posttoday

การขับขี่ทางไกล เมื่อคนขับรถสามารถ Work From Home ได้

23 กรกฎาคม 2567

ที่ผ่านมาเราได้เห็นการ Work From Home อยู่หลายรูปแบบ แต่ล่าสุดจะล้ำไปอีกขั้นเมื่อมีการพัฒนาระบบให้สามารถขับรถทางไกล ช่วยให้คนขับไม่จำเป็นต้องอยู่หลังพวงมาลัยของรถคันนั้นอีกต่อไป

เมื่อพูดถึงการ Work from home หลายท่านอาจมีแนวคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกันไป บางท่านอาจรู้สึกว่ามีข้อดีหลายด้านทั้งประหยัด ลดการเสียเวลา ทำงานได้คล่องตัว อิสระที่มากกว่า หรืออาจรู้สึกว่าบรรยากาศในออฟฟิศสะดวกและเหมาะสมต่อการทำงานมากกว่า

 

          แน่นอนไม่ใช่ทุกสายอาชีพจะสามารถ Work from home ได้ โดยมากมักจำกัดสายอาชีพที่สามารถส่งข้อมูลหรือทำงานผ่านคอมพิวเตอร์แล้วส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ในขณะที่หลายสายอาชีพไม่สามารถทำได้จึงไม่ได้ประโยชนอะไรจากเรื่องนี้

 

          แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนขับรถสามารถ Work from home ได้

 

การขับขี่ทางไกล เมื่อคนขับรถสามารถ Work From Home ได้

 

เมื่อ AR ทำให้เราสามารถขับรถจากระยะไกล

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Michigan กับการพัฒนาระบบสนับสนุนการขับรถรูปแบบใหม่ Tele-Driving ไม่ต้องให้คนขับคอยแช่อยู่ในรถรอคอยผู้โดยสารมาใช้บริการอีกต่อไป แต่สามารถบังคับควบคุมรถได้จากระยะไกลได้เหมือนกับเข้าไปนั่งกุมพวงมาลัยภายในรถ

 

          ที่ผ่านมาหลายท่านอาจเคยเห็นเทคโนโลยีควบคุมรถยนต์จากระยะไกลมาไม่มากก็น้อย ทั้งระบบจอดรถอัตโนมัติที่ใช้รีโมทหรือสมาร์ทโฟนในการควบคุมให้รถทำการจอดเอง หรือการควบคุมระยะไกลบางระบบ เช่น การสตาร์ทรถ, เปิด-ปิดประตู ไปจนเปิดระบบปรับอากาศล่วงหน้า เพื่อเตรียมรถให้พร้อมสำหรับใช้งานทันทีที่มาถึง

 

          ล่าสุดเรากำลังจะล้ำไปกว่านั้นกับ Tele-Driving ตัวระบบจะเชื่อมต่อแล้วรับข้อมูลผ่านกล้องและเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งบนตัวรถเพื่อให้ได้ข้อมูลใกล้เคียงเวลาอยู่บนรถ อาศัยเทคโนโลยี Augmented reality ในการแสดงผล เพื่อให้คนขับได้รับประสบการณ์ใกล้เคียงกับการใช้งานบนท้องถนนที่สุด

 

          ตัวอุปกรณ์จะประกอบด้วยคอนโซลแสดงผล พวงมาลัย เกียร์ คันเร่ง และเบรก ใกล้เคียงกับการขับรถจริง พร้อมหน้าจอแสดงผล 3 หน้าจอ ที่จะฉายภาพกระจกหน้าและข้าง พร้อมกระจกมองหลัง 3 บาน ช่วยฉายภาพให้ผู้ใช้งานได้บรรยากาศใกล้เคียงกับการขับรถมากที่สุด

 

          จุดเด่นสำคัญของระบบนี้คือการที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องนั่งรอ ขับวน หรือมองหาผู้โดยสารเอง เพียงนั่งรอรับการแจ้งว่าเมื่อใดมีลูกค้าต้องการใช้บริการจึงเข้าควบคุมรถคันดังกล่าวแล้วจึงขับไปส่ง ซึ่งจะช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานและคุณภาพชีวิตของผู้ให้บริการขนส่งเป็นอย่างมาก

 

          นี่จึงถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยคลี่คลายข้อจำกัดแบบเดิมและเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ในการให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร

 

การขับขี่ทางไกล เมื่อคนขับรถสามารถ Work From Home ได้

 

คุณประโยชน์รอบด้านต่อทั้งคนขับและผู้โดยสาร

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านอาจมองว่าระบบขับขี่ทางไกลค่อนข้างมาผิดเวลาและสวนกระแสอยู่บ้าง เนื่องจากทั่วโลกมุ่งพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติให้เป็นรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบ นี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่ดูเกินความจำเป็น แต่ในความจริงนี่อาจเป็นระบบที่เข้ามาช่วยอุดช่องโหว่และแก้ปัญหารถยนต์ไร้คนขับได้มีประสิทธิภาพ

 

          จุดอ่อนสำคัญของรถยนต์ไร้คนขับคือ เมื่อเจอสิ่งผิดปกติจากที่เคยหรือสถานการณ์ฉุกเฉินเข้า ระบบจะไม่สามารถตอบสนองได้ดีนักจนอาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ง่าย และผู้โดยสารบางส่วนก็ไม่สะดวกใจกับการฝากชีวิตไว้กับรถยนต์ไร้คนขับ แม้จะมีการเปิดใช้งานเต็มรูปแบบแต่เชื่อว่าคงมีความรู้สึกต่อต้านอยู่ไม่น้อย

 

          นี่จะทำให้ระบบขับขี่ทางไกลเป็นการพบกันครึ่งทาง ในช่วงระหว่างรอผู้โดยสารหรือการวิ่งในเส้นทางเรียบง่ายอาจปล่อยให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจัดการ แล้วให้คนขับเข้ามาบังคับควบคุมเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงซึ่งอาจเป็นอันตราย รวมถึงช่วยลดความรู้สึกต่อต้านต่อระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของผู้ใช้บริการ ที่ได้รู้ว่าอย่างน้อยข้างหลังพวงมาลัยยังมีมนุษย์คอยกำกับ

 

          สำหรับคนขับ Tele-Driving เป็นประโยชน์กับพวกเขารอบด้าน ประหยัดทั้งแรงและเวลาสำหรับในการรอผู้โดยสารมาใช้บริการ พัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานโดยการไม่ต้องให้นั่งอยู่ในที่นั่งคนขับหลายชั่วโมงติดกัน อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้โดยสารที่รอรับบริการสะดวกกว่า ส่งผลโดยตรงถึงค่าแรงที่เพิ่มขึ้นโดยมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลง

 

          ตัวผู้โดยสารเองก็ได้ประโยชน์จากระบบนี้ไม่แพ้กัน เมื่อคนขับไม่ต้องเสียอารมณ์ เวลา และพลังงานในการหาผู้โดยสาร ย่อมทำให้สภาพร่างกายและจิตใจในการทำงานดีขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้นราว 30 – 40% และยังทำให้ผู้โดยสารมีโอกาสเข้าถึงการให้บริการง่ายขึ้นอีกด้วย

 

          อีกส่วนที่ต้องพูดถึงคือด้านความปลอดภัย ปัจจุบันมีเหตุร้ายและอาชญากรรมเกิดขึ้นกับทั้งผู้ให้และผู้รับบริการรถโดยสารอยู่ทั่วไป แต่หากเปลี่ยนมาใช้ระบบขับขี่ทางไกล ผู้โดยสารจะสามารถแน่ใจในความปลอดภัยได้มากขึ้น เช่นเดียวกับคนขับที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกผู้โดยสารปล้นหรือประทุษร้ายเพราะไม่ได้อยู่ภายในรถคันดังกล่าวตั้งแต่ต้น

 

          จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทแท็กซี่ Vayo และ Halo ในลาสเวกัส สหรีฐฯ จะเริ่มนำระบบ Tele-Driving มาทดสอบให้บริการ

 

 

 

 

          จริงอยู่ Tele-Driving อาจเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตต่อทั้งผู้ให้และผู้รับบริการรถโดยสาร อย่างไรก็ตามมีข้อท้วงติงขึ้นมาว่า การที่ระบบนี้มีหน้าตาใกล้เคียงกับวีดีโอเกมเกินไป อาจเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้คนขับเกิดการประมาทเลินเล่อกว่าปกติ จนนำไปสู่อุบัติเหตุทางถนนได้เช่นกัน

 

          อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ไร้คนขับนี่เป็นเทคโนโลยีที่พร้อมนำไปใช้งานจริงที่เราอาจได้เห็นในไม่ช้า

 

 

 

          ที่มา

 

          https://news.engin.umich.edu/2024/06/not-quite-ready-for-autonomous-taxis-tele-driving-could-be-a-bridge/