น จับตา 3 ประเด็นใหญ่หลังจากนี้ที่ต้องผลักดัน หากรัฐอยากได้การรับรองจากประชาคมโลก
วาดดาว-อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด และตัวแทนผู้เสนอร่างสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ ถึงก้าวต่อไปของคอมมิวนิตี้ LGBTQ+ หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน มีอะไรที่น่าจับตามองบ้าง โดยคุณวาดดาวเปิดเผยว่า
สิ่งที่จะต้องจับตามองหลังจากนี้ ประเด็นแรก คือ จะมีการแก้ไขกฎหมายทุกลำดับชั้นเพื่อรับรองสิทธิหรือไม่ เช่น กฎหมาย กฎกระทรวง กฎระเบียบข้าราชการ กฎรัฐวิสาหกิจ และเอกชน แม้ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามก็จริงแต่ก็ต้องมีลายลักษณ์อักษร แต่ลายลักษณ์อักษรเดิมยังใช้คำว่า สามี-ภรรยา หรือ ชาย-หญิง อยู่อย่างเช่น กฎของหน่วยงานข้าราชการพลเรือนในเรื่องของสวัสดิการ ก็จะเขียนไว้ชัดว่าเป็นสามี-ภรรยา หากไม่ถูกแก้ก็อาจจะมีปัญหาตามมาได้ ก็จะนำไปสู่การฟ้องศาล เป็นการผลักภาระให้แก่ประชาชนในการใช้ชีวิต
นอกจากนี้ในสังคมไทยก็ยังมีความเกลียดชัง LGBTQ+ แฝงอยู่ เราจะมั่นใจอย่างไรว่ากฎต่างๆ เหล่านี้จะครอบคลุมทั้งพื้นที่ชนบทและต่างจังหวัดด้วย
ประเด็นที่สอง คือ เรื่องการรับรองเพศสภาพ จะเป็นการรับรองเรื่องของเพศ และการกำหนดคำหน้านาม ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ท้าทายมากต้องเสนอให้ผ่านรัฐสภา ประเทศที่ก้าวหน้ามากๆ จะให้ทุกคนสามารถยืนยันความเป็นเพศโดยที่ไม่ได้มีการกำหนดอะไรใดๆ ไม่จำเป็นต้องมีคำหน้านามเพื่อยืนยันตัวบุคคล เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เช่น การสแกนม่านตาการพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือ DNA ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงื่อนไขทางเพศไว้ในการยืนยันตัวตน
เรื่องนี้เป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทยว่าเราจะสามารถผลักดันไปถึงจุดไหน จะถึงแค่ว่าต้องให้แพทย์มายืนยัน ให้หน่วยรัฐมาควบคุม หรือสามารถให้ตัวตนของเขาเองสามารถยืนยันความต้องการที่จะเป็นเพศใดๆ ด้วยตนเองได้ มันอาจจะพูดง่ายว่าก็ให้กะเทยมาบอกว่าตนเองเพศอะไร แต่แท้จริงแล้วมันมีความซับซ้อนทางกฎหมายเยอะมากเช่นเดียวกับเรื่องสมรสเท่าเทียม
มาตรฐานที่เราอยากผลักดันก็จะดูทั้งในเรื่องของอายุ เช่น อายุที่จะมายืนยันเพศก็คืออายุ 15 ปี เพราะการเติบโตของเด็กคนหนึ่งก็จะมีวิวัฒนาการและการตัดสินใจเข้ามาเกี่ยวข้อง อายุเป็นปัญหามากเพราะว่าสำหรับคนที่ต้องการข้ามเพศหรือการใช้ฮอร์โมนต้องใช้คำอนุญาตจากพ่อแม่ ซึ่งบางครั้งก็จะทำให้วิวัฒนาการการข้ามเพศช้าลงไปอีก
หรือในเรื่องของการข้ามเพศไม่ต้องพิสูจน์และตรวจสอบ หรือใช้ความต้องการยืนยันเพศของบุคคลนั้นเป็นหลัก มีหลายประเทศต้องใช้คำสั่งศาล หรือแพทย์ บางประเภทต้องมีค่าธรรมเนียมการข้ามเพศ หรือหากข้ามไปแล้วไม่สามารถกลับมาได้ แต่เราอยากให้สิทธิทุกด้าน อย่างอเมริกาหรือยุโรป การพัฒนาเพศมีความยืดหยุ่นได้ ไม่จำเป็นต้องระบุเพศตั้งแต่แรก และไม่ได้ผิดปกติ เพราะมันคือการรู้จักตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาสำหรับสังคมไทยทั้งเรื่องการสื่อสารและการให้ความรู้
ประเด็นทีสาม คือ การขจัดการปฏิบัติต่อบุคคล เช่น การบริจาคเลือด คนที่มีประวัติมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายรักชายไม่สามารถบริจาคเลือดได้ ทั้งๆ ที่เขาสามารถใช้สิทธิจากการบริจาคเลือด อย่างที่ทราบว่าหากบริจาคเลือดกี่ครั้งก็จะได้สิทธิในการรักษาทางการแพทย์ด้วย แต่คนที่ประวัติชายรักชายถูกห้ามจากอคติ เพราะเหตุผลที่ว่ากลุ่มนี้เสี่ยงเรื่อง HIV แต่แท้ที่จริงแล้วการตรวจ HIV ณ ปัจจุบันสามารถตรวจได้เลย ราคาไม่สูง ก็คือใครก็ตามที่เป็น HIV ก็ไม่ควรบริจาคอยู่แล้ว เพราะคนรักต่างเพศก็มีสิทธิเป็นเหมือนกัน
ทั้งนี้ คุณวาดดาวมองว่าหากรัฐอยากจะได้รับการรับรองจากประชาคมโลก และคว้าสิทธิการจัดงาน WorldPride ปี 2030 มาไว้ก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่ไม่ครอบคลุมและไม่รับรองดังกล่าว เพราะมิเช่นนั้นจะต้องถูกตั้งคำถามเพราะประเทศอื่นก้าวหน้าไปมากกว่านี้แล้ว
“ การจัดงาน WorldPride ที่ซิดนีย์ปีที่แล้วมีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจกว่า 8,000 ล้านบาท แต่ใช้ต้นทุนเพียง 500-700 ล้านบาท ในเมื่อประเทศไทยต้องการก็ต้องทำงานเรื่องกฎหมายเป็นหลักเพื่อพิสูจน์ให้ประชาคมโลกได้เห็นว่าเราสมควรจัดงานระดับโลก และกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบหมื่นล้านอย่างที่ซิดนีย์ WorldPride ทำมา ”