posttoday

อุโมงค์รถไฟที่ถล่ม! สำคัญอย่างไรต่อแผนคมนาคมของประเทศ?

26 สิงหาคม 2567

กางแผนโครงการรถไฟความเร็วสูง จากเหตุการณ์อุโมงค์รถไฟถล่มที่จังหวัดนครราชสีมา สำคัญอย่างไรต่อแผนคมนาคมของประเทศในอนาคต

โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งทำให้การโดยสารสามารถทำความเร็วได้มากกว่ารถไฟทางคู่ถึงหนึ่งเท่าตัว! โดยความเร็วถึงหนึ่งเท่าตัวนี้ จะเปลี่ยนภาพรวมของการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเดินทางท่องเที่ยว และธุรกิจการค้า นอกจากนี้ยังสามารถคำนวนเวลาในการเดินทางได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงมีทั้งหมด 4 เส้นทาง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย และรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมาก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งใน 4 เส้นทางดังกล่าว นอกจากจะเชื่อมโยงการเดินทางในประเทศแล้ว ยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมโยงกับประเทศอื่นในอาเซียน โดยมีระยะทางรวม 2,700 กิโลเมตร แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน 1,207 กิโลเมตร ระยะกลาง 702 กิโลเมตร และระยะยาว 791 กิโลเมตร  ได้แก่

ระยะเร่งด่วน

  • กรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา
  • ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา
  • นครราชสีมา - หนองคาย
  • กรุงเทพมหานคร - พิษณุโลก

ระยะกลาง

  • กรุงเทพมหานคร - หัวหิน
  • พิษณุโลก - เชียงใหม่
  • ระยอง - ตราด

ระยะยาว

  • หัวหิน - ปาดังเบซาร์

สำหรับเส้นทางกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมานั้น อยู่ใน ‘ระยะเร่งด่วน’ ซึ่งมีระยะทางรวม 250 กิโลเมตร และมีกำหนดการเปิดให้บริการในปี 2569 โดยเรียกว่าเป็น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่หนึ่ง ด้วยงบประมาณลงทุนของไทยกว่า 179,412.21 ล้านบาทโดยประกอบด้วยทางยกระดับ 188 กิโลเมตร ทางระดับพื้น 54 กิโลเมตร และอุโมงค์ 8 กิโลเมตร

การก่อสร้างมีการลงนามรับรองความร่วมมือระหว่างรถไฟไทย-จีน ที่กรุงปักกิ่งในวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะสร้างทางรถไฟเส้นนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าผลการดำเนินการโครงการรวมทั้งสิ้น  34.97% (ข้อมูล ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567)

 

อุโมงค์รถไฟที่ถล่ม! สำคัญอย่างไรต่อแผนคมนาคมของประเทศ?

 

ฉะนั้น การเกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมค์รถไฟคลองไผ่ ช่วงคลองขนานจิต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา  ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา เมื่อเวลา 23.40 น. ของคืนวันที่ 24 สิงหาคม 2567 จึงเป็นเหตุให้พบคนงานชาวจีนอยู่ในนั้น 2 ใน 3 ราย ได้แก่

1. นายหูเสียงหมิ่น เพศชาย สัญชาติจีน (ผู้ควบคุมงาน)

2. นายตงชิ่นหลิน เพศชาย สัญชาติจีน (ขับแม็คโคร)

3. เพศชาย ไม่ทราบชื่อ (ผู้ขับรถบรรทุก) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีงานก่อสร้างอุโมงค์ทั้งหมด 4 แห่ง ความยาวรวม 12.23 กิโลเมตร ได้แก่ 1.อุโมงค์มวกเหล็ก  2.อุโมงค์ผาเสเด็จ 3.อุโมงค์หินลับ และ 4.อุโมงค์คลองขนานจิตร ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่เกิดอุบัติเหตุและเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในโครงการด้วยระยะทางกว่า 4.25 กิโลเมตร

 

ความสำคัญของเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา

สำหรับความสำคัญของเส้นทางดังกล่าว เมื่อสร้างเส้นทางในเฟสแรกแล้วเสร็จในปี 2569 จะมีการก่อสร้างเส้นทางระยะเร่งด่วนในเฟสที่ 2 ต่อจากนครราชสีมาจนถึงหนองคาย ระยะทางอีก 357 กิโลเมตร ซึ่งจะมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2572-2573

หากดูจากเส้นทางจะเห็นว่าสามารถเชื่อมโยงการคมนาคมที่เรียกว่า One Belt One Road - OBOR ของจีน ที่ต้องการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากจีนไปยังมาเลเซีย และสามารถเชื่อมโยงไปจนถึงโซนยุโรปเป็นวงกลม

 

อุโมงค์รถไฟที่ถล่ม! สำคัญอย่างไรต่อแผนคมนาคมของประเทศ?

 

โดยเส้นทางนั้นลากจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ก่อนเข้าลาว เชื่อมต่อไปจีนผ่านคุนหมิง เข้าสู่เขตคาซักสถานที่เมืองอัลมาตี ผ่านอิหร่านที่กรุงเตหะราน ไปยังตุรกี และเข้ารัสเซียผ่านมอสโก จากนั้นเชื่อมไปยังทวีปยุโรป ผ่านประเทศเยอรมันนีที่เมืองดุยส์เบิร์ก เนเธอร์แลนด์ที่เมืองร็อตเตอร์ดัม เข้าสู่เวนิซ อิตาลี เชื่อมโยงเส้นทางมายังเอเธนส์ เลาะคลองมายังทวีปแอฟริกาที่เคนยา ลงเรือมาสู่อินเดียที่กัลกัตตา กลับมาวนเป็นวงกลมจรดเมืองกัวลาลัมเปอร์ที่ประเทศมาเลเซียอีกครั้งหนึ่ง

 

อุโมงค์รถไฟที่ถล่ม! สำคัญอย่างไรต่อแผนคมนาคมของประเทศ?

 

เมื่อสร้างเสร็จในเฟสที่หนึ่ง คาดว่าจะมีการนำรถไฟความเร็วสูงที่ชื่อ ‘ฟูซิ่ง ห้าว’ (Fuxing Hao) มาใช้ โดยจะเป็นรถไฟทางคู่ความเร็วสูงสายแรกของคนไทย โดยจะเปิดให้บริการจำนวน 6 ขบวน ออกเดินทางทุก 90 นาที และจะให้บริการระหว่าง 6:00 น. - 24:00 น. ซึ่งจะใช้เวลาการเดินทางจากบางซื่อ-นครราชสีมาภายใน 1 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น!  โดยคาดว่าจะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 105 บาท และสูงสุดที่ 535 บาท ( ข้อมูลจากวารสารรถไฟ 2565 )