'ดอกมะลิวันแม่' ไม่ใช่แค่สวย แต่ยังช่วยบำรุงหัวใจ

12 สิงหาคม 2567

ทำไม 'ดอกมะลิ' จึงกลายเป็นสัญลักษณ์วันแม่ และรู้หรือไม่ว่านอกจากความสวยแล้ว ยังมีสรรพคุณที่ช่วยบำรุงหัวใจ และทำให้จิตใจชุ่มชื่นได้อีกด้วย!

  • ทำไม 'ดอกมะลิ' จึงกลายเป็นสัญลักษณ์วันแม่

ต้องเกริ่นก่อนว่าไม่ใช่ดอกมะลิทุกสายพันธุ์จะเป็นสัญลักษณ์วันแม่ โดยดอกมะลิที่ถูกกำหนดเป็นสัญลักษณ์วันแม่ของไทย เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2519 นั้นเป็น 'มะลิซ้อน' 

คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดให้วันที่ 12 ส.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นวันแม่แห่งชาติ และใช้มะลิซ้อนเป็นดอกไม้สื่อความหมาย ด้วยว่าสีขาวแสดงถึงความรักที่บริสุทธิ์ นอกจากนี้มะลิซ้อนยังออกดอกตลอดปี และมีกลิ่นหอมนาน สื่อได้ถึงความรักที่ยาวนาน ไม่เสื่อมคลาย และลักษณะของกลีบที่เรียงซ้อนกัน และมีปลายข้างหนึ่งวนเข้ากลางดอก ก็เปรียบกับอ้อมแขนที่โอบลูกน้อยไว้นั่นเอง

 

\'ดอกมะลิวันแม่\' ไม่ใช่แค่สวย แต่ยังช่วยบำรุงหัวใจ

 

  • มะลิ ไม่ใช่แค่สวย แต่ช่วยบำรุงหัวใจ

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เปิดเผยถึงประโยชน์ของดอกมะลิไว้ว่า ดอกมะลิ ใช้ในตำรับยาไทยหลายชนิด เช่น

1. ยาหอมเทพจิตร ซึ่งมีมะลิเป็นส่วนผสมหลักของตำรับ สรรพคุณ แก้อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

สำหรับวิธีการรับประทานยาหอมเทพจิตร ปัจจุบันได้มีการผลิตในรูปแบบยาชนิดผง และชนิดเม็ดเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน โดยให้รับประทานในปริมาณ 1-1.4 กรัม รับประทานเมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง ควรระวังในการใช้ยากับผู้ที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ และการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม และ ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด

อีกทั้งยังมีการศึกษาเกี่ยวกับยาหอมเทพจิตรกับคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งพบว่า ตำรับยาหอมเทพจิตร ช่วยเพิ่มคุณภาพของการนอนหลับได้

 

\'ดอกมะลิวันแม่\' ไม่ใช่แค่สวย แต่ยังช่วยบำรุงหัวใจ

 

2. ยาประสะจันทน์แดง บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน (ไข้พิษ) แก้ร้อนในกระหายน้ำ วิธีใช้ ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 3 - 4 ชั่วโมง       เด็กอายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 3 - 4 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก และผู้แพ้เกสรดอกไม้ไม่ควรใช้ยานี้ หากใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ    

นอกจากนี้ ด้วยสรรพคุณมะลิ ที่มีกลิ่นหอมเย็น จึงช่วยผ่อนคลาย บรรเทาความเครียด  ปัจจุบันจึงมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามหลากหลายชนิด เช่น  สบู่ แชมพู ครีมทาผิว และยังนำมาใช้ทาง สุคนธบำบัด (การบำบัดด้วยกลิ่น) สปา เครื่องหอมต่าง ๆ  เช่น เทียนอโรม่า น้ำหอม น้ำมันนวด เพื่อช่วยผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ  ช่วยปรับสภาพจิตใจและอารมณ์ให้ดีขึ้น 

 

 

 

อีกทั้งยังสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มและอาหารที่ช่วยคลายร้อน เช่น ชาดอกมะลิ ข้าวแช่ น้ำลอยดอกมะลิ  ซึ่งมีสรรพคุณ รสหอมเย็นช่วยผ่อนคลาย ช่วยบำรุงหัวใจ

 

ภาพจาก Michelin Guide ภาพจาก Michelin Guide

 

ทั้งนี้การจะนำดอกมะลิมาใช้เป็นส่วนประกอบในชาหรืออาหารเพื่อรับประทานไม่ควรใช้ในปริมาณที่สูงเกินไป เพราะกลิ่นที่แรง อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะได้ ที่สำคัญการนำดอกมะลิมาทำอาหาร และ เครื่องดื่ม ควรใช้ดอกมะลิที่ปราศจากสารเคมี และสิ่งเจือปน ล้างให้สะอาด  หากใช้เป็นดอกที่ตากแห้งควรต้องตรวจสอบดูว่าเก็บรักษาอย่างดีไม่มีเชื้อรา ไม่มีสีที่เข้มคล้ำจนเกินไป หรือแมลงขนาดเล็กเจือปน เพื่อจะได้ประโยชน์และปลอดภัยอย่างแท้จริง

Thailand Web Stat