posttoday

(ภาพ) ย้อนเรื่องราว ‘รถราง’ รอบโลก การเดินทางในเมืองแบบ ‘รักษ์โลก’!

10 สิงหาคม 2567

ย้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์พัฒนาการ 'รถราง' รอบโลก จุดเริ่มต้นการขนส่งมวลชน จนถึงจุดเสื่อมถอย และกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งเพราะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน!

รถราง เป็นระบบขนส่งแบบรางที่มีน้ำหนักเบาและตัวขบวนจะสั้นกว่ารถไฟทั่วไป ในปัจจุบันรถรางส่วนใหญ่จะใช้ระบบไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งทำให้การโดยสารด้วยรถรางนั้นเป็นการโดยสารแบบ ‘รักษ์โลก’ เพราะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รวมไปถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ

นอกจากนี้รถรางยังมีความสะดวก เพราะมักจะมีเลนพิเศษของตนเอง ซึ่งทำให้ผู้โดยสารสามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางอันแสนจะติดขัดไปได้ คาดการณ์และกำหนดเวลาเดินทางได้ และลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคล ทำให้รถรางกลายเป็นวิธีการขนส่งที่มีความสำคัญในหลายเมือง เพราะ ‘รถราง’ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืนนั่นเอง

โดยปัจจุบันรถรางมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เมื่อเทียบกับอดีตเราอาจจะได้เห็นรถรางที่มีสายโยงด้านบน แต่ปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีระบบรางที่ไร้สาย รวมไปถึงระบบควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้ระบบรางตอบสนองต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น

 

ประวัติศาสตร์รถรางฉบับย่อ

หากใครเคยดูสารคดีหรือนึกภาพการทำเหมืองในอดีต เราจะได้เห็นรถขุดเหมืองซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของรถรางในปัจจุบัน โดยย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 16 แต่ถ้าหากพูดถึงรถรางซึ่งไว้สำหรับรับส่งคน ครั้งแรกที่เกิดขึ้นบนโลกนี้เกิดขึ้นที่สหราชอาณาจักร ซึ่งได้แก่ Sawansea and Mumbles Railway ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อขนย้ายปูนจากเหมือง และเป็นระบบให้บริการผู้โดยสารที่จ่ายค่าโดยสาร โดยเริ่มต้นเป็นการใช้ม้าลากไปบนรางที่สร้างขึ้น

 

Sawansea and Mumbles Railway

 

ในอเมริกาก็เช่นกัน เนื่องจากถนนนั้นไม่ค่อยดี จึงหันมาใช้วิธีการให้ม้าวิ่งบนรางเพื่อให้การเดินทางราบรื่นยิ่งขึ้น จนกระทั่งในปี 1850 จึงสามารถเห็นรถรางที่มีม้าลากไปบนรางทั่วไปในเมืองใหญ่ของสหรัฐ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของรถรางที่ใช้ม้าลาก ก็คือ 'ม้า' เพราะแต่ละตัวทำงานได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงและต้องมีการดูแลทุกวัน และระหว่างทางก็ต้องมีการจัดเก็บมูลของม้าอีก จึงถูกแทนที่ด้วยวิธีการอื่นๆ

ในเวลาต่อมารถรางจะใช้ 'หัวจักรไอน้ำ' แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านวิศวกร เพราะต้องทำให้เครื่องเงียบลงรวมไปถึงเรื่องของควันไอน้ำที่คละคลุ้งไปตามท้องถนน 

ระบบเคเบิ้ลคาร์ เป็นวิธีการต่อมาแต่ก็กลายเป็นระบบที่มีราคาแพงหูฉี่ เพราะระบบแต่ละอย่างที่ใช้นั้นมีราคาแพง รวมไปถึงต้องหาคนที่มีทักษะเฉพาะ จึงทำให้ต่อมาเมื่อเกิดรถรางที่ใช้ ระบบไฟฟ้า ได้ รถรางหลายแห่งในระบบเดิมจึงถูกแทนที่ไปเกือบหมด แต่ก็ยังเหลือบางแห่งให้ได้เห็นเช่นที่ซานฟรานซิกโก หรือที่สหราชอาณาจักร

 

ระบบรถรางที่ใช้ไฟฟ้าแห่งแรกเกิดขึ้นที่รัสเซีย แต่เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ก่อนที่จะมีการนำมาใช้ถาวรที่แรกที่มีชื่อว่า Gross- Lichterfelde tramway ที่ประเทศเยอรมันนี ซึ่งได้ต้นแบบมาจากที่รัสเซียนั่นเอง

 

Gross- Lichterfelde tramway

 

นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นเชื้อเพลิงต่างๆ มาใช้กับรถรางอย่างต่อเนื่อง ในปี 2015 ประเทศจีนได้ทดลองนำ 'เชื้อเพลิงไฮโดรเจน' มาใช้กับรถราง แต่ปัจจุบันกำลังศึกษาในประเด็นของการลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น อย่างไรก็ตามรถรางในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีจำนวนลดลงเนื่องจากถูกแทนที่ด้วยรถบัสและรถยนต์ประเภทต่างๆ  รวมไปถึงระบบรถรางปารีส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นระบบรถรางที่ใหญ่ที่สุดในโลกกว่า 1,111 กิโลเมตรในปี 1925 ก็ได้ปิดตัวลงในปี 1938

 

รถรางปารีสในอดีต

 

จนกระทั่งในศตวรรษที่ 21 ประเทศที่ไม่ได้ใช้บริการรถไฟรางแล้วบางแห่ง ก็นำกลับมาใช้อีกครั้งเช่นที่ ลอนดอน สตอล์กโฮม หรือแม้กระทั่งในปารีส

โดยปัจจุบันมีรถรางราว 800 แห่งทั่วโลก แต่ละปีจะมีรถรางเกิดขึ้นใหม่ราว 10 แห่งต่อปีและมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะในแถบยุโรป รัสเซีย ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ แคนาดา จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ

ทั้งนี้ รถรางในบางประเทศได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองที่สำคัญ ซึ่งโพสต์ทูเดย์จะพาไปทำความรู้จักกัน

 

  • Tramways in Île-de-France

ระบบรถรางในปารีส ซึ่งเป็นระบบรถรางที่เคยใหญ่ที่สุดในโลกด้วยความยาวกว่า 1,111 กิโลเมตร ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่บางส่วน ประกอบด้วยเส้นทางกว่า 13 เส้นทาง ครอบคลุมความยาว 300 กิโลเมตร

 

(ภาพ) ย้อนเรื่องราว ‘รถราง’ รอบโลก การเดินทางในเมืองแบบ ‘รักษ์โลก’!

 

  • The Melbourne tramway network

ระบบรถรางในกรุงเมลเบิร์น ออสเตรเลีย กลายเป็นระบบรถรางในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่มีการใช้งานมากที่สุด และเป็นการใช้งานขนส่งในเมืองเมลเบิร์นที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากการใช้ระบบรถไฟใต้ดิน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 1885 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ของเมืองเมลเบิร์น

 

(ภาพ) ย้อนเรื่องราว ‘รถราง’ รอบโลก การเดินทางในเมืองแบบ ‘รักษ์โลก’!

 

  • San francisco

ระบบรถรางของที่นี่เป็นระบบรางที่ไม่ได้ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติแห่งสุดท้ายของโลก และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองซานฟรานซิสโกและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในเมือง ซึ่งผ่านเส้นทางสำคัญ ๆ รวมไปถึงเส้นทางรถรางโบราณต่างๆ  รถรางเคเบิลของซานฟรานซิสโกได้รับการขึ้นทะเบียนในรายชื่อสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติด้วย

 

(ภาพ) ย้อนเรื่องราว ‘รถราง’ รอบโลก การเดินทางในเมืองแบบ ‘รักษ์โลก’!

 

  • เวียนนา ออสเตรีย

เครือข่ายรถรางของเวียนนามีความยาวกว่า 176.9 กิโลเมตร โดยคนที่นี่จะเรียกว่า Bims เป็นการย่อของคำว่า Bimmeln ซึ่งมาจากเสียงระฆังเมื่อรถรางเคลื่อนตัวออกไป รถรางที่นี่จัดได้ว่าเป็นการเดินทางสุดคลาสสิกในเมืองที่สุดแสนจะโรแมนติกแห่งหนึ่งของโลก

 

(ภาพ) ย้อนเรื่องราว ‘รถราง’ รอบโลก การเดินทางในเมืองแบบ ‘รักษ์โลก’!

 

  • Budapest

ในเมืองบูดาเปสต์ ระบบรถรางจะถูกใช้เป็นการขนส่งเส้นหลัก ซึ่งสำคัญเป็นอันดับสองรองจากการขนส่งด้วยรถบัส โดยแต่ละปีจะมีผู้ใช้งานราว 100 ล้านครั้ง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 1866 ถือว่าเป็นระบบที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก!

 

(ภาพ) ย้อนเรื่องราว ‘รถราง’ รอบโลก การเดินทางในเมืองแบบ ‘รักษ์โลก’!

 

  • Japan Trams

ระบบรถรางในญี่ปุ่นเคยเป็นระบบที่ใช้เป็นหลักในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนจะค่อยๆ เลือนหายไปจากการเข้ามาของระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ในเมืองโตเกียวจะหลงเหลือเพียงแค่เส้นทางเดียวคือ Toden Arikawa Line ซึ่งวิ่งจากสถานวาเซะดะ ไปยังสถานีมิโนะวะบาชิ เป็นต้น

 

(ภาพ) ย้อนเรื่องราว ‘รถราง’ รอบโลก การเดินทางในเมืองแบบ ‘รักษ์โลก’!

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีการใช้รถรางในหมวดของการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เช่นรถรางในเส้นทง Kumamoto ซึ่งจะวิ่งผ่านเส้นทงท่องเที่ยวหลัก เช่น ปราสาทคุมาโมโตะ เป็นต้น รวมไปถึงเมือง นางาซากิ คาโกะชิมะ และฮิโระชิมะ ก็มีการนำรถรางมาใช้ในการท่องเที่ยวเช่นกัน

 

  • Ding Ding

แต่หากจะพูดถึงระบบรถรางในเอเชียที่เป็นที่จดจำที่สุดก็ต้องยกให้ฮ่องกง ซึ่งคนท้องถิ่นจะเรียกระบบรถรางที่นี่ว่า Ding Ding และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองฮ่องกง ด้วยรูปลักษณ์ของรถรางสองชั้นทรงแคบ วิ่งทั่วเมือง โดยเปิดบริการตั้งแต่ปี 1904 ภายใต้การเข้ามาของจักรวรรดิอังกฤษ และเริ่มจากการวิ่งด้วยรถไฟฟ้าเลย

 

(ภาพ) ย้อนเรื่องราว ‘รถราง’ รอบโลก การเดินทางในเมืองแบบ ‘รักษ์โลก’!

 

  • ประเทศไทย

ส่งท้ายกันที่ประเทศไทย ในอดีตประเทศไทยเคยมีการใช้รถรางครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งใช้เป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกสุดที่นำมาใช้ในบางกอก โดยมีอยู่ 11 สายคือ บางคอแหลม สามเสน ดุสิต กำแพงเมือง บางซื่อ หัวลำโพง สีลม ปทุมวัน สุโขทัย อัษฎางค์ และราชวงศ์ นอกจากนี้ยังมีรถรางวิ่งไปถึงปากน้ำ สมุทรปราการ และลพบุรีอีกด้วย ซึ่งในช่วงแรกเป็นการใช้ม้าเทียมก่อนจะเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าในเวลาต่อมา ซึ่งถูกยกเลิกไปไล่เลี่ยกัน จนกระทั่งในปี 1968 เป็นต้นมาก็ไม่ปรากฎว่ามีการใช้รถรางวิ่งในไทยอีกต่อไป

 

รถรางที่ถนนเยาวราช