posttoday

รัฐดันกฎหมายขึ้นทะเบียน 'อินฟลู-ยูทูปเบอร์' ช่วยเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน

13 สิงหาคม 2567

กระทรวงแรงงานชี้ อยู่ระหว่างเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครอง 'แรงงานอิสระ' รวมทั้งพ่อค้า เกษตรกร และอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานและมีหลักประกันทางสังคม รวมถึงขึ้นทะเบียนเพื่อให้หน่วยงานรัฐมีฐานข้อมูลกำหนดนโยบาย!

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2565 พบว่าประชากรรวมของประเทศไทย จำนวน 66.09 ล้านคน มีจำนวนผู้มีงานทำ จำนวน 39.60 ล้านคน จำแนกออกเป็นแรงงานในระบบ จำนวน 19.40 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ จำนวน 20.20 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 51 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

โดยปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างชัดเจน ทำให้แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน หรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม หรือรวมตัวได้

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต "แรงงานอิสระ"  ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ผู้รับจ้างทั่วไป พ่อค้าแม่ค้า ศิลปินนักแสดง ยูทูปเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือ ไรเดอร์ 

แต่ที่ผ่านมาแรงงานเหล่านี้ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ที่สำคัญแรงงานอิสระทุกคนจะมีโอกาสได้ขึ้นทะเบียน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีฐานข้อมูลกำหนดนโยบาย แผนงาน และงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างตรงจุด รวมทั้งจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับแรงงานอิสระด้วย

 

  • ใครเข้าข่าย 'แรงงานอิสระ' 

ร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นภายใต้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงโครงสร้างของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

ซึ่งจำแนก “แรงงานอิสระ” ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ผู้ประกอบอาชีพอิสระ” และ “ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ” เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองให้เหมาะสมกับแรงงานอิสระแต่ละประเภท ตามหลักการของพระราชบัญญัติแรงงานรับจ้างอิสระ (Estatuto del Trabajo Autónomo) (พระราชบัญญัติฉบับที่ 20/2007 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2007) ของประเทศสเปน ที่บัญญัติให้ “แรงงานรับจ้างอิสระที่ต้องพึ่งพา” เป็นแรงงานรับจ้างอิสระอีกประเภทหนึ่งแยกต่างหากจาก “แรงงานรับจ้างอิสระโดยแท้”

 

 

สำหรับ ประเภทที่ 1 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพซึ่งไม่มีนายจ้าง ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
  2. ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย
  3. ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการ
  4. ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
  5. ผู้ผลิตเนื้อหาเรื่องใดที่ไม่ใช่การโฆษณาเพื่อเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือบริการอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
  6. ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระตามที่มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น
  7. ผู้ประกอบอาชีพอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

ประเภทที่ 2 ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพ ดังต่อไปนี้

  1. รับจ้างหรือให้บริการขนส่งคนโดยสาร สิ่งของ หรืออาหาร ทำความสะอาดหรือบริการอื่นๆ ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนดไว้ โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
  2. รับจ้างหรือให้บริการตาม ข้อ1  ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนดไว้ โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจนั้น

 

  • สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ

เมื่อพิจารณาตามตัวเนื้อหาของบทบัญญัติ จะพบว่าได้ครอบคลุมในประเด็น ทั้งเรื่องสิทธิในการรวมกลุ่มของแรงงานอิสระ สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ การจัดตั้งกองทุน หน้าที่ของพนักงานตรวจแรงงานอิสระ โทษอาญาและมาตรการปรับเป็นพินัย รวมทั้งกำหนดให้มีบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการดำเนินการในวาระเริ่มแรกและการเร่งรัดให้มีการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้  นอกจากนี้ยังมีกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าทำข้อตกลงในการทำอาชีพในลักษณะผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระอีกด้วย

 

  • สร้าง 'ครู ข' เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแรงงานอิสระตามกฎหมายดังกล่าว

ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังสนับสนุนการจัดฝึกอบรม “ครู ข” หรือเครือข่ายแรงงานอิสระระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบโดยเครือข่ายชุมชน ผ่านการขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ ที่ดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. 67 นี้ พร้อมกันทุกจังหวัด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของประชาชนตามร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .. และขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระ แก่อาสาสมัครแรงงาน กทม. และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันในส่วนภูมิภาค รวม 75,249 คน 

เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้ว ครู ข ทั้งหมดจะลงพื้นที่เชิญชวนให้ประชาชนขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระผ่านแอปพลิเคชันของกระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าหมายครู ข 1 คนต่อประชาชน 120 คน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ขึ้นทะเบียนในปีแรก 9,029,880 คน โดยกระทรวงแรงงานจะดึงแรงงานอิสระเข้าสู่ระบบให้มากที่สุดเพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง.