คนไทยอย่าตื่นตระหนก ‘ฝีดาษลิง’ ในไทยไม่ใช่พันธุ์มฤตยู
กรมควบคุมโรคชี้ไทยยังไม่พบ 'ฝีดาษลิง' สายพันธุ์มฤตยู ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกเพราะมีระบบเฝ้าระวังอย่างดี หลัง WHO ประกาศให้ ‘ฝีดาษวานร’ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังสายพันธุ์มฤตยูซึ่งเคยแพร่ระบาดในคองโกเท่านั้น กระจายไปยังประเทศใกล้เคียง
เมื่อวานนี้ ( 14 สิงหาคม 2567 ) องค์การอนามัยโลก ( WHO ) ประกาศให้ ‘โรคฝีดาษวานร’ เป็น ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังพบสายพันธุ์มฤตยู Claude 1b ซึ่งเคยแพร่ระบาดในประเทศคองโกเท่านั้น แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นที่ไม่เคยพบการรายงานมาก่อน
WHO แสดงความกังวลและออกมายอมรับว่าสิ่งที่รู้ในแอฟริกาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ WHO เองก็ยังไม่ได้รับรู้หรือไม่มีภาพรวมที่ครบถ้วนเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง
ตั้งแต่ต้นปี พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในทวีปแอฟริกา โดย มี 15 ประเทศที่รายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานรในปีนี้ จำนวนผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือ DR Congo ในจำนวนนี้ ร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยเด็ก มีอัตราป่วยเสียชีวิตประมาณ ร้อยละ 5 โดยประเทศที่พบผู้ป่วยล่าสุด ได้แก่ อูกันดา เคนยา รวันดา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของคองโก
แต่ที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตา คือ ผู้ป่วยฝีดาษวานรมีจำนวนเพิ่มจากปีที่แล้วมาก และจากเดิมที่ระบาดในวัยผู้ใหญ่ แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยเด็กเพิ่มจำนวนรวดเร็ว หลังตรวจพบ สายพันธุ์ย่อย 1b ที่ติดต่อได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานร มีหลายสายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์หลักๆ คือ สายพันธุ์ 1 และสายพันธุ์ 2 โดย สายพันธุ์ย่อย 1b ที่พบในคองโกนั้น พบในเดือนกันยายน 2023 ในหมู่คนที่ขายบริการทางเพศในเมืองเหมืองแร่ Kamituga ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สายพันธุ์ 1b ทำให้เกิดผื่นที่คล้ายตุ่มน้ำรุนแรงในบริเวณที่ติดเชื้อ เช่นเดียวกับสายพันธุ์อื่น แต่จะมีอาการที่รุนแรงกว่ามาก และสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น โดยมีรายงานการติดเชื้อระหว่างสมาชิกในครัวเรือนและการระบาดในหมู่นักเรียน และมีการประมาณการเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ใหญ่คือ 5% และสำหรับเด็กคือ 10% ซึ่งนับว่าเป็นสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุด ณ ขณะนี้
โดยมีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมากกว่า 17,000 รายและผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 รายใน 13 ประเทศในแอฟริกา ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา ซึ่งจัดประเภทการระบาดนี้ว่าเป็น "เหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก" โดยจำนวนผู้ป่วยสูงสุด มากกว่า 14,000 ราย อยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2022 โรคฝีดาษวานรแพร่กระจายไปยังยุโรปและอเมริกาเหนือ จนทำให้ WHO ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกในเดือน กรกฎาคมปี 2022 มาแล้ว โดยมีสายพันธุ์ 2 เป็นสาเหตุของการระบาด
- สถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยล่าสุด กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด รายงานว่ายังไม่พบสายพันธุ์ 1 ในประเทศไทย
โดยสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยและทั่วโลกในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา คือ สายพันธุ์ (clade 2) การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ทางเพศสัมพันธ์ และสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม 2567 - 10 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยสะสม 140 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2565 - 2567 มีผู้ป่วยสะสม 827 ราย เสียชีวิต 11 ราย
แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า " สถานการณ์ที่คองโก จะเป็นสายพันธุ์ 1 ไม่ได้พบในไทย มาจากสัตว์ป่า ซึ่งโดยปกติคนแอฟริกาจะไปจับสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร และติดเชื้อจากสัตว์ คนป่วยอยู่ในบ้านก็จะแพร่เชื้อ เมื่อเป็นเชื้ออุบัติใหม่ และไม่มีภูมิคุ้มกัน อัตราการป่วยจึงรุนแรง และเจอในเด็กเยอะ เพราะเด็กไม่มีภูมิคุ้มกัน
โอกาสที่จะแพร่ในไทย มีแต่ต่ำมาก เพราะเชื้อยังอยู่ในแอฟริกาเอง และอยู่ในเด็กที่ต้องรักษา หากเข้ามาในไทย ระบบเฝ้าระวังเราจะตรวจจับได้ แต่หากใครไปเที่ยวในดินแดนที่ระบาดแล้วกลับมาเกิดอาการไม่สบาย ขึ้นผื่นหรือตุ่ม ให้รีบมาพบแพทย์ ระบบเฝ้าระวังของไทยเตรียมพร้อม จับได้อยู่ ไม่ต้องตระหนก เพราะเป็นการยากที่จะเข้ามาแพร่ระบาดในไทยในตอนนี้ เนื่องจากการพัฒนาสู่การแพร่จากคนสู่คนนั้นต้องใช้เวลาหลายปีมาก เหมือนสายพันธุ์ 2 ที่พัฒนามาจากคนสู่คน"
- คำแนะนำป้องกันโรคฝีดาษวานร
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร
- ไม่คลุกคลี หรือสัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาดให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการตนเองเบื้องต้น หากมีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณรอบๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ประกอบกับมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที พร้อมยืนยันมีความพร้อมระบบการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานรทั่วประเทศ