posttoday

8 นักการเมืองหญิง ผู้นำเสียงของการเปลี่ยนแปลง

17 สิงหาคม 2567

สัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25.5% แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงทั่วโลกได้ที่นั่งประมาณ 1 ใน 4 ของที่นั่งในสภา และบางประเทศอาจมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่สิ่งสำคัญคือ ทั่วโลกมีความก้าวหน้าในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการกำหนดนโยบายและกระบวนการตัดสินใจทั้งในระดับชาติและระดับโลก ตั้งแต่ระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่นและในรัฐสภาระดับชาติ

 

สัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25.5% ตามรายงานของสหภาพรัฐสภา (IPU) ปี 2021 แสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงทั่วโลกได้ที่นั่งประมาณ 1 ใน 4 ของที่นั่งในรัฐสภาของประเทศ บางประเทศอาจมีสัดส่วนผู้หญิงในการเมืองมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่สิ่งสำคัญคือในหลายประเทศ มีความก้าวหน้าในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี

 

จึงมีการวางมาตรการต่างๆ เช่น โควต้าเพศ การปฏิรูปกฎหมาย การรณรงค์ล็อบบี้ และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถต่างๆ นอกจากนี้ โมเมนตัมระดับโลกยังได้เติบโตขึ้นทั้งการเคลื่อนไหวของสตรีและการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีและเสริมส่งอำนาจของสตรีในแวดวงการเมือง

 

การเปลี่ยนแปลงอันมากมายนี้มาจาก เสียงอันทรงพลังและเสียงแห่งความเปลี่ยนแปลงของบรรดา “Young Guns” ที่ได้เข้ามาท้าทายธรรมชาติของ “การกีดกันทางเพศและอายุ” ของภูมิทัศน์ทางการเมือง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั่วทั้งภูมิภาค เรามาดูกันว่า นักการเมืองหญิงเหล่านี้มาจากที่ไหนบ้าง

 

 

จาซินดา อาร์เดิร์น อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดของโลก นายกฯ คนที่ 40 ของนิวซีแลนด์

 

จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) - นิวซีแลนด์

 

“ฉันอยากเป็นผู้นำที่ดี ไม่ใช่ผู้นำหญิงที่ดี ฉันไม่ต้องการให้ใครๆ เรียกกันง่ายๆ เพียงแค่ว่า หญิงผู้ให้กำเนิด”

 

จาซินดา อาร์เดิร์น ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 40 ของนิวซีแลนด์ในปี 2017 ตอนที่เธอได้รับการแต่งตั้งมีอายุเพียง 37 ปี และเนื่องจากผลงานที่ดีจึงได้รับเลือกกลับมาเป็นผู้นำนิวซีแลนด์อีกครั้งในปี 2020 ถึง 2023 อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นสุดวาระ จาซินดาประกาศลาออกจากการเป็นผู้นำรัฐบาลนิวซีแลนด์เมื่อ 19 มกราคม 2023

 

จาซินดา อาร์เดิร์น เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1980 ในเมืองแฮมิลตัน และเติบโตในพื้นที่ชนบทของ Waikato ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในนิวซีแลนด์นับตั้งแต่ปี 1856 การเดินทางของเธอในโลกแห่งการเมืองนั้นค่อนข้างยาวนาน เธอเข้าร่วมพรรคแรงงานนิวซีแลนด์ตั้งแต่อายุ 18 ปีในปี 1999 ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยด้านนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรี เฮเลน คลาร์ก หลังจากได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกรัฐสภา (ส.ส.) ในปี 2008 เธอดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในพรรคแรงงาน รวมทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย

 

อาร์เดิร์นกลายเป็นหัวหน้ารัฐบาลหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลกเมื่อเธอได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2017 ในวัย 37 ปี และอีกหนึ่งปีต่อมา เธอกลายเป็นผู้นำโลกที่มาจากการเลือกตั้งคนที่สองที่เคยให้กำเนิดบุตรขณะดำรงตำแหน่ง ต่อจากเบนาซีร์ บุตโต จากปากีสถานในปี 1990

อาร์เดิร์นเป็นเจ้าของวาทะ

 

“ฉันต่อต้านความคิดที่ว่า การเมืองจะต้องเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยอัตตา ที่ที่คุณมุ่งสนใจแต่การให้คะแนนกัน แน่นอน เราต้องการประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แต่คุณสามารถเข้มแข็งได้ และก็ใจดีได้ด้วย”

 

ซานนา มาริน (Sanna Marin)  เป็นนายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์ตอนอายุ 34 ปี

 

ซานนา มาริน (Sanna Marin) – ฟินแลนด์

ซานนา มาริน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์ตั้งแต่ 10 ธันวาคม  2019 – 20 มิถุนายน 2023 และได้เป็นนายกรัฐมนตรีตอนอายุ 34 ปี สร้างสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในโลกในเวลานั้น เธอเกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1985 (พ.ศ.2528) ในเมืองเฮลซิงกิ เป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งฟินแลนด์ อาชีพทางการเมืองของซานนาเริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่น เมื่อเธอเข้าร่วมองค์กรเยาวชนสังคมประชาธิปไตย

 

ได้รับเลือกเข้าสู่สภาเมืองตัมเปเรในปี 2012 และได้เป็นประธานสภาในปี 2013 ในปี 2014 ซานนาได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภาฟินแลนด์ และกลายเป็นสมาชิกรัฐสภาที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น เธอยังเป็นกระบอกเสียงที่สนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ และความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า มารีน เติบโตขึ้นมาใน "ครอบครัวสีรุ้ง" โดยอาศัยอยู่กับแม่ที่มีคู่รักเพศเดียวกันที่ห้องเช่าแห่งหนึ่ง และเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Menaiset เมื่อปี 2015 ว่า ตอนเป็นเด็กเธอรู้สึก "ไม่มีตัวตน" เพราะไม่สามารถพูดเกี่ยวกับครอบครัวของตัวเองได้อย่างเปิดเผย

 

บิลด์ แทบลอยด์เยอรมนีตั้งฉายาให้เธอว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีที่เท่หรือทันสมัยที่สุดในโลก" จากไลฟ์สไตล์ทางสังคม ที่เธอมักไปร่วมงานเทศกาลดนตรีต่างๆ และนิยมปาร์ตี้ จนได้รับฉายา "ผู้นำสายปาร์ตี้"

 

เธอเป็นแกนนำรัฐบาลผสมสายกลาง-ซ้ายของฟินแลนด์ที่ประกอบไปด้วย 5 พรรคการเมืองซึ่งล้วนมีหัวหน้าพรรคเป็นผู้หญิงทั้งหมด โดยมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่อายุเกิน 35 ปี

 

ภายใต้การนำของเธอ ฟินแลนด์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ สู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคม และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน ซานนาเป็นเจ้าของวาทะ

 

“ความเข้มแข็งของสังคมไม่ได้วัดจากความมั่งคั่งของสมาชิกที่ร่ำรวยที่สุด แต่วัดจากความสามารถในการรับมือของพลเมืองกลุ่มเปราะบางที่สุด คำถามที่เราต้องถามคือ ทุกคนมีโอกาสใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีหรือไม่”

 

คาจา คัลลาส ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย ระหว่าง 26 มกราคม 2021 – 23 กรกฎาคม 2024

 

คาจา คัลลาส (Kaja Kallas) – เอสโตเนีย

คาจา คัลลาส ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย ประเทศริมทะเลบอลติกในยุโรปเหนือระหว่าง 26 มกราคม 2021 – 23 กรกฎาคม 2024 คาจาเกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1977 เมืองทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีย เส้นทางการเมืองของคัลลาสเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอเข้าร่วมพรรคปฏิรูป (Reform Party) ในช่วงต้นทศวรรษ 2000

 

ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2014 เธอเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรป (MEP) ในปี 2015 เธอได้รับที่นั่งในรัฐสภา Riigikogu ซึ่งเป็นรัฐสภาเอสโตเนียและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเอสโตเนียในเดือนมกราคม 2021ในวัย 43 ปี กลายเป็นหนึ่งในผู้นำสตรีที่อายุน้อยที่สุดในโลก

 

คัลลาสเป็นแกนนำที่สนับสนุนยูเครนจากการรุกรานของรัสเซียเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เธอเป็นหนึ่งในเสียงที่เข้มแข็งที่สุดในสหภาพยุโรปและ NATO ที่สนับสนุนการมอบอาวุธให้ยูเครนมากขึ้น

 

และยังสนับสนุนการแต่งงานในเพศเดียวกัน เจ้าของวาทะ

 

“ทุกคนควรมีสิทธิแต่งงานกับคนที่พวกเขารักและต้องการใช้ชีวิตอยู่ด้วย”

 

อิเน เอริคเซ่น โซไรเด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกของนอร์เวย์

 

อิเน เอริคเซ่น โซไรเด (Ine Eriksen Søreide) – นอร์เวย์

อิเน เอริคเซ่น โซไรเด นักการเมืองสาวผู้มีชื่อเสียงชาวนอร์เวย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี 2017 ถึงปี 2021 เป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ ก่อนหน้านี้เธอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ปี 2013 (ขณะอายุ 37 ปี) ถึง 2017 เป็นสมาชิกของพรรคอนุรักษ์นิยม

 

โซไรเดได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศนอร์เวย์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2017 โดยรับช่วงต่อจากบอร์จ เบรนเด ปัจจุบันอายุ 48 ปี

 

ในการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการผนวกไครเมียโดยสหพันธรัฐรัสเซียในปี 2014 โซไรเดได้เรียกร้องให้มีความพยายามด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มากขึ้นจากทุกรัฐของ NATO ในยุโรป

 

ฤดูร้อนปี 2013 ขณะที่แอนน์-เกรต สตรอม-เอริชเซินยังคงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สภาสตอร์ติงของนอร์เวย์ ได้ลงมติให้เริ่มการเกณฑ์ทหารโดยไม่แบ่งแยกเพศในกองทัพนอร์เวย์ และได้รับการบังคับใช้ในปี 2015 ภายใต้การนำของโซไรเด

 

หลังจากการผ่านกฎหมายต่อต้าน LGBT ในฮังการีเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 โซไรเดวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายนี้โดยให้สัมภาษณ์ว่า

 

"กฎหมายดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่เลวร้ายที่สุดประการหนึ่งในยุคนี้ และเป็นตัวอย่างของประเทศที่ดำเนินต่อไปบนเส้นทางที่ห่างไกลจาก หลักนิติธรรมและประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่เสนอกฎหมายเชื่อมโยงการรักร่วมเพศกับการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก นี่มันบ้าไปแล้ว”

 

เธอยังแสดงความกังวลว่า หลายประเทศกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ผิดเมื่อพูดถึงสิทธิของ LGBT โดยบอกว่า

 

"ความรักในเพศเดียวกันมีโทษใน 69 ประเทศ และยังสร้างบรรยากาศของความเกลียดชังและอคติต่อเกย์และเควียร์"

 

มายา โกจโควิช ประธานรัฐสภาแห่งชาติเซอร์เบีย

 

มายา โกจโควิช (Maja Gojković) – เซอร์เบีย

มายา โกจโควิช ปัจจุบันเป็นประธานรัฐสภาแห่งชาติเซอร์เบีย เธอเกิดที่เมืองโนวีซาด ประเทศเซอร์เบีย เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2506  เป็นสมาชิกของพรรคก้าวหน้าเซอร์เบีย (Serbian Progressive Party) อาชีพทางการเมืองของเธอก็เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียในช่วงทศวรรษ 1990 ต่อมาดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติเซอร์เบียถึงสองครั้ง ตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2012 และตั้งแต่ปี 2014 ถึงปัจจุบัน

 

การอุทิศของตนของโกจโควิชให้กับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หลักนิติธรรม และการบูรณาการยุโรป ถือเป็นจุดเด่นของความเป็นผู้นำทางการเมืองของเธอ

 

โกจโควิชทำงานเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ รวมถึงระบบตุลาการ สิทธิมนุษยชน และรัฐบาลประชาธิปไตย และเป็นผู้สนับสนุนให้เซอร์เบียเข้าสู่สหภาพยุโรป (EU)


 

คาตริน ยาคอปสโตว์ทีร์ นายกรัฐมนตรีหญิงของไอซ์แลนด์ระหว่าง30 พฤศจิกายน 2017 – 9 เมษายน 2024

 

คาตริน ยาคอปสโตว์ทีร์ (Katrin Jakobsdottir) - ไอซ์แลนด์

นายกรัฐมนตรีหญิงของไอซ์แลนด์ระหว่าง 30 พฤศจิกายน 2017 – 9 เมษายน 2024 คาตรินเกิดที่เรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1976 อาชีพทางการเมืองของคาตรินเริ่มต้นในช่วงทศวรรษปี 2000 เมื่อเธอได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภา Althing ของประเทศไอซ์แลนด์ในปี 2007 และยังเป็นสมาชิกอยู่จนถึงปัจจุบัน สภา Althing หรือ อัลทิงกิ (Althingi) ในภาษาไอซ์แลนด์ เป็นรัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก  ก่อตั้งขึ้นในปี 930 ที่ธิงเวลลีย์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเมืองหลวงของประเทศ

 

คาตรินได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของไอซ์แลนด์ในเดือนพฤศจิกายน 2017 ขณะอายุ 41 ปี เป็นหนึ่งในผู้นำหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลกในขณะนั้น และเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไอซ์แลนด์

 

สื่อมักให้คำนิยม หรือ คำจำกัดความเกี่ยวกับคาตรินว่า เธอเป็นนักสตรีนิยม เธอต่อต้านสงคราม และเธอต้องการทำให้ประเทศเล็กๆ นี้เป็นผู้นำในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (และเธอยังเป็นคุณแม่ลูกสามด้วย)

 

เธอกำลังผลักดันให้ประเทศคาร์บอนเป็นกลางภายในปี 2040 และพยายามในการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิ LGBT ที่ดีขึ้น เธอมาจากครอบครัวกวี เคยศึกษาวรรณกรรมอาชญากรรม (และเคยแสดงมิวสิกวิดีโอครั้งหนึ่ง)

เจ้าของวาทะ

“นักการเมืองหญิงจำนวนมากในไอซ์แลนด์คงไม่มีทางมาถึงจุดที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะการดูแลเด็กและการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ฉันเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนั้น”

 

“มันแปลกที่ฉันเป็นผู้หญิงคนที่สอง (ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี) ฉันน่าจะเป็นคนที่ 15 หรือมากกว่านั้น ดังนั้น เพื่อแก้ไขความอยุติธรรมนี้ จึงควรมีนายกรัฐมนตรีหญิงอีก 15 คนเรียงแถวตามฉันมา”

 

8 นักการเมืองหญิง ผู้นำเสียงของการเปลี่ยนแปลง

 

เคมี บาเดนอช (Kemi Badenoch) – สหราชอาณาจักร

เคมี บาเดนอช เป็นนักการเมืองชาวอังกฤษ-ไนจีเรีย เกิดที่วิมเบิลดัน ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 1980 เคมีเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมตั้งแต่ปี 2017

 

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเงา (ของทางฝ่ายค้าน) กระทรวงการเคหะ ชุมชน และการปกครองท้องถิ่นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024 และรัฐมนตรีเงากระทรวงธุรกิจและการค้าตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2024 นอกจากนี้ เธอยังเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการค้าและรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและความเท่าเทียม (Minister for Women and Equalitiesตั้งแต่ปี 2022 ถึงปี 2024 อีกด้วย เรียกว่าดีกรีไม่ธรรมดาเลยง

(คณะรัฐมนตรีเงาของฝ่ายค้านแห่งสหราชอาณาจักร กรณีที่หากพรรคฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็มีแนวโน้มที่บุคคลที่ได้รับมอบหมายจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง)

 

เธอมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพเด็ก การศึกษาปฐมวัย และการศึกษาพิเศษสำหรับผู้พิการในตำแหน่งนี้ด้วย เธอยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการของบริษัทด้านการตลาดดิจิทัลและวาณิชธนกิจตามลำดับ มีส่วนร่วมในการบริการชุมชนและการสนับสนุนเพื่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการจ้างงานของเยาวชนและความเป็นไปได้ทางการศึกษา

 

ชัมมา บินต์ ซูฮาอิล ฟาริส อัล มาซรุย รัฐมนตรีว่าการกิจการเยาวชน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

ชัมมา บินต์ ซูฮาอิล ฟาริส อัล มาซรุย (H.E.Shamma bint Suhail Faris Al Mazrui) - UAE

ชัมมา บินต์ ซูฮาอิล ฟาริส อัล มาซรุย รัฐมนตรีว่าการกิจการเยาวชน สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและเยาวชนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกิดที่เมืองอาบูดาบีในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1993 ปัจจุบันอายุ 31 ปี มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมเยาวชนให้มีส่วนร่วมในแง่มุมต่างๆ ของสังคมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เธอเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องการรวมกลุ่มทางสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชน และยังทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่เยาวชนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผชิญอยู่

 

เธอมีส่วนต่อความก้าวหน้าในความพยายามของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เธอเคยดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นประธานคณะกรรมการความเท่าเทียมทางเพศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย