posttoday

เสียงสะท้อนจาก 'ประชาชน' อยากได้อะไรใน ‘กล่องรับขวัญ’ ถ้ารัฐอยากให้มีลูก

01 สิงหาคม 2567

บทความพิเศษ ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน อยากได้อะไรใน ‘กล่องรับขวัญ’ หากรัฐอยากเชิญชวนให้ ‘มีลูกกันเถอะ’ หลังมีภาพรัฐออก 'กล่องรับขวัญ' คิกออฟนโยบายชวนมีบุตร ชี้สวัสดิการเหลื่อมล้ำระหว่าง ประกันสังคม-บัตรทอง และสภาพแวดล้อมมีผล!

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้จัดพิธีมอบกล่องของขวัญให้ผู้ปกครองในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีเด็กเกิดในวันที่ 28 กรกฎาคม โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน เพื่อเป็นการแสดงถึงความรัก ความห่วงใยต่อเด็กที่จะเติบโตเป็นเยาวชนและเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต

ทั้งนี้ น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง ระบุว่า

“ปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว กล่องของขวัญนี้ เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อส่งเสริมนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. ขับเคลื่อนส่งเสริมการมีบุตรให้มีคุณภาพ เพื่ออนาคตของชาติในการทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป เพื่อขับเคลื่อนชวนประชาชน มีลูกกันเถอะ” น.ส.ตรีชฎากล่าว

 

  • เปิดกล่องรับขวัญ จุดเริ่มต้นส่งเสริมนโยบาย ‘อยากมีลูก’ ที่พรรคเพื่อไทยบอก มีอะไรบ้าง

โพสต์ทูเดย์ สอบถามแหล่งข่าวถึงของที่บรรจุอยู่ในกล่องรับขวัญ ระบุว่ามีสิ่งของดังนี้

  1. ของเล่นไม้เสริมสร้างพัฒนาการ
  2. หนังสือนิทาน
  3. หนังสือนุ่มนิ่ม
  4. บันทึกลูกรัก
  5. ชุดเครื่องมือ 7 วิธีพัฒนาลูกสมวัยสมองดีมีอีเอฟ
  6. คู่มือเลี้ยงลูก 0-3 ขวบสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น
  7. ผ้าห่อตัวเด็กเล็ก

 

เสียงสะท้อนจาก \'ประชาชน\' อยากได้อะไรใน ‘กล่องรับขวัญ’ ถ้ารัฐอยากให้มีลูก


โพสต์ทูเดย์ติดตามการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาหลายเดือน โดยเฉพาะประเด็นการส่งเสริมให้คนมีบุตร

ล่าสุดแม้จะมีนโยบายออกมาจากกระทรวงพม. ที่มองว่าจะเป็นแกนหลักในการแก้ไขวิกฤตประชากรของประเทศ แต่ก็ยังต้องตั้งคำถามว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถแก้ไขวิกฤตประชากรได้ไวอย่างที่ประเทศนี้ต้องการหรือไม่ในเมื่อปนะเทศไทยกำลังจะก้าวสู้สังคมสูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ทางด้านกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีนโยบายที่จะให้สิทธิ 30 บาทแก่ครอบครัวที่ต้องรักษาผู้มีบุตรยาก แต่ก็ออกมายอมรับกลายๆ ว่านโดยบายดังกล่าวคงจะไม่สามารถช่วยในเรื่องของการเพิ่มประชากรได้

 

สรุปคือ ยังไม่มีนโยบายไหน ที่ปักธงได้ว่า ประเทศไทยจะรอดจาก ‘วิกฤตประชากร’ และทำให้คนอยากมีลูก

 

สิ่งของภายใน ‘กล่องรับขวัญ’ กล่องนี้แม้จะถูกเลือกสรรมาอย่างดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่อาจตอบสนองความต้องการของครอบครัว ที่กำลังชั่งใจจะมีลูกได้

 

โพสต์ทูเดย์จึงขอสะท้อนเสียงของประชาชนว่า ‘พวกเขาต้องการอะไร’ เป็น ‘สิ่งรับขวัญ’ กันแน่

 

  • ฟังเสียงสะท้อนจาก ‘แม่ๆ’  ระบุ เหตุผลตัดสินใจมีลูกคือ สวัสดิการ แต่ยังคงเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม

คุณมนต์ศิริ  ยืนศิริวัฒนานุกูล คุณแม่ลูกน้อยในวัยกำลังจะครบ 1 ปี ให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์ระบุถึงปัญหาสำคัญผ่านประสบการณ์มีบุตรตลอด 1 ปีของเธอว่า

 

‘สวัสดิการรัฐสนับสนุนแค่คนระดับล่าง’

โดยคุณแม่ลูกหนึ่งท่านนี้ตั้งคำถามว่า สวัสดิการควรจะครอบคลุมคนทุกระดับหรือไม่

 

คนที่มีรายได้และจ่ายภาษีเข้าประกันสังคม แต่ประกันสังคมกลับไม่ดีเท่าสวัสดิการบัตรทอง เช่น ค่าฝากครรภ์ก็เบิกไม่ได้ ไม่อยู่ในประกันสังคม ให้แค่ค่าคลอดที่จำกัดแค่ 15,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการคลอดที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ค่ะ

มองว่าสวัสดิการไม่ได้เข้าถึงคนทุกระดับ คนที่มีเงินก็ต้องจ่ายไป มันคือความเหลื่อมล้ำในอีกมุมหนึ่ง’

 

เธอเล่าให้ฟังว่า แม้จะได้เงินชดเชยจากการลาคลอดก็จริง แต่บางบริษัทที่ดีก็จะให้เงินเดือนชดเชย 90 วัน แต่บางบริษัทให้แค่ 45 วัน และที่เหลือจะต้องไปเบิกกับประกันสังคม ซึ่งเงินที่ได้ ไม่ได้คิดบนพื้นฐานฐานเงินเดือนที่เราขาดไป ไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายและรายรับตามจริง

เวลาจ่ายภาษีคิดตามฐานเงินเดือน แต่เวลาที่เราขอสวัสดิการกลับให้เท่ากัน แบบนี้ไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายตามความจริง แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไร

ก็มาสู่ทางเลือกว่า ถ้างั้นต้องลาคลอดไม่ถึง 90 วันแล้วกลับไปทำงาน ถามว่าแล้วคุณภาพชีวิตของลูกที่เกิดมาล่ะ แถมยังต้องหาคนช่วยเลี้ยงอีก’

 

ทั้งนี้ สิทธิประกันสังคมจะสามารถเบิกค่าฝากครรภ์วงเงินรวม 1,500 บาท (5ครั้ง) คลอดบุตรแบบเหมาจ่ายในวงเงิน 15,000 บาทต่อครั้ง และสามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยเบิกได้ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และสามารถเบิกค่าสงเคราะห์เลี้ยงดูบุตร 800 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปี

ในขณะที่สิทธิบัตรทองมีสิทธิประโยชน์ตั้งแต่การฝากครรภ์และคลอดได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

 

  • ปัจจัยพื้นฐานควรเพิ่มเติมและควรรักษามาตรฐานโดยเฉพาะระบบสุขภาพ

นอกจากนี้ คุณมนต์ศิริยังตั้งคำถามถึงค่ารักษาพยาบาลของเด็กซึ่งมีราคาแพง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเสริม ที่เฉลี่ยต่อครั้งหลายพันบาท

‘ ค่ารักษาพยาบาลของเด็กแพงมาก โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีน วัคซีนพื้นฐานมีให้ แต่จริงๆ เด็กต้องฉีดวัคซีนเสริมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของเขาด้วย แต่สิ่งนี้กลับไม่ถูกบรรจุอยู่ในปัจจัยพื้นฐานที่ควรได้รับ

อย่างเช่นวัคซีน RSV ที่ระบาดมากและจำเป็นต้องฉีด ก็ไม่ได้ครอบคลุม ส่วนตัวต้องเก็บเงินให้ลูกแต่ละเดือนเพื่อค่าวัคซีนจนโต คิดๆ แล้วก็น่าจะมีหลักหมื่นที่เราต้องเสียเพิ่ม ’

 

ไม่ใช่เพียงสวัสดิการเท่านั้น แต่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความกังวลไม่น้อย

‘ เราเสียภาษีให้รัฐ แต่เราต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเอกชนเพื่อใช้โรงพยาบาลที่เราคิดว่าดี และไม่ต้องรอ นอกจากนี้ก่อนที่จะคลอด เราเห็นข่าวที่ว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งหากคลอดก่อนกำหนดจะไม่รับ เพราะบางที่ไม่มีห้อง NICU  แม่บางคนต้องวิ่งหาโรงพยาบาลคลอดเองในกรณีฉุกเฉิน จริงอยู่ว่าเป็นแค่โรงพยาบาลบางแห่ง แต่จริงๆ ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือมีการควบคุมมาตรฐานมากกว่านี้หรือเปล่า

 

สุดท้ายแล้วคุณแม่ลูกหนึ่งท่านนี้ก็ยอมรับว่า คงไม่มีลูกคนที่ 2

‘ ทุกวันนี้การตัดสินใจว่าจะมีลูกอยู่บนพื้นฐานความพร้อมของตัวเอง มากกว่าหวังพึ่งรัฐ ก็เลยกังวล และคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่อยากมีลูกคนที่ 2 อีก’

 

  • นอกจากสวัสดิการ อากาศสะอาด และการศึกษาก็ต้องนึกถึง

ทางด้านคุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงของการวางแผนตั้งครรภ์อย่าง คุณกีรติ วุฒิสกุลชัย ซึ่งหวังจะสร้างครอบครัวที่บ้านเกิดโดยการย้ายกลับไปอยู่ที่จังหวัดเชียงราย จากเดิมที่เคยทำงานที่กรุงเทพฯ มองว่า นอกจากประเด็นสวัสดิการต่างๆ ประเด็นด้านสภาพแวดล้อมก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ

 

‘ สิ่งที่กังวลที่สุดตอนนี้คือ อากาศสะอาด อยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเชียงรายหรือกรุงเทพฯ เพราะมันเป็นเรื่องสุขภาพ มันกระทบพัฒนาการของลูก ก็เลยต้องเตรียมตัว ทำได้แค่ห้องที่มีระบบทำอากาศให้สะอาด หรืออยู่ไม่ได้ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นซึ่งอากาศดีกว่าไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องการศึกษาใกล้บ้าน รู้สึกว่าพอย้ายมาอยู่ในที่ๆ ไม่ใช่ตัวเมือง การศึกษาใกล้บ้านที่ดีกับลูกก็ยังไม่มี ซึ่งก็ถามตัวเองว่าต้องสร้างเองเหรอ? อยู่ประเทศนี้อยากได้อะไรต้องสร้างเองตลอดเลย ต้องไปซื้อบ้านซื้อที่ใกล้โรงเรียน เพื่อให้ลูกได้เรียนที่ดีๆ ก็คงไม่ใช่

ปัญหาของต่างจังหวัดคือเรื่อง บุคลากรครู เพราะว่าอย่างกรุงเทพฯ ที่เพิ่งไปเซอร์เวย์ดู ก็คืออยู่หลังบ้าน 5 นาทีถึง มีโรงเรียนให้เลือกเยอะ เรารู้สึกว่าความกระจุกของครูอยู่ที่กรุงเทพฯ ครูดีๆ ก็อยากไปทำงานรับรายได้ดีๆ ที่กรุงเทพฯ

โรงเรียนต่างจังหวัดดีๆ ผู้บริหารมีอุดมการณ์ที่ดีก็มี แต่บางครั้งก็ติดที่การหาครูดีๆ ไม่ได้  ก็เคยมีความลังเลว่าจะเลี้ยงลูกที่กรุงเทพฯ หรือจะกลับไปที่บ้านที่เชียงรายดีเหมือนกัน’

 

  • ปัญหาของคนมีลูก แต่สามารถสะท้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ทั้งระบบ

ปิดท้าย โพสต์ทูเดย์ถามถึงความเห็นต่อนโยบายของรัฐที่ชวนคุณแม่ให้มีบุตร โดยว่าที่คุณแม่ท่านนี้ระบุว่า

‘ นโยบายที่จะมาซัพพอร์ตยังไม่เห็นตอนนี้ มีลูกแล้วจะมีสวัสดิการที่มารับรองรึเปล่า ถามว่าครอบคลุมแบบไหนต้องทุกสิ่งทุกอย่างมั้ย ก็ต้องยอมรับว่าประเทศที่สวัสดิการครอบคลุมทุกสิ่งจ่ายภาษีสูง แต่ส่วนตัวก็มองว่าประเทศเราไม่ได้จ่ายภาษีต่ำ แต่ระบบภาษียังไม่สามารถเก็บได้แบบเต็มเม็ดทุกหน่วย เลยไม่สามารถเทิร์นเป็นสวัสดิการกลับมาได้เหมือนกัน

ส่วนตัวมองว่าคงต้องไปแก้ภาพรวมไปพร้อมๆ กัน อาจจะไม่ใช่แค่การบอกว่า ให้เงินเดือนแม่ 6 เดือนแรกจบ แต่อาจจะต้องแก้ภาพที่ใหญ่กว่านั้นไปพร้อมๆ กัน ด้วย เช่น ระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ หรือระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ  มันเกี่ยวโยงกันไปหมดเพราะระบบบ้านเรามันเหลื่อมล้ำไปไกลแล้วค่ะ

 

และนี่คือบางส่วนของเสียงสะท้อนของคนที่อยากสร้างครอบครัว แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ก็ได้แต่หวังว่า 'กล่องรับขวัญ' ที่ทางพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะเป็นตัวคิกออฟนโยบายเพิ่มประชากร จะมีอะไรที่ตอบสนองความต้องการของ 'เหล่าคุณแม่' ได้จริงๆ