posttoday

เปิดคำพิพากษาศาลสั่งแบงก์ชดใช้เงินลูกค้า ถูกมิจฉาชีพหลอกดูดเงิน

19 กรกฎาคม 2567

ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ระบุศาลแพ่งกรุงเทพใต้ สั่งธนาคาร-บริษัทบัตรเครดิตชดใช้เงินคืนลูกค้า มิจฉาชีพหลอกดูดเงิน เนื่องจากมีส่วนร่วมความประมาท ระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวตนยังไม่รัดกุมเพียงพอใช้งานจริงได้

นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ ทนายเดชา เปิดเผยกับ"โพสต์ทูเดย์"ว่า กรณีโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก "ทนายคลายทุกข์" ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้ธนาคารร่วมรับผิดชอบใช้เงินคืนให้กับลูกค้ากึ่งหนึ่งของเงินที่หายไปในบัญชี กรณีถูกมิจฉาชีพหลอกดูดเงินว่า คำตัดสินคดีนี้ยังเป็นคำพิพากษา"แบบย่อ"เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ468/2566 โดยมีสาระสำคัญคือ ศาลพิพากษาให้ธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตร่วมกันใช้เงินคืนลูกค้าเนื่องจากมีส่วนร่วมในการประมาท

"ผู้ใช้บัตรเครดิตของธนาคารแห่งหนึ่ง และมีบัญชีเงินฝาก แต่มีมิจฉาชีพส่งลิงก์มา ซึ่งผู้ใช้งานบัตรได้กดลิงก์เข้าไป ทำให้สูญเสียเงินไปกว่า 4.8 แสนบาท แต่ธนาคารไม่รับผิดชอบ ผู้ใช้บัตรเครดิตจึงได้ยื่นฟ้อง และศาลได้มีคำพิพากษาให้ธนาคารร่วมรับผิดชอบกึ่งหนึ่งของเงินที่หายไปในบัญชี คำพิพากษานี้ยืนยันได้ว่า คนไทยที่ถูกมิจฉาชีพหลอกกดลิงก์ สามารถฟ้องร้องเพื่อให้ธนาคารรับผิดได้ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาฎีกาที่ 6233/2564"นายเดชา กล่าว

สำหรับคำพิพากษา ฉบับย่อคดีดังกล่าวมีรายะเอียดดังนี้

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะในการให้บริการรับฝากเงินและให้บริการแอปพลิเคชั่น ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะในการให้บริการด้านบัตรเครดิตกับลูกค้ารวมถึงโจทย์ จำเลยทั้งสองดังกล่าวควรจะต้องมีความปลอดภัยสามารถเก็บรักษาเงินฝาก หรือเครดิตของลูกค้า รวมถึงของโจทก์ได้โดยไม่ถูกคนร้าย หรือมิจฉาชีพโอนเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้า ซึ่งรวมถึงโจทก์ไปยังบุคคลอื่นได้โดยง่าย

ศาลเชื่อได้ว่าโจทก์ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นปลอมลงโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงโจทก์ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ รวมถึงรหัสลับส่วนตัว จนเป็นเหตุให้มิจฉาชีพสามารถเข้ามาดำเนินการควบคุมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์จากระยะไกล ทำให้มิจฉาชีพโจรกรรมเงินจากบัญชีธนาคารของโจทก์ 

เมื่อพิจารณาถึงระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้ใช้งานของจำเลยทั้งสองซึ่งใช้กับวิธีการจดจำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออุปกรณ์สื่อสารของลูกค้ากับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของลูกค้านั้นจะเห็นได้ว่า หากบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของลูกค้า และทราบรหัสผ่านถึงบัญชีของลูกค้านั้นได้ 

โดยระบบไม่ได้พิสูจน์ไปถึงตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้แอปพลิเคชั่นว่าเป็นรูปลูกค้าเจ้าของบัญชีหรือไม่ แตกต่างจากมาตรฐานการทำธุรกรรมที่หน้าธนาคารซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารจะต้องตรวจสอบว่าผู้มาติดต่อทำธุรกรรมนั้นเป็นเจ้าของบัญชีหรือได้รับมอบอำนาจมาจริงหรือไม่ มิใช่เพียงแต่มีสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารมาแล้วจะสามารถทำธุรกรรมเกี่ยวกับบัญชีนั้นได้

ระบบยืนยันตัวตนไม่รัดกุม

เมื่อขณะเกิดเหตุคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ติดตั้งระบบสแกนใบหน้าใน 2 แอปพลิเคชั่นดังกล่าวสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินที่มียอดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศเมื่อพิจารณาถึงการโอนเงินออกจากบัญชีโจทก์ แต่ละครั้งเป็นยอดสูงครั้งละหลักหมื่นและหลักแสนเช่นนี้

จึงเห็นได้ว่าระบบการพิสูจน์หรือยืนยันตัวตนที่จำเลยทั้งสองเลือกนำมาใช้กับระบบ application ของจำเลยทั้งสองในขณะเกิดเหตุยังไม่มีความรัดกุมเพียงพอที่จะสามารถพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้ใช้งานจริงได้ จนบุคคลอื่นสามารถเข้ามาทำธุรกรรมทางการเงินกับบัญชีเงินฝากของโจทก์โดยไม่ถูกตรวจสอบ

ดังนี้การที่เงินของโจทก์ถูกโอนออกจากบัญชีเงินฝากผ่านระบบแอปพลิเคชันของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับถือเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ 

โจทย์มีส่วนผิดติดตั้งแอปฯปลอม

อย่างไรก็ดีเมื่อได้ความว่าโจทย์เองก็มีส่วนผิดก่อให้เกิดความเสียหาย โดยติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมซึ่งมีลักษณะอันตราย จนเป็นเหตุให้มิจฉาชีพเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์และล่วงรู้รหัสลับในการเข้าใช้บัญชีได้ โจทก์เองก็มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายนี้ด้วยเช่นกัน 

เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมโดยตลอดแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตน ไม่ต้องร่วมกันรับผิดแต่อย่างใด 

สำหรับจำเลยที่ 1 จากยอดเงิน 42,193 บาท จำเลยที่ 2 จากยอดเงิน 80,000 บาท คิดเป็นจำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 201,096.50 บาท จำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 40.000 บาท ในส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนั้นเห็นว่าเหมาะสมแล้วจึงกำหนดให้นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 

พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 201.096.50 บาท จำเลยที่ 2 จำนวน 40.000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีแต่ไม่เกินดอกเบี้ยอัตราร้อย ละ 5 ต่อปีค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ