posttoday

ประชาชนได้อะไร? จากการแยกข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจาก ก.พ.

23 กรกฎาคม 2567

ร่างพ.ร.บ.ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะของหมอ-พยาบาล-บุคลากรสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เพราะอะไร? โพสต์ทูเดย์มีคำตอบ

เป็นระยะเวลากว่าหลายสิบปีที่มีการเคลื่อนไหวในประเด็นการจัดทำร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พูดง่ายๆ คือการขอแยกข้าราชการสาธารณสุขออกจากระบบของ ก.พ. สาเหตุที่ถูกนำมาพูดถึงเป็นอย่างมากในวงการหมอ-พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์คือ ‘ปัญหาการขาดแคลนหมอ-พยาบาล’ ซึ่งการจัดทำร่าง พ.ร.บ. จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

 

 

  • ถ่างปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เหลื่อมล้ำ ระบบแรงงานที่ไม่เป็นธรรม

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ให้เกณฑ์สัดส่วนระหว่างจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากรที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ประมาณ 1:1,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีแพทย์คิดเป็นสัดส่วนที่ 1:2,000 คน หรือน้อยกว่าที่ควรจะเป็นกว่า 2 เท่า โดยคิดเป็นแพทย์ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข (โรงพยาบาลรัฐ)  24,649 คน คิดเป็นร้อยละ 48 ของแพทย์ทั้งประเทศ แต่กลับต้องดูแลประชากรราวร้อยละ 75-80 (นอกนั้นจะเข้ารับบริการแพทย์ในส่วนของเอกชน) ยังไม่ตัดแพทย์ที่ทำหน้าที่บริหารหรือศึกษาต่อ

 

เมื่ออ้างอิงจาก ‘วิจัยปริทัศน์ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์’ ของรัฐสภาในเดือนกันยายน ปี 2566 พบปัจจัยของการขาดแคลนแพทย์สำคัญๆ ดังนี้

  1. ภาระงานหนัก ค่าตอบแทนน้อย การทำงานในโรงพยาบาลรัฐนั้นค่าตอบแทนน้อยเมื่อเทียบกับภาระงานที่หนัก จึงทำให้เกิดปัญหา ‘สมองไหล’ คือแพทย์ออกไปทำงานให้กับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีค่าตอบแทนสูงกว่า หรือการเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า และไม่ต้องทำงานหนักจากปัญหาการกระจายตัวของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในชนบทที่ไม่เพียงพอและขาดแคลนอย่างหนัก
  2. นอกจากนี้จากนโยบาย Medical Hub ที่รัฐส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาให้แก่ชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งประสบความสำเร็จจากนโยบายนี้ จนทำให้เกิดการเติบโตและความต้องการแพทย์มากขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘สมองไหล’ เช่นกัน
  3. ปัญหาจากสภาพการทำงาน โดยความรับผิดชอบในโรงพยาบาลรัฐจะมีสัดส่วนภาระงานที่สูงกว่าโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้การบริหารจัดการงบประมาณในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ภาระการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย
  4. ผลิตแพทย์ต่อปีได้น้อย โดยจากแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขระหว่างปี 2561– 2570 พบว่าความต้องการแพทย์เข้าสู่ระบบปีละ 2,055 คน แต่ได้รับการจัดสรรเพียงประมาณปีละ 1,800–1,900 คน โดยการผลิตแพทย์ต่อคนจะใช้งบประมาณหลักล้าน รวมถึงใช้เวลาในการผลิตแพทย์คนหนึ่งค่อนข้างมากถึง 12 ปีหากมีการเรียนต่อในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อแพทย์จบมาใช้ทุนครบ 3 ปีก็จะลาออกและย้ายไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน

 

นอกจากแพทย์แล้ว วิชาชีพพยาบาล ก็เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ และขาดความก้าวหน้าในอาชีพ

เมื่อย้อนไปดูงานวิจัยในปี พ.ศ.2537 ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็พบว่าเจอกับปัญหาขาดแคลนพยาบาลมาเนิ่นนานแล้ว เนื่องจากอัตราการลาออกจากวิชาชีพสูงขึ้น ประกอบกันการบรรจุเป็นข้าราชการในวิชาชีพพยาบาลมีความยากลำบาก ซึ่งการบรรจุเป็นข้าราชการเป็นเหตุผลประการสำคัญที่รั้งให้คนเข้าทำงานในโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากค่าตอบแทนต่ำอยู่แล้วเมื่อเทียบกับภาระงาน

ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลถึงขั้นวิกฤต จนทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขออก 4 มาตรการแก้ไขปัญหา ได้แก่การเร่งรัดบรรจุวิชาชีพ การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งง่ายขึ้น การเพิ่มสวัสดิการและความปลอดภัย รวมไปถึงการพัฒนาให้ อสม. ขึ้นแท่นผู้ช่วยพยาบาล เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา

นี่เป็นเพียง 2 วิชาชีพหลักในโรงพยาบาลซึ่งมีผู้ที่ประกอบอาชีพ รวมแล้วกว่า 60 วิชาชีพ บุคคลเหล่านี้คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเผชิญและแบกรับกับนโยบายสาธารณสุขซึ่งเอื้อให้ประชาชนเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลง่ายมากขึ้น (แม้ปัจจุบันจะมีการกระจายจุดรับบริการในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ รวมไปถึงเพิ่มบทบาทของ อสม. แล้วก็ตาม)  ยังมีปัจจัยจากการที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด19 ซึ่งทำให้บุคลากรต้องพบเจอกับการทำงานหนัก และในขณะเดียวกันก็พบกับความเสี่ยงต่อชีวิตเพิ่มขึ้น ก็ส่งผลให้มีการออกจากระบบมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ แนวคิดการนำข้าราชการสาธารณสุขออกจากการบริหารงานของสำนักงานคณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) จึงเกิดขึ้นและมีการขับเคลื่อนมามากกว่า 10 ปี เพื่อที่จะสามารถเพิ่มอัตราข้าราชการ และเพื่อแก้ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนดังกล่าว

 

  • เรื่องของบุคลากรสาธารณสุข เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างไร

หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของวงการแพทย์และสาธารณสุข แต่แท้ที่จริงแล้วหากมองให้ทะลุผ่านประเด็นที่ซ่อนอยู่จะพบว่า ‘ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์’ ไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของแพทย์ ซึ่งเป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่งเท่านั้น แต่ส่งผลกับประชาชนทุกคนที่ต้องเข้ารับบริการทางสาธารณสุขเช่นกัน

ปัญหาการขาดแคลนหมอ-พยาบาล ส่งผลต่อประชาชนโดยตรงในหลายมิติ เช่น

  1. การรอคอยในการรักษาที่นานขึ้น เพราะต้องมีการคัดกรองและจัดลำดับคิวในการรักษาพยาบาล
  2. การดูแลและติดตามการรักษาที่ไม่เพียงพอ (อ้างอิงจาก: พยาบาลผู้เชี่ยวชาญกับภาวะการขาดแคลนพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) โดยเฉพาะพยาบาลที่ต้องให้เวลาแก่งานหลัก จนไม่สามารถให้การดูแลที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยอย่างครอบคลุมทั้งกายและใจ การขาดความใส่ใจดังกล่าวอาจส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อน ปัญหาเรื้อรังตามมา หรือต้องทำให้ผู้ป่วยรับบริการในโรงพยาบาลยาวนานขึ้น
  3. ความเสี่ยงของความผิดพลาดทางการแพทย์ที่สูงขึ้น จากการทำงานหนักและเหนื่อยล้า ซึ่งผลสำรวจจากสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.)  ระบุว่าในปี 2016-2020 ประเทศไทยสูญเสียกับเรื่องความผิดพลาดทางการแพทย์คิดเป็นมูลค่ากว่า 9.6 พันล้านบาท และเกิดบ่อยกว่า 4 แสนครั้งต่อปี อย่างไรก็ตามความผิดพลาดจากการทำงานหนักเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุความผิดพลาดเท่านั้น เพราะเรื่องความผิดพลาดทางการแพทย์มีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย
  4. ขาดแคลนบุคลากรที่จะให้ความรู้ในเชิงของการป้องกันโรค  ทั้งๆ ที่การแก้ไขปัญหาในเรื่องสาธารณสุขอย่างยั่งยืนส่วนหนึ่งต้องเริ่มจากสาธารณสุขเชิงป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดโรค แทนที่จะเข้ามารักษาโรคและมีค่าใช้จ่ายตามมา
  5. การกระจุกตัวของแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ซึ่งทำให้แพทย์และพยาบาลในพื้นที่ชนบทขาดแคลนและมีไม่เพียงพอ

 

  • สธ.จัดทำร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการฯ

การดำเนินการของกระทรวง สธ. เพื่อจัดทำร่างพ.ร.บ.ข้าราชการสธ.ฯ พ.ศ…..เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น เพื่อแยกตัวออกจาก ก.พ. อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม และจะมีการสรุปความคิดเห็นในวันที่ 10 สิงหาคม ที่จะถึงนี้

ต่อจากนั้นในเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างพ.ร.บ.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ รัฐบาลถึงจะเสนอร่างพ.ร.บ.ให้สภาผู้แทนฯและวุฒิสภาพิจารณาตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ 

โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การออกจากสังกัดก.พ.จะทำให้การปฏิบัติงานทั้งอัตรากำลังที่มีประมาณ 400,000 - 500,000 คน งบประมาณ ค่าใช้จ่ายที่จะลดลง มีความคล่องตัวของบุคลากรที่กระจายอยู่ใน 12 เขตบริการ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการให้บริการประชาชน และจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ในขั้นตอนของรัฐสภาให้สำเร็จภายในปี 2568 นี้