posttoday

เช็คสวัสดิการแม่ตั้งครรภ์ ในวันที่รัฐอยากให้ประชาชน ‘มีลูกกันเถอะ!’

03 สิงหาคม 2567

โพสต์ทูเดย์พาตรวจสอบสวัสดิการรัฐ เริ่มจากกรณีแม่ตั้งครรภ์ ในวันที่รัฐบาลอยากให้ประชาชนมีลูกจากปัญหาวิกฤตประชากร พบความแตกต่างระหว่างบัตรทองและประกันสังคม พร้อมสะท้อนเสียงประชาชนถามเหตุผลทำไมสวัสดิการไม่สะท้อนภาษีที่จ่ายไป

โพสต์ทูเดย์ตรวจสอบสวัสดิการรัฐในกรณีแม่ตั้งครรภ์ โดยพบรายละเอียดดังนี้

 

ช่วงฝากครรภ์

ประกันสังคม  :

  • ค่าตรวจครรภ์ฟรี
  • ค่าฝากครรภ์วงเงินรวม 1,500 บาท (5 ครั้ง )  โดยมีรายละเอียดดังนี้

            อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท

            อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท

            อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท

            อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท

            อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท

 

ซึ่งมีเงื่อนไขประกอบอีก 2 ข้อ คือ

  1. มารดาจะต้องจ่ายค่าประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิ
  2. หากฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีสิทธิประกันสังคมทั้งคู่ สามารถให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มาดำเนินการใช้สิทธิเบิกค่าฝากครรภ์ก็ได้

บัตรทอง :

  • ค่าตรวจครรภ์ฟรี
  • ค่าฝากครรภ์ตามมาตรฐานสากลฟรี

โดยครอบคลุมรายละเอียดังนี้

  1. ทดสอบการตั้งครรภ์ เช่น ตรวจครรภ์ และประเมินความเสี่ยง ตรวจครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์
  2. ตรวจเลือดคัดกรองภาวะซีด ตรวจซิฟิลิส เอชไอวี ตับอักเสบบี
  3. ธาลัสซีเมียและดาวน์ ตรวจปัสสาวะ ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยักและวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  4. ให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน
  5. การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
  6. ตรวจช่องปากและฟัน ขัดและทำความสะอาดฟันรวมถึงการขูดหินน้ำลาย
  7. ประเมินสุขภาพจิต ตรวจหลังคลอดและคุมกำเนิด ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  8. การคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ การคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์

 

ช่วงคลอดบุตร

ประกันสังคม :

  • ค่าคลอดบุตรแบบเหมาวงเงิน 15,000 บาทต่อครั้ง
  • ค่าชดเชย กรณีแท้งบุตร : ต้องอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์

 

บัตรทอง :

  • คลอดบุตรไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดจำนวนครั้งในการคลอด
  • ครอบคลุมการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยตามกฎหมาย คือ อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์

 

ค่าสิทธิลาคลอด

ประกันสังคม  :

  • เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยเบิกได้สูงสุด 50% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน สูงสุด 90 วัน แต่ไม่ให้สิทธิบุตรคนที่ 3
  • เพิ่มสิทธิการลาคลอดจากเดิม 90 วันเป็น 98 วัน แต่ 8 วันนั้นหากผู้ลาคลอดไม่ได้ร้บค่าจ้างทั้งจากนายจ้างและประกันสังคมถือว่าไม่มีความผิด

 

ค่ากรณีสงเคราะห์บุตร

ประกันสังคม  :

  • ค่าสงเคราะห์เลี้ยงดูบุตร 800 บาทต่อเดือน ตั้งแต่ลูกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี

 

ช่วงดูแลหลังคลอด

บัตรทองและประกันสังคม :

  • ฟรีตรวจร่างกายหลังคลอด
  • ฟรีการคุมกำเนิด

 

จากข้อมูลจะพบว่า ในกรณีที่เป็นเรื่องของสาธารณสุข การใช้สิทธิบัตรทองจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดมากกว่าการใช้สิทธิประกันสังคม อย่างไรก็ตามสิทธิในประเด็นของค่าชดเชยเมื่อไม่ได้ทำงาน ในสิทธิบัตรทองจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องเพราะเกี่ยวกับการจ้างงาน

ฉะนั้น ผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบจึงสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมในมาตรา 40 ซึ่งมีไว้สำหรับประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระ และมีอายุ 15-65 ปีและเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 โดยจะสามารถขอเงินทดแทนได้ ในประเด็นเดียวที่เกี่ยวข้องกับเหล่าแม่ๆ คือ

  • กรณีสงเคราะห์บุตร จะได้รับเงินรายเดือนคนละ 200 บาทต่อคนต่อเดือน (ครั้งละไม่เกิน 2 คน) ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์


เช็คสวัสดิการแม่ตั้งครรภ์ ในวันที่รัฐอยากให้ประชาชน ‘มีลูกกันเถอะ!’

 

เสียงสะท้อนแม่ๆ เรื่องภาษี กับบทสรุปสถิติจากสศช.

ก่อนหน้านี้ โพสต์ทูเดย์ ได้มีการสอบถามความเห็นของประชาชนใน บทสัมภาษณ์พิเศษ : เสียงสะท้อนจาก 'ประชาชน' อยากได้อะไรใน ‘กล่องรับขวัญ’  ถ้ารัฐอยากให้มีลูกได้มีเสียงสะท้อนที่น่าคิดตามได้แก่ แรงงานในระบบซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคมและเป็นผู้ที่ต้องจ่ายภาษี ทำไมถึงได้สวัสดิการที่ไม่ครอบคลุมด้านสุขภาพ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อเทียบกับผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบและไม่ต้องแบกภาระภาษี รวมไปถึงการให้เงินชดเชยก็ไม่ได้สะท้อนถึงฐานเงินเดือนที่เป็นจริง

 

สอดคล้องกับการสำรวจจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ซึ่งได้มีการเปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ในบทความเรื่อง มุมมองการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย

ด้านทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากประเด็นปัญหา อาทิ ระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษีเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไปไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ยังมีการพบข้อมูลว่า คนไทยกว่า 64.3% ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

โดยในปี 2565 มีสัดส่วนของผู้ที่ยื่นแบบฯ เพียง 35.7% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แบ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นมากถึง 50.5% และไม่เข้าข่ายต้องยื่นภาษี 13.8% เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือเป็นผู้ว่างงาน/อยู่ระหว่างการศึกษาที่ไม่มีเงินได้

 

ซึ่งกลุ่มที่มีการยื่นแบบนั้นส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนมากที่สุด

 

หมายความว่าคนเพียงร้อยละ 35 ของประเทศแบกภาษีซึ่งจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นสวัสดิการ และคนที่แบกภาษีเหล่านี้คือ เหล่าแม่ๆ ที่ต้องใช้สวัสดิการประกันสังคม ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมด้านคลอดมากนัก เมื่อเทียบกับคนที่ใช้สวัสดิการบัตรทอง

 

นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่จ่ายภาษีเหล่านี้มากกว่าครึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีรายได้เฉลี่ยที่ 27,827 บาทต่อคนต่อเดือน และกว่าร้อยละ 80 มีสถานการเงินที่เพียงพอกับรายจ่าย

นั่นหมายความว่า ในมุมของการสร้างครอบครัว คนกลุ่มนี้คือคนที่จะสามารถ ‘สร้างครอบครัวบนพื้นฐานของเศรษฐานะที่พร้อมได้ในระดับหนึ่ง’ และน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ที่รัฐอยากให้ ‘มีลูกกันเถอะ’ แต่พวกเขากลับต้องลังเลเพราะคำว่า ‘ภาษี’ ในมุมประชาชนอาจเปลี่ยนเป็น 'ภาระ' จากการตั้งคำถามกับสวัสดิการที่รัฐจัดให้!

 

ในขณะเดียวกันกลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบ หากคิดจะท้องก็ต้องดูว่าจะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายในระยะเวลา 3 เดือน หากบริษัทที่ทำมีให้ก็ดีไป แต่หากใครไม่มีก็ต้องเก็บเงินใช้จ่ายในส่วนนี้เอง ... หลายคนอาจจะมองว่าระบบสวัสดิการทั้งสองแบบ ก็มีดี ไม่ดีในแง่มุมที่แตกต่างกันไป คำถามคือ ทำไมคนไทยต้องเลือกว่าจะไม่ได้รับสวัสดิการด้านไหนดีนะกันเล่า

 

และนี่เป็นเพียงจุดเดียวของ ‘เช็คสวัสดิการ’ พื้นฐานของ ‘ปากท้อง’ และความเป็นอยู่ของประชาชนที่โพสต์ทูเดย์จะมาแจกแจงและนำเสนออีกในประเด็นต่อๆ ไป ต้องรอติดตาม.

Thailand Web Stat