อัปเดต 30 บาทรักษา(ไม่)ทุกที่ใน กทม. ไม่รวมโรงพยาบาลคณะแพทย์!
สปสช. และกทม. แจงแล้ว 30 บาทรักษาทุกที่ เฉพาะสถานพยาบาลที่ติดสติ๊กเกอร์เท่านั้น และไม่รวมโรงพยาบาลของคณะแพทย์แน่นอน อย่างไรก็ตามเตรียมดึงโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เข้าร่วมรักษา ชี้พร้อม! แม้ขยับจากแผนการเดิมที่จะใช้นโยบายในกทม. เป็นแห่งสุดท้ายขึ้นมาเป็นลำดับที่ 46
เมื่อวานนี้ ( 5 สิงหาคม 2567 ) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2567 ถึงประเด็น 30 บาทรักษาทุกที่ในเขต กทม. ซึ่งจะมีการเปิดโครงการในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 นี้ โดยจะมีนายกเศรษฐา และ 'อุ๊งอิ๊ง' เข้าร่วม โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
- 30 บาทรักษาทุกที่ เฉพาะโรงพยาบาลที่มีสติ๊กเกอร์ ไม่รวมโรงพยาบาลคณะแพทย์
ประเด็นแรกที่สื่อมวลชนสงสัยและตั้งคำถาม คือ โรงพยาบาลของคณะแพทย์ อย่างเช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลศิริราช หรือรามาฯ จะรวมอยู่ในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่หรือไม่ ด้านนายชัชาติ สิทธิพันธุ์กล่าวว่าไม่ได้รวม โดยนโยบายนี้เน้นไปที่โรงพยาบาลปฐมภูมิ เป็นหลัก ไม่รวมกับโรงพยาบาลของคณะแพทย์แต่อย่างใด แต่จะเน้นที่โรงพยาบาลปฐมภูมิที่เข้าร่วมนโยบายจะแสดงตนโดย การติดสติ๊กเกอร์โครงการ หากประชาชนเห็นสติ๊กเกอร์ดังกล่าวจึงสามารถเข้าไปใช้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ได้
สำหรับ โรงพยาบาลปฐมภูมิ หมายถึง ศูนย์เทศบาล ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ หรือหน่วยบริการอื่นๆ (รวมทั้งหน่วยนวัตกรรม เช่น คลินิกฟัน กายภาพ แล็ป แพทย์แผนไทย) ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีบริการสิ้นสุดที่บริการผู้ป่วยนอก(OPD) ซึ่งประชาชนสามารถเดินทางเข้าถึงบริการสะดวกที่สุด เป็นการดูแลในกรณีเกิดการเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลในเบื้องต้น และส่งผู้ป่วยต่อสถานพยาบาลสับหรับการรักษาที่ซับซ้อนต่อไป
ด้านนพ.จเด็จ กล่าวว่า กำลังพิจารณาโรงพยาบาลขนาดใหญ่เอกชนอีก 22 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น เข้าร่วมโครงการด้วย ส่วนโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ของหมอเหรียญทองนั้นอยู่ในโครงการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามก็ขอให้ใช้สถานพยาบาลใกล้บ้านเป็นหลัก เพื่อลดความแออัด
- ความพร้อมของ กทม. ต่อการดำเนินนโยบาย และการคัดเลือกสถานพยาบาลที่เข้าร่วม
เมื่อถามถึงความพร้อมของการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม. ซึ่งมีกำหนดการที่จะเปิดตัวอีก 20 วันข้างหน้า นพ.จเด็จกล่าวว่า
' ยอมรับว่ามั่นใจระดับหนึ่งแต่ก็ต้องเตรียมอยู่ อย่างผู้ว่าฯ บอกว่าเชื่อมระบบข้อมูลเกือบร้อยเปอร์เซนต์ ก็จะเหลืออีก 100 กว่าแห่งจาก 1,400 แห่ง ซึ่งวันที่ 15 ก็จะต้องเรียบร้อย เราก็คิดว่ามีความพร้อมระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องสื่อสารให้กับพี่น้องชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งก็มองในแง่บวกครับว่ามีทางเลือกให้พี่น้องประชาชนมากขึ้น '
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่เป็นจังหวัดที่ 46 จากที่เคยมีกำหนดว่าจะใช้เป็นจังหวัดสุดท้ายของโครงการ โดยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจะตัดสินใจว่าจังหวัดไหนมีความพร้อมมากน้อย ขึ้นอยู่กับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เช่น เลือกจากจังหวัดที่มีความพร้อมต่อการเชื่อมระบบข้อมูล ความพร้อมของหน่วยให้บริการต่างๆ เป็นต้น
' ถามว่าการเปิดกรุงเทพฯ เป็นแห่งที่ 46 อยู่ในแผนหรือไม่ แม้จะมีการเคยเรียนว่าจะเปิด กทม.เป็นแห่งสุดท้าย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ทางผู้บริหาร และรัฐมนตรีขณะนั้น เราไม่อยากมองว่ากทม. เป็นพื้นที่มีปัญหา เราจึงต้องเปิดท้ายสุด ก็อยากให้แสดงถึงศักยภาพในการให้บริการ จึงออกมาเป็นนโยบายแบบนี้
ประกอบกับพี่น้องในกทม. มีปัญหาที่เราอยากแก้ไข อย่างเช่น การแก้ปัญหาเรื่องใบส่งตัว และการเติมเงินเข้าไปในหน่วยนวัตกรรม เพราะฉะนั้นคลินิกที่ยังมีปัญหาและกังวลว่าจะต้องจ่ายเงินที่ตัวเองรับไปแล้วในส่วนที่เยอะเกินไป ก็อาจจะแบ่งเบาความรู้สึกตัวเองได้บ้าง'
สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องใบส่งตัว ว่าหากเปิดเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ โรงพยาบาลของ กทม. กับโรงพยาบาลอื่นจะสามารถเชื่อมข้อมูลกันได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพื้นที่ กทม. ยังไม่ได้เชื่อมข้อมูลกัน และจะมีปัญหาเรื่องใบส่งตัวอีกหรือไม่ ได้มีข้อสรุปว่า หากใครเชื่อมต่อกับระบบของ 30 บาทรักษาทุกที่ก็จะต้องเชื่อมระบบแบบอิเล็กโทรนิกส์ ซึ่งในอนาคตจะใช้เป็นระบบการส่งข้อมูลผ่านระบบอิเล็กโทรนิกส์ได้ ซึ่งสถานพยาบาลในหน่วยงานของ กทม. จะเชื่อมของกทม.แล้ว ตอนนี้แค่เชื่อมกับหน่วยงานสังกัดอื่น ซึ่ง 30 บาทรักษาทุกที่จะทำให้เกิดแพลตฟอร์มข้อมูลกลางที่จะนำมาเชื่อมต่อกัน แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยของโรงพยาบาลแต่ละที่ เพราะไม่ได้มีการล้วงข้อมูลใดๆ
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หากประชาชนไม่พอใจบริการของหน่วยคลินิกใกล้บ้าน อยากจะเข้าไปรับบริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อื่น แม้จะข้ามสังกัดก็สามารถทำได้แต่อาจจะมีความไม่สะดวกเรื่องการส่งตัวเล็กน้อยในตอนนี้
' ต้องเรียนว่าครั้งนี้เราพยายามจะเพิ่มหน่วยนวัตกรรมเข้ามา 1,200 แห่ง ที่เป็นคลินิกคุณหมอ คลินิกฟัน กายภาพ แล็ป แพทย์แผนไทย โดยเฉพาะคลินิกแล็ปสามารถเจาะเลือดที่บ้าน หรืออาจจะเปิดในปั๊มน้ำมันบางจากที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้ว หรือบนรถไฟฟ้า และโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้การเจ็บป่วยเล็กน้อยได้รับการดูแลเบื้องต้น ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องวิ่งไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และเพิ่งมีมตินำโรงพยาบาลเอกชน 22 แห่งเข้ามาในระบบ ซึ่งก็จะมีการจัดระบบส่งตัวใหม่อีกรอบหนึ่ง' ด้านนพ.จเด็จกล่าวเน้นย้ำถึงหัวใจของการเปิดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในเขตกทม. ที่จะถึงนี้
โดยวันที่ 26 สิงหาคม 2567 จะมีการ Kick Off โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ กรุงเทพมหานคร “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” โดยจะเป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ หลังได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความพร้อมที่จะให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯได้
ซึ่งจะมีการ Kick Off ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. โดยได้รับเกียรติจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมจะมีการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ (Logo) “30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อใช้ในการรับรองคุณภาพและการเข้าร่วมโครงการฯ ของหน่วยบริการทั่วประเทศ รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในการเข้ารับบริการของประชาชน