บัตรทองจ่อให้งบ 'เด็กหลอดแก้ว' ปี 68 แม้ทั่วโลกทำแล้วสำเร็จน้อย ไม่คุ้ม!
เจาะนโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีรักษาผู้มีบุตรยากทั่วโลก พบอัตราความสำเร็จต่ำ หลังสปสช. ประกาศให้ผู้ที่อยู่ในระบบบัตรทองสามารถใช้ได้ในปี 68 คุ้มหรือไม่กับงบประมาณที่เสียไป?
หลังจากปีที่แล้วคณะกรรมการ สปสช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ให้การรักษาผู้มีบุตรยากอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ล่าสุดได้มีการเคลื่อนไหวว่าสิทธิดังกล่าวเตรียมประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจะสามารถใช้ได้ในปี 2568 นี้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้ารับบริการประมาณ 2 แสนรายทั่วประเทศ
โดยนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. มีการออกมายอมรับกลายๆ ว่าแม้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก จะตั้งต้นจากปัญหาของประเทศไทยที่มีเด็กเกิดน้อย แต่ข้อมูลเชิงวิชาการพบว่าจำนวนผู้รับบริการ 4 แสนคน จะมีเด็กเกิดขึ้นประมาณ 10,000 คน ผลลัพธ์จึงไม่สามารถทดแทนจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงได้ เพียงแค่อยากเติมเต็มคนที่อยากมีบุตรเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็ไม่มีการให้สิทธิโดยคำนึงถึงเรื่องของฐานะแต่อย่างใด
- นโยบายรักษาผู้มีบุตรยากทั่วโลก ใช้เงินเยอะ อัตราความสำเร็จต่ำ
สอดคล้องไปกับผลสำรวจและสถิติจากนโยบายรักษาผู้มีบุตรยากทั่วโลก ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีไม่กี่ประเทศที่มีนโยบายนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำอย่างญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้ ก็ได้ออกมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาผู้มีบุตรยากเช่นกัน สวนทางกับความสำเร็จและแรงดึงดูดที่จะทำให้คนเข้ามาใช้บริการ
ประเทศเกาหลีใต้
นโยบายของเกาหลีใต้ในปี 2022-2026 มีการอนุมัติเงินจำนวนมหาศาลกว่า 6 ล้านล้านบาท สำหรับสนับสนุนการรักษาผู้มีบุตรยาก ซึ่งครอบคลุมทั้งในเรื่องของการรักษา ทำเด็กหลอดแก้ว (IVF ) หรือ ICSI และการฝากไข่ โดยรัฐกำหนดงบประมาณส่วนนี้มากขึ้นกว่าร้อยละ 13.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ
อย่างไรก็ตามอัตราความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วในเกาหลีใต้นั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40% ต่อรอบ ( ผู้รับบริการทำเด็กหลอดแก้วบางครั้งต้องทำหลายรอบถึงจะสำเร็จ) โดยขึ้นอยู่กับอายุและสภาพร่างกายเป็นสำคัญ
ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำเด็กหลอดแก้วต่อครั้งราว 120,000 บาทต่อหนึ่งรอบ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้ทำ ICSI หรือการฉีดตัวอสุจิเข้าไปในไข่อีกด้วย โดยอัตราความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 50-60% ต่อรอบ โดยขึ้นอยู่กับอายุและสภาพร่างกายเป็นสำคัญ
ประเทศฝรั่งเศส
ในโซนยุโรปมีหลายประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนดังกล่าว โดยฝรั่งเศสเป็นอีกชาติหนึ่งที่มีความโดดเด่น โดยสนับสนุนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ถึง 4 รอบต่อ 1 คนโดยครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด และขยายอายุผู้ที่เข้ารับบริการไปจนถึง 43 ปีโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพการสมรสมหรือรสนิยมทางเพศ
โดยฝรั่งเศศคาดว่าจำนวยผู้ที่อยู่ในข่ายของการรักการสนับสนุนจะอยู่ที่ 4% ของจำนวนประชากร อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วในเกาหลีใต้นั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7-50% ต่อรอบ โดยขึ้นอยู่กับอายุและสภาพร่างกายเป็นสำคัญ สาเหตุที่ต่ำลงถึง 7% จะเกิดขึ้นในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี
ประเทศอิสราเอล
อิสราเอลถือเป็นประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุมการรักษาอย่างมาก โดยเสนอความคุ้มครองเกือบเต็มจำนวนสำหรับเด็กสูงสุดถึง 2 คนต่อผู้หญิง 1 คนผ่านระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งค่าใช้จ่ายการทำเด็กหลอดแก้วในอิสราเอลอยู่ที่ 300,000 บาทต่อรอบ
โดยอัตราความสำเร็จของอิสราเอลนั้นอยู่ที่ราว 30% และรัฐมีการเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์มากขึ้น เช่นการใช้ AI เข้ามาปับปรุงการคัดเลือกและการจัดลำดับตัวอ่อน เป็นต้น
ประเทศสหรัฐอเมริกา
อเมริกายังไม่มีนโยบายด้านนี้ที่ครอบคลุมทุกคน แผนประกันจำนวนมากไม่ครอบคลุมถึงการทำเด็กหลอดแก้ว แต่จะมาจากเงินกู้และเงินช่วยเหลืออื่นๆ
อย่างไรก็ตามสำหรับสมาชิกที่รับราชการทหารจะสามารถได้สิทธิในการทำเด็กหลอดแก้วและบริการเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์อื่นๆ ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้วในสหรัฐฯ จะใช้เงินสูงสุดถึง 600,000 - 800,000 บาทต่อรอบเลยทีเดียว โดยมีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 40-60% ตามสุขภาพและอายุ
นอกจากนี้ยังมีประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาผู้มีบุตรยากเพิ่มเติม อาทิ อังกฤษ เบลเยี่ยม เป็นต้น
- คำถามต่อนโยบายการรักษาผู้มีบุตรยาก
การสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาผู้มีบุตรยากไม่ว่าประเทศไหน ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้วจะกลายเป็นงบประมาณที่เสียเปล่าหรือไม่? นั่นคือคำถามที่รัฐบาลต้องตอบ
โพสต์ทูเดย์เคยสัมภาษณ์ นายแพทย์สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ หัวหน้าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เมดพาร์คไอวีเอฟ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ( อ่านเพิ่มเติม สวัสดิการรัฐ-ทัศนคติ-นวัตกรรม 3 โจทย์สำคัญแก้ปัญหาจำนวนประชากรในประเทศ! ) ที่ให้มุมมองต่อการนำงบประมาณสนับสนุนผู้มีบุตรยากว่าอาจไม่คุ้ม
“ การเอาเงินไปสนับสนุนการรักษามีลูกยาก ก็อาจจะเป็นการแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด เพราะเป็นส่วนน้อยและความคุ้มค่าในการลงทุนต่ำ เพราะคนกลุ่มนี้แม้ไม่สนับสนุนหากต้องการมีลูกก็จะสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายและสะดวกได้ด้วยตัวเอง แต่หากจะทุ่มเงินเพื่อคนกลุ่มนี้ก็ไม่คุ้มค่า เพราะไม่ได้ช่วยให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่
หากเราไปมองดูรายละเอียด เราจะพบว่าอัตราความสำเร็จจากการรักษาการมีลูกยากไม่ได้สูงมากนักโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงอายุมาก และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันก็มีตัวอย่างให้เห็นถึงความล้มเหลวในประเทศอื่นมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นโมเดลที่ดีมาก เพราะเกาหลีประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยในอัตราที่ต่ำลงเรื่อยๆ ในขณะที่เกาหลีใต้ใช้นโยบายสนับสนุนงบประมาณสำหรับผู้มีลูกยากมาเป็นระยะเวลามากกว่าสิบปีจนถึงปัจจุบัน อัตราการเกิดก็ยังต่ำเข้าสู่ระดับวิกฤตแล้ว ซึ่งยืนยันว่านโยบายแบบนี้ไม่น่าจะเกิดผล” นายแพทย์สุภักดีกล่าว
นอกจากนี้กระแสที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการจูงใจด้วยเงินสดเพื่อการแก้ไขปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง บางส่วนมองว่าควรมุ่งไปที่การแก้ไขสภาพความเป็นอยู่แทน เช่น การลงทุนกับระบบการศึกษา การเดินทาง การดูแลเด็ก หรือการจัดหาที่อยู่อาศัย แต่ก็มีผู้ที่ให้ข้อกังวลเช่นกันว่าหากรัฐลงทุนแก้ไปปัญหาเช่นนี้ อาจจะเป็นการแก้ไขที่ผิดจุด เช่น การจัดหาที่อยู่อาศัยที่ดีไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะอยากมีลูก หรือเพิ่มจำนวนประชากรแต่อย่างใด .. จึงเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรเป็นเรื่องซับซ้อน
สุดท้ายอย่างที่เลขาธิการ สปสช. กล่าว แม้จุดเริ่มต้นของนโยบายจะมาจากการอยากเพิ่มอัตราการเกิดของประชากร แต่คงไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก .. การสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวจึงเป็นไปเพียงแค่เติมเต็มคนที่อยากมีบุตรเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง .. ทีนี้ก็ต้องดูว่าจากรายละเอียดที่จะเกิดขึ้นอันใกล้นี้ งบประมาณที่รัฐจะลงทุนนั้นจะออกมาในลักษณะใด และจะคุ้มค่าหรือไม่?